Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

THE CEO STORY

ประวัติ Tony Hsieh เจ้าของ Zappos เว็บไซต์ขายรองเท้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จากเด็กผู้ชายธรรมดา ๆ สายเลือดเอเชียคนหนึ่ง ที่ฝันอยากจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง และเริ่มต้นสู่เส้นทางนายตัวเองตั้งแต่อายุได้ 9 ขวบ แถมกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุได้ 25 ปี มีเงินใช้เกือบพันล้านบาท แต่ก็ไม่วายมาลุยธุรกิจขายรองเท้าออนไลน์จนได้เรื่อง เกือบพาชีวิตเจ๊งระเนระนาด ถึงขนาดที่ต้องขายบ้าน ขายรถ เพื่อประคองธุรกิจเอาไว้ แต่ในท้ายที่สุด อุปสรรคที่ถาถมเข้ามาอย่างหนักหน่วง ก็ได้กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เขาคือนักธุรกิจตัวจริงที่มันฝังอยู่ในสายเลือด จนกระทั่ง Amazon.com ที่มีมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Jeff Bezos คนปัจจุบัน ขอซื้อกิจการไปในมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 37,000 ล้านบาท

Tony Hsieh เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1973 ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รัฐอิลลินอยส์ แต่ไปเติบโตที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยทั้งพ่อและแม่ (Richard and Judy Hsieh) ของเขาเป็นชาวไต้หวันสายเลือดเอเชียแท้ ๆ ร้อยเปอร์เซนต์ และมีน้องชายอีกสองคนคือ Andy Hsieh และ David Hsieh

ธุรกิจแรกในชีวิตของโทนี่เริ่มต้นเมื่ออายุได้ประมาณ 9 ขวบ เขาเริ่มเปิดฟาร์มไส้เดือน โดยได้ไส้เดือนมาทั้งหมด 100 ตัว แล้วนำไปเพาะเลี้ยงที่สวนหลังบ้าน ซึ่งขอเงินลงทุนเงินจากคุณพ่อคุณแม่ของเขาทั้งสิ้น 33.45 ดอลล่าร์ และนอกจากซื้อไส้เดือนแล้ว เขาก็นำเงินทุนไปซื้อกล่องสำหรับเพาะพันธุ์ไส้เดือน และเลี้ยงพวกมันด้วยไข่แดงสดอย่างดี เพราะอยากให้มันกินแต่ของดี ๆ จะได้ตัวอ้วน ๆ ผ่านไป 1 เดือน เขาก็ลองมาตรวจสอบความก้าวหน้าของการเจริญเติบโตของไส้เดือน แต่ก็พบว่า พวกมันได้หนีหายไปตามรูระบายความชื้นใต้กล่องที่เขาเจาะเอาไว้จนหมด และกิจการแรกของเขาก็เจ๊งไม่เป็นท่าภายใน 1 เดือน

ต่อมาในช่วงมัธยมต้นโทนี่ยังได้ทดลองหาเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การเปิดโรงรถเพื่อขายของเก่า, ขายน้ำมะนาว, ส่งหนังสือพิมพ์, ทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์, บัตรอวยพร, ทำเข็มกลัดขายทางไปรษณีย์ ซึ่งธุรกิจนี้ทำรายได้และกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเขาใช้การโฆษณาฟรีทางนิตยสารเด็ก โดยเขาจะรับออเดอร์ผ่านทางจดหมายแล้วส่งเข็มกลัดกลับไปทางไปรษณีย์ โดยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 200 ดอลล่าร์ฯ ซึ่งนับว่าเป็นธุรกิจแรกที่เขาได้ทำผ่านการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ และลำพองว่าตัวเองนั้นเป็นเซียนด้านขายของผ่านไปรษณีย์ และเขาได้ใช้โมเดลเดียวกันนี้ในการขายอุปกรณ์เล่นมายากล ซึ่งเขามั่นใจว่า มันจะต้องได้กำไรเป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน เขาจึงตัดสินใจจ่ายเงินลงโฆษณาในนิตยสารจำนวน 800 ดอลล่าร์ฯ แต่ก็พบว่า เขาขายสินค้าได้เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ทำให้เขาได้บทเรียนว่า การมั่นใจในตัวเองเกินเหตุ สามารถนำพาธุรกิจไปสู่ความล้มเหลวได้

ในช่วงมหาวิทยาลัย เขาได้เข้าศึกษาที่ Harvard University และมีไอเดียทำเงินในระหว่างเรียนที่นี่ โดยได้ร่วมลงทุนกับเพื่อนของเขาในการซื้อเตาอบพิซซ่าในราคา 2,000 ดอลล่าร์ฯ ซึ่งพบว่ามีต้นทุนต่อถาดอยู่ที่ 2 ดอลล่าร์ฯ แต่สามารถนำมาแบ่งขายในราคาชิ้นละ 2 ดอลล่าร์ฯ ถือว่าเป็นธุรกิจกำไรงามเลยทีเดียว โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีอยู่ในหอพักนักศึกษาจำนวนกว่า 300 คน เพราะในแต่ละห้องพักนั้น กินกันไม่กี่ชิ้น จึงไม่ค่อยมีใครสั่งเป็นถาดมากิน ซึ่งทำให้เขาสามารถทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ด้วยส่วนต่างของราคาขายปลีก และในระหว่างนี้นี่เองที่เขาได้พบกับ Alfred Lin ลูกค้าขาประจำ ที่ในภายหลังได้กลายมาเป็น CFO และ COO ของ Zappos อีกด้วย

ในปี 1995 เขาสำเร็จการศึกษาจาก Harvard University ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เขาก็ได้เข้าเริ่มต้นทำงานที่ Oracle เป็นบริษัทซอร์ฟแวร์ระดับโลกที่มี Larry Ellison เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งติดอันดับ Top 10 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกมาอย่างยาวนานหลายปี จนเมื่อ Tony ทำงานมาถึงจุด ๆ หนึ่งที่เขารู้สึกว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างสูงในตำแหน่ง Software Engineer ของที่นี่ โดยได้ค่าตอบแทนประมาณ 40,000 เหรียญฯ ต่อปี (ซึ่งก็ถือว่าเป็นรายได้สูงทีเดียวสำหรับเด็กที่พึ่งเรียนจบมาหมาด ๆ ในยุคนั้น) แต่เขาก็เริ่มเบื่อกับความจำเจในหน้าที่การงาน

ในช่วงนี้นี่เองที่ โทนี่ เริ่มหาอย่างอื่นทำเพื่อแก้เซ็ง โดยในช่วงนั้น ธุรกิจ World Wide Web กำลังมาแรง เขาจึงแอบเปิดธุรกิจออกแบบเว็บไซต์ กับเพื่อนซี้สมัยเรียนและเพื่อนร่วมงานของเขาอย่าง Sanjay Madan โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการ โดยได้ไล่โทรหาหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพื่อเสนอตัวขอออกแบบเว็บไซต์ให้ฟรี โดยหวังว่าจะเอาผลงานเหล่านั้น มาเป็นแฟ้มผลงานสะสมเอาไว้ ในที่สุด เขาก็ได้รับสัญญาการว่าจ้างจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นเงิน 2,000 ดอลล่าร์ฯ และนั่นก็ทำให้เขา ตัดสินใจที่จะลาออกจากงานประจำที่ Oracle ที่พึ่งเข้าทำงานที่นี่ได้เพียง 5 เดือน เพื่อไปลุยธุรกิจส่วนตัวแบบ Full-Time

แต่พอทำมาได้สักพัก เขาก็เริ่มรู้สึกว่า การทำธุรกิจแบบนี้เป็นงานที่จะต้อง Active และวิ่งหาลูกค้าอยู่ตลอดเวลา แต่เขามองว่า หากต้องการอยู่ในธุรกิจอย่างยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องมี Platform หรือธุรกิจที่มีระบบและมีพื้นที่เป็นของตนเอง แล้วหาคนมาลงในระบบแล้วขึ้นเป็นผู้บริหารแทน

สุดท้าย Tony และ Sanjay ก็ได้ไปปิ๊งไอเดียธุรกิจโฆษณาเว็บไซต์และในปี 1996 ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ LinkExchange ในอพาร์ตเม้นของตัวเอง โดยเริ่มทุกอย่างจากศูนย์  ซึ่งเจ้า LinkExchange ที่ว่านี้ เกิดขึ้นมาเนื่องจาก ในสมัยยุคแรก ๆ ของ World Wide Web นั้น มีเว็บไซต์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ยังไม่มีระบบการจัดการหรือระบบการค้นหาเว็บไซต์ที่เป็นแบบ Google ในปัจจุบัน (ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้นี่เองที่ Larry Page และ Sergey Brin ก็เริ่มสร้าง Google ขึ้นมา)

โดย LinkExchange จะเปิดให้เว็บไซต์ต่าง ๆ มาสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ฟรี โดยมีข้อแลกเปลี่ยนกันก็คือ ทางสมาชิกจะต้องนำป้ายแบนเนอร์โฆษณาของ LinkExchange ไปแปะบนเว็บไซต์ของตนเอง โดยจำนวนยอดวิวนั้น จะถูกสะสมเป็นแต้มเก็บเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนเห็นป้ายแบนเนอร์จำนวน 100 วิว ก็จะแบ่งให้สมาชิกอย่างละครึ่ง และสมาชิกสามารถนำแต้มนี้ ไปแลกเปลี่ยนเป็นแบนเนอร์ของสมาชิกเองได้ แล้วทาง LinkExchange จะนำแบนเนอร์ไปแสดงผลในเว็บสมาชิกในเครือเป็นจำนวน 50 วิว เป็นต้น ทำให้เว็บไซต์สมาชิกในเครือนั้น ต่างส่ง Traffic คนดูวนไปมาอยู่ในเครือข่าย ทำให้ทั้ง LinkExchange และเว็บไซต์สมาชิก เติบโตไปพร้อม ๆ กัน ทำให้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่คนที่ต้องการโปรโมทเว็บไซต์ ณ ขณะนั้น ส่วนคะแนนอีกครึ่งนึงที่ LinkExchange เก็บเอาไว้ ก็จะมานำเสนอขายให้กับคนที่ต้องการลงโฆษณาในเครือข่ายของ LinkExchange นั่นเอง

ซึ่งหลังจากเปิดตัวไปได้เพียง 90 วัน ก็มีเว็บไซต์เข้ามาสมัครมากกว่า 20,000 เว็บ และมียอดวิวรวมทั้งเครือข่ายกว่า 10 ล้านวิว และผ่านไปเพียง 5 เดือน ก็มีนักลงทุนอิสระติดต่อขอเสนอซื้อกิจการด้วยเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญฯ แต่โทนี่ขอขึ้นราคาเป็น 2 ล้านเหรียญฯ แทน จึงทำให้ข้อตกลงนั้นยุติไป และประมาณหนึ่งปีต่อมา บริษัท Serch Engine ยักษ์ใหญ่อย่าง Yahoo ได้ติดต่อขอซื้อบริษัท ด้วยเงิน 20 ล้านดอลลาร์ฯ แต่เขาปฏิเสธเพราะคิดว่า LinkExchange สามารถทำเงินได้มากกว่านั้น หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ในปี 1998 เขาก็ได้ขายบริษัท LinkExchange ให้กับ Microsoft ด้วยมูลค่า 265 ล้านเหรียญฯ โดยมีเงื่อนไขว่า ทีมบริหารของโทนี่นั้น จะต้องบริหารในบริษัทต่อไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ โทนี่ก็จะได้ส่วนแบ่งทั้งหมดกว่า 40 ล้านเหรียญฯ แต่ถ้าไม่ เขาก็จะต้องโดยหักเงินค่าฉีกสัญญากว่า 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

แต่หลังจากกิจการได้เติบโตไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีแต่คนที่เข้ามาทำงานด้วย Passion เดียวกัน จุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่เมื่อคนใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้วัฒนธรรมองค์กรที่เคยแน่นแฟ้น กลับจางลงไป กลายเป็นการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน เพื่อให้ตนเองนั้นได้รับผลประโยชน์มากที่สุดแทน โทนี่จึงตัดสินใจฉีกสัญญาที่จะต้องอยู่บริหารที่นี่ต่ออีก 12 เดือน แล้วเดินจากไปจาก LinkExchange

หลังจากออกมา Tony Hsieh ได้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า Venture Frogs โดยตั้งใจเอาไว้ว่า จะเป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจ Startup ใหม่ ๆ โดยเขาจะทำหน้าที่เป็นแมวมอง, พี่เลี้ยงและนักลงทุนเพื่อปลุกปั้นธุรกิจดาวรุ่ง

ในปี 1999 Zappos ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งก่อตั้งโดย Nick Swinmurn ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการขายรองเท้าออนไลน์ โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาสเปน Zapatos ที่แปลว่า รองเท้า) จากจุดเริ่มต้นนั้น Nick ต้องการหาซื้อรองเท้าที่อยากได้ในห้างแถวบ้าน แต่กลับไม่มีขาย จนได้ไอเดียขึ้นมาว่า “ทำไมไม่สั่งซื้อทางโทรศัพท์เอาล่ะ” เขาจึงได้ไอเดียเรื่องการขายรองเท้าออนไลน์เกิดขึ้น

โดยนิคได้ฝากข้อความเสียงเอาไว้ตอนที่โทนี่ยังไม่ว่างรับสาย ซึ่งตอนแรกเอง Tony ก็ไม่เชื่อว่าจะมีใครที่ไหนมาซื้อรองเท้าออนไลน์ เพราะโดยปกติแล้วก่อนที่จะซื้อรองเท้า ก็ต้องลองสวมใส่ด้วยตนเองดูซะก่อน แต่ก็ต้องหยุดฟังในสิ่งที่ Nick ทำการบ้านมาว่า สถิติการซื้อรองเท้าในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1997 ถึง 1998 นั้นอยู่ที่ 40,000 ล้านเหรียญฯ โดยมีการสั่งออเดอร์ผ่านทางแคตตาล็อกแล้วส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์นั้นมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% จากตลาดทั้งหมด

ซึ่งแน่นอนว่า มันมีตลาดของมันอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการมโนขึ้นมาเอง และ Nick ก็ได้พิสูจน์ให้ Tony เห็นด้วยว่า มีการซื้อขายรองเท้าผ่านทางเว็บไซต์และส่งของทางไปรษณีย์ได้จริง โดย Nick ได้รับคำสั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ จากนั้นเมื่อเขาได้รับคำสั่งซื้อมาแล้ว เขาก็จะวิ่งไปซื้อรองเท้าที่ร้านใกล้ ๆ บ้านแล้วส่งของให้ลูกค้า แม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่มีกำไรก็ตามที เพราะเขาเพียงต้องการพิสูจน์ว่า ทฤษฎีของเขานั้น สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ แถมในช่วงทดลองนี้ ก็ไม่ต้องสต็อคสินค้าเองอีกด้วย ทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการซื้อสินค้ามาเก็บไว้ที่โกดัง โดยเทคนิคที่ว่านี้ก็คือการใช้ dropshipping ด้วยการสั่งซื้อจากหน้าเว็บไซต์แล้วค่อยไปสั่งซื้อกับบริษัทรองเท้าอีกทอดหนึ่ง ว่าแล้ว Tony ก็ซื้อไอเดียของ Nick แล้วลงทุนในบริษัท Zappos ในปี 1999 นี้นี่เอง

แต่ธุรกิจก็ไม่ได้เติบโตพรวดพราดอย่างที่คิด แถมในปี 2000 ยังเจอกับวิกฤตฟองสบู่ดอทคอมแตก อันเนื่องมาจากธุรกิจ Ecommerce นั้นมีจำนวนเกิดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด ธนาคารก็ปล่อยกู้เกินมูลค่าจริงของบริษัทต่าง ๆ และ Zapposs เองก็โดนวิกฤตนี้เข้าเต็ม ๆ การจะหาเงินจากนายทุนก็ไม่มีใครสนใจ ส่วนธนาคารไม่ต้องพูดถึง ไม่ให้กู้ยืมเงินอย่างแน่นอน Tony จึงตัดสินใจขายทรัพย์สินส่วนตัวเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์, คอนโด และกิจการอื่น ๆ ที่เขานำเงินจากการขาย LinkExchange เพื่อนำไปลงทุนบริษัทอื่น ๆ เอาไว้ แล้วนำเงินทั้งหมดมาลงกับ Zappos เพื่อให้อยู่รอด และเขาต้องทำสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดด้วยการเลย์ออฟพนักงาน ส่วนตัวเขาเองลดเงินเดือนตำแหน่ง CEO เหลือเดือนละ 2 เหรียญ!!

ซึ่ง Tony เอง ก็สามารถพาธุรกิจ Zappos ให้รอดตายได้ จนกระทั่งในสิ้นปี 2002 ยอดขายของ Zappos ก็กลับมาอยู่ที่ 30-40 ล้านเหรียญฯ แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว บริษัทก็ยังคงไม่มีกำไรอยู่ดี

จุดพลิกผันทางธุรกิจอีกครั้งของ Zappos เมื่อพวกเขาพบว่าลูกค้ามักสั่งรองเท้ารุ่นยอดนิยมที่เว็บไซต์ Zappos.com ซึ่งบริษัทที่ผลิตรองเท้ารุ่นนี้ไม่ได้สนใจด้านออนไลน์เพราะขายในช่องทางร้านค้าปลีกก็ขายดีอยู่แล้ว Tony จึงเริ่มเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่ไม่ต้องการสต็อคสินค้าไว้ที่ตัวเอง เพราะใช้ระบบ dropship เขาจึงเปลี่ยนแผนใหม่ด้วยการเริ่มสต๊อกสินค้าเอง และ Renovate ระบบการคลัง การจัดส่งและระบบ Customer Services ใหม่ทั้งหมด โดยใช้พาร์ทเนอร์ที่มีความชำนาญด้านเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่นั่นก็ต้องแลกกับการใช้เงินลงทุนสต๊อกสินค้าที่สูงปรี๊ด Tony จึงหาวิธีลดต้นทุนด้วยการตัดสินใจย้ายโกดังตัวเองไปอยู่ที่รัฐเคนทักกี เพื่อลดปัญหาการขนส่ง

แต่ปัญหากระหน่ำเข้ามาอีกระลอกในปี 2004 เนื่องจากการขนย้ายโกดังไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แถมระบบลอจิสติกส์ของบริษัทคู่ค้าก็ทำได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดการส่งสินค้าผิดพลาดเป็นจำนวนมาก, นับสต๊อกสินค้าคงคลังไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ยอดสั่งสินค้าเริ่มลดลง

ช่วงนี้เองเป็นช่วงดิ่งลงเหวของ Zappos เพราะเงินลงทุนก็เริ่มหมด เขาจึงต้องหันหน้าไปหาที่พึ่ง ด้วยการกู้เงินจากธนาคารมาต่อชีวิต สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเช่าโกดังทำระบบเอง จนสถานการณ์การเงินเริ่มดีขึ้น และตัดสินใจยกเลิกระบบ dropship ทั้งหมด แล้วย้ายศูนย์สินค้ามาที่ลาสเวกัส เพราะอยู่ใกล้สนามบินและบริษัท UPS ซึ่งเป็นบริษัท ขนส่งสินค้าและไปรษณีย์เอกชน ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที ทำให้ใช้เวลาในการขนส่งรวดเร็วและถูกกว่าเดิมมาก (เรียกได้ว่า สามารถส่งของได้ภายในข้ามคืนเดียวเท่านั้น) ทำให้รายได้พุ่งขึ้นอย่างมหาศาล โดยในปี 2004 สามารถทำยอดขายได้กว่า 160 ล้านเหรียญฯ

Tony Hsieh ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นอย่างมาก เขาจึงเน้นที่การบริการเป็นเลิศ โดยหากไม่พอใจสินค้าสามารถส่งกลับมาฟรีโดยไม่คิดค่าไปรษณีย์ และสามารถเลือกคู่ที่ชอบจนกว่าจะพอใจ มีครั้งหนึ่งที่ลูกค้าที่ขอคืนรองเท้าเหตุเพราะสามีที่สั่งรองเท้าคู่นั้นเสียชีวิตไปแล้ว แต่แทนที่ Zappos จะรับรองเท้าและคืนเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังร่วมแสดงความเสียใจด้วยการส่งดอกไม้ไปให้กับลูกค้าท่านนี้อีกด้วย

รวมไปถึงการแสดงเบอร์โทรศัพท์ทุก ๆ หน้าของเว็บไซด์ เพื่อสะดวกต่อการเรียกใช้บริการ ซึ่งในส่วนของพนักงาน Tony ก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากอีกเช่นกัน โดยยึดถือว่า หากพนักงานมีความสุขในการทำงาน ก็จะทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมีความสุขตามไปด้วย ด้วยการวางหมากเซททีมตั้งแต่การเลือกคนเข้ามาทำงานในฝั่งลาสเวกัส พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงผู้บริหารได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ยูนิฟอร์มมาทำงาน เรียกได้ว่ามีอิสระในการใช้ชีวิตในการทำงาน และดึงศักยภาพของพนักงานมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

จนธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ราว ๆ ปี 2005 ยอดขายก็กระโดดไปแตะที่ 300 ล้านเหรียญฯ จนผู้บริหารของ Amazon.com ถึงกับต้องบินมาที่ลาสเวกัสเพื่อติดต่อขอซื้อกิจการ Zappos แต่ Tony ก็ได้ปฎิเสธไปเพราะเกรงว่าเมื่อ Zappos ได้ไปอยู่กับคนอื่น แบรนน์ Zappos ก็จะต้องล่มสลายหายไปอย่างแน่นอน

ในปี 2007 Zappos ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถทำยอดขายได้กว่า 800 ล้านเหรียญฯ และนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทมีกำไรตั้งแต่เปิดกิจการมาในรอบ 8 ปี และสามารถทำรายได้ทะลุพันล้านได้ในที่สุด

จนปีใน 2009 Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon.com (ที่ ณ ปัจจุบันเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก) เห็นพลังการเติบโตจากการบริหารของ Tony Hsieh ที่บริหารสไตล์คนเอเชีย เขาจึงเข้ามาพบ Tony อีกครั้ง เพื่อยื่นข้อเสนอให้นั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดโดยมีอำนาจ 100% ใน Zappos โดยดีลนี้มีมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านเหรียญฯ (หรือราว ๆ 37,000 ล้านบาท) โดยจะจ่ายเป็นเงินสดจำนวน 40 ล้านเหรียญฯ ส่วนที่เหลืออยู่ในรูปของหุ้น Amazon โดย Jeff Bezos มองว่า วิธีการนี้จะสร้างความผูกพันระยะยาวร่วมกัน มากกว่าจ่ายเงินสดแล้วขาดจากกัน และโทนี่ก็ยังทำหน้าที่บริหารบริษัทจวบจนทุกวันนี้

และหลังจากข่าวการซื้อกิจการแพร่สะพัดออกไป เหล่าบรรดานักลงทุนและธนาคารทั้งหลาย ที่ก่อนหน้านี้เคยปฏิเสธการให้เงินลงทุนและเงินกู้ยืมนั้น ต่างก็แห่กันมาติดต่อ Zappos เพื่อเสนอเงินทุนให้ และ Tony ก็ได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 200 ล้านเหรียญฯ

ในปี 2010 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า Delivering Happiness : ใช้ความสุขทำกำไร และกลายเป็นหนังสือที่ติดอันดับ 1 บน New York Times และ Wall Street Journal ต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 27 สัปดาห์

โทนี่ได้กล่าวเอาไว้ว่า

Surround yourself with the right people

“At Zappos, we really view culture as our No. 1 priority. We decided that if we get the culture right, most of the stuff, like building a brand around delivering the very best customer service, will just take care of itself.”

หมายถึง จงรายล้อมรอบตัวคุณด้วยคนที่ใช่ สำหรับใน Zappos เราให้ความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรมาเป็นอับดับแรกสุด เพราะหากวัฒนธรรมองค์กรมันได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็จะตามมาเอง อย่างเช่นเรื่องของการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งด้วยการส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของเรา สิ่งเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นเอง เมื่อองค์กรคุณมีวัฒนธรรมที่ดีมาตั้งแต่แรก

Tony Hsieh

Resources: