คนเราเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร | WHY Series
คุณเคยสงสัยไหมว่า คุณเกิดมาทำไมและเกิดมาเพื่ออะไร?
หากคุณกำลังเป็นคนหนึ่ง ที่เริ่มตั้งคำถามชีวิตกับตัวเองในอนาคตว่า ต่อไปฉันจะทำอะไร ฉันจะไปที่ไหน ชีวิตฉันจะไปสิ้นสุดที่จุดใด หรือฉันเพียงแค่เกิดมาเพื่อเข้าเรียน หางานทำให้มีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้ไปวัน ๆ แบบไม่อด ๆ อยาก ๆ หรือถ้าดีกว่านั้น ฉันอยากรวย รวยแล้วฉันจะซื้อทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉันอยากได้บนโลกใบนี้ และหลังจากนั้นฉันก็จะแบ่งปันแก่คนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือและฉันก็พอที่จะช่วยเหลือใครต่อใครได้บ้าง หรืออันที่จริงแค่คิดว่าจะทำยังไงให้มีเงินใช้ให้พอในแต่ละเดือนก็หมดเวลาจะคิดเรื่องอื่นแล้ว ซึ่งจะคิดแบบนั้นก็ไม่ผิด แต่จะดีกว่าไหมหากเรารู้ว่า เราเกิดมาบนโลกนี้ทำไมและเกิดมาเพื่ออะไรกันแน่
โดย Patrick Bet-David ที่ปรึกษานักธุรกิจร้อยล้าน ให้ความหมายของคำว่า WHY โดยมันจะพัฒนาตามวิธีคิดของเรา โดยหลัก ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ขั้นตอนก็คือ
WHY เลเวลที่ 1 – Survival หรือการเอาชีวิตรอดในสังคมมนุษย์ ที่หาเช้ากินค่ำ เรียนจบสูง ๆ หางานดี ๆ ทำ เพื่อที่จะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตให้สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้โดยไม่ติดลบ ไม่ว่าจะเป็น ค่ากิน ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ ค่าเน็ต ค่าเสื้อผ้า ค่าบัตรเครดิต ฯลฯ เป็นต้น
WHY เลเวลที่ 2 – Status หรือการอยู่ในสถานะพอมีพอกินบ้างแล้ว โดยใช้ชีวิตอยู่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานชีวิตที่ควรจะเป็นของคนทั่ว ๆ ไป เช่น มีบ้าน มีรถ มีอาหารการกินที่ดี มีเสื้อผ้าสวมใส่ อยากได้อะไรก็สามารถหาเงินมาเพื่อครอบครองสิ่งที่ต้องการนั้นได้ แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ก็ยังคงต้องทำงานหาเงินกันต่อไป
WHY เลเวลที่ 3 – Freedom หรือการมีชีวิตเป็นอิสระ หากพูดในส่วนของเงินทอง อาจใช้คำว่า Financial Freedom หรือการมีอิสระทางการเงิน โดยคุณนั้นมีรายได้จากทรัพย์สินที่คุณเคยสร้างเอาไว้ และมันสามารถจ่ายผลตอบแทนและจ่ายค่าบิลต่าง ๆ ให้กับคุณได้อย่างเพียงพอ โดยที่คุณไม่ต้องไปตรากตรำทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคุณจะเริ่มอยู่ในสภาวะที่จิตเริ่มเป็นอิสระจากการไขว่คว้าหาเงิน ไล่ล่าเงิน และในที่สุดก็เลิกกังวลกับการหาเงิน เพื่อมาซับพอร์ทตัวเอง ซับพอร์ทครอบครัว ซับพอร์ทคนรอบข้าง และคุณก็สามารถทำในสิ่งที่คุณอยากทำ
หากดูจาก WHY 3 ข้อข้างต้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นการทำเพื่อตัวของเราเองและคนที่เรารักซะมากกว่า
แต่ WHY ตัวที่ 4 คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อความคิดของคุณเกิดวิวัฒนาการที่สามารถก้าวข้ามผ่านพ้นเฉพาะแต่เรื่องของตัวเอง ซึ่งคุณจะเริ่มมองสิ่งที่นอกเหนือจากตัวเอง เช่น การมองผู้คนรอบตัว, การมองสังคมรอบตัว, การมองระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งการมองระดับโลกทั้งใบ ซึ่ง WHY ที่ว่าก็คือ
WHY เลเวลที่ 4 – Purpose คือเจตจำนง ที่คุณต้องการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นที่จะต้องยิ่งใหญ่เหมือนกันหมด คุณอาจจะเริ่มจากระดับครอบครัว เพื่อนฝูง แล้วขยายไปสู่ระดับหมู่บ้าน สังคม ประเทศชาติ หรือแม้กระทั่งโลก ซึ่งไม่ว่าจะในระดับใดก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีงามทั้งสิ้น เพราะคุณเริ่มหลุดพ้นจากคำว่า “เพื่อตัวเอง” เพียงอย่างเดียว
ซึ่ง WHY ในเลเวลที่ 4 นี้ แต่ละคนนั้นคิดไม่เหมือนกัน มีไม่เหมือนกัน ไม่มีกฏตายตัวว่าจะต้องเป็นแบบใด แต่เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ก่อนแยกย้ายไปค้นหา WHY ของแต่ละคน อยากให้เริ่มต้นด้วยประโยคว่า “ฉันสามารถทำอะไรและสิ่งใดได้บ้าง เพื่อให้โลกนี้ดีขึ้น”
แนวทางการค้นหา WHY ของคุณว่า คุณเกิดมาเพื่ออะไร?
หลังจากหัวข้อก่อนหน้านี้ เริ่มต้นด้วยการเปิดคำถามที่ว่า เราเกิดมาทำไมและเกิดมาเพื่ออะไร สำหรับในบทความนี้ก็จะมาเล่าต่อว่า แล้วเราจะหา WHY ของเราเจอได้อย่างไรบ้าง เพราะในเมื่อมันไม่มีคำตอบตายตัวและแน่นอน เพราะมันเป็นเรื่องของปัจเจคบุคคล เพราะมนุษย์แต่ละคนที่เกิดมานั้น ล้วนแล้วแต่มีความเป็นตัวของตัวเองแทบทั้งสิ้น ไม่มีใครเกิดมาเหมือนกันเป๊ะ ๆ แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ขนาดฝาแฝดที่เกิดมาหน้าตาเหมือนกันอย่างกับแกะ ก็ยังมีความคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ทีนี้ลองมาดูคำแนะนำจากคนในวงการนักคิดนักเขียนกันบ้างว่า พวกเขาแนะนำให้เริ่มต้นการค้นหา WHY แบบใดกันบ้าง
คนแรก Simon Sinek นักเขียนหนังสือชื่อดังอย่าง “Start with WHY” โดยไซม่อนเริ่มต้นด้วยการให้ความหมายของคนทั่วไปที่มักชอบพูดว่า ให้หาในสิ่งที่รัก สิ่งที่หลงใหล สิ่งที่ชอบทำ แล้วทุกอย่างมันจะตามมาเอง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินทอง แต่ประเด็นก็คือ คำว่าทำในสิ่งที่รัก สิ่งที่หลงใหล หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Passion” นั้น มันเป็นเพียงคำที่สะท้อนออกมาจากบางสิ่งบางอย่างที่เราชอบที่จะทำมันอยู่ต่างหาก ดังนั้น คุณจึงจำเป็นที่จะต้องหาว่า แล้วแหล่งกำเนิดของคำว่า Passion สำหรับตัวคุณเองนั้น มันมาจากแหล่งใดกันแน่ โดยวิธีการที่หาได้ง่ายที่สุดก็คือ “จงหาสิ่งที่คุณชอบทำมัน หลงใหลมัน และทำแบบฟรี ๆ ซึ่งต่อให้มีเรื่องเงินหรือไม่มีเรื่องเงินเข้ามาคุณก็คงทำมันต่อไปอยู่ดี แต่ถ้าได้เงินจากสิ่งนั้นด้วยแล้วก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่”
Find the things you’d do for free
– Simon Sinek –
คนต่อมา Jack Canfield นักเขียนหนังสือชื่อดังอย่าง Chicken Soup for the Soul และหนังสืออีกกว่า 250 เล่ม ที่สามารถขายได้มากกว่า 500 ล้านเล่ม ใน 40 ภาษาทั่วโลก โดยเขาแนะนำวิธีการค้นหา WHY หรือ เจตจำนง(purpose) ของตัวเราเองด้วยวิธีการที่เรียกว่า “Joy Review” ซึ่งหมายถึง การมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาของตัวเราเอง แล้วลองนั่งทบทวนดูว่า มีสิ่งใด ใครหรือเหตุการณ์ใดบ้างที่คุณรู้สึกว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำและมีประสบการณ์ที่สุดยอดกับมัน แล้วให้คุณจดลงบนกระดาษเป็นข้อ ๆ ดูว่ามีสิ่งใดบ้างที่คุณเคยผ่านมันมาแล้วและรู้สึกดีทุกครั้งที่พบเจอกับมัน
หรือหากในอดีตที่ผ่านมาคุณยังไม่พบกับสิ่งที่คุณคิดว่ามันทำให้คุณรู้สึกดี ๆ หรืออาจไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาว่าสิ่งนั้นคือ WHY ของคุณหรือเปล่า ก็ให้คุณลืมอดีตไปซะ แล้วเริ่มต้นกับปัจจุบัน โดยวิธีการก็คือ การทดลองทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้บนโลกใบนี้ แล้วค่อย ๆ ตัดสิ่งที่คิดว่าไม่ใช่หรือไม่มีความสุข หรือไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับคุณออกไปทีละข้อ ๆ จนกระทั่งคุณพบกับสิ่งที่ทำให้หัวใจคุณรู้สึกเต้นแรงและตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ทำมัน ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะเริ่มต้นด้วยการค้นหาจากงานอดิเรกก่อน โดยอาจจะค้นหาจาก Google ว่า งานอดิเรกบนโลกใบนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งคุณอาจจะเลือกมาสัก 5 อย่างก่อน แล้วเริ่มลงมือทำเลยทันที
- วาดรูป – ไม่ใช่
- ถ่ายรูป – ไม่ใช่
- เต้น – ใช่
- ร้องเพลง – ใช่
- เขียนหนังสือ – ไม่ใช่
และเมื่อลองทำแล้วรู้สึกว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่ ก็ให้คุณตัดหัวข้อนั้น ๆ ออกไป แล้วเริ่มลงมือทำหัวข้อถัดไปในทันที ซึ่งแต่ละคนก็จะค้นพบในเวลาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณทดลองทำมากี่อย่าง ใช้เวลาในการทำแต่ละอย่างนานเท่าไหร่ บางคนอาจจะค้นพบตั้งแต่เดือนแรก ปีแรก หรือสิบปีแรก ก็เป็นไปได้ แต่นั่นมันก็ยังดีกว่าคุณหาตัวเองไม่พบหรือหาเจออีกทีอายุอานามก็แก่เกินไปแล้ว
คำถามฉุกคิด เพื่อค้นหา WHY ด้วยตัวคุณเอง
และหลังจากที่เรารู้แล้วว่า เราเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร และเราจะค้นหา WHY ของเราเจอได้ยังไง สำหรับในบทความนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของคำถามที่จะนำทางไปสู่คำตอบของ WHY ที่คุณกำลังค้นหาอยู่ โดยมีคำกล่าวที่ว่า “หากคุณต้องการคำตอบที่ดี คุณต้องเริ่มต้นด้วยการถามคำถามที่ดีซะก่อน” เพราะมันก็เหมือนกับการตั้งโจทย์ที่ดี หากคุณตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่แรก คุณก็ไม่ต้องคาดหวังกับคำตอบที่ออกมาเลย เพราะเมื่อคำถามมันห่วย คำตอบก็ต้องห่วยตามเป็นธรรมดา
และในบทความนี้ Jack Canfield นักเขียนหนังสือชื่อดังระดับโลกอย่าง Chicken Soup for the Soul และหนังสืออีกกว่า 250 เล่ม ที่สามารถขายได้มากกว่า 500 ล้านเล่ม ใน 40 ภาษาทั่วโลก จะมาแนะนำวิธีการค้นหา WHY จากเจตจำนงของคุณ
5 ขั้นตอนการค้นหา WHY ที่คุณรักและหลงใหลในชีวิตของคุณ
ขั้นตอนที่ 1 – จงระบุลักษณะนิสัย 2 บุคคลิก ที่ตรงกับตัวคุณมากที่สุด โดยเลือกจากบุคคลิกทั้ง 26 ข้อดังต่อไปนี้
1. Authentic – เป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมาไม่หน้าไหว้หลังหลอก
2. Brave – เป็นคนกล้าหาญ พร้อมเผชิญหน้ากับความเสี่ยง
3. Character-driven – มักเป็นคนนำเรื่องอยู่เสมอ คอยผลักดันให้ผู้อื่นติดตามและไว้วางใจในตัวเอง
4. Decisive – เป็นคนเด็ดขาดไม่ถูกก็ผิด
5. Engaging – เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู
6. Fearless – เป็นคนใจถึง กล้าได้กล้าเสีย
7. Goal-oriented – เป็นคนมีเป้าหมาย ชอบมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเป็นสำคัญ
8. Humble – เป็นคนถ่อมเนื้อถ่อมตน
9. Inspiring – เป็นคนชอบสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น
10. Just – มีความเป็นธรรม เป็นคนที่ชอบความเสมอภาคโดยใช้หลักของเหตุผลและความจริง
11. Knowledgeable – เป็นคนรอบรู้ เฉลียวฉลาด
12. Listener – เป็นผู้ฟังที่ดี
13. Motivating – เป็นคนที่ชอบสร้างแรงกระตุ้น สร้างแรงจูงใจให้ผู้อื่น เป็นคนที่ชอบให้คำปรึกษาแก่คนอื่นอยู่เสมอ
14. Noble – เป็นผู้ดี มีท่วงท่าสง่างาม
15. Optimistic – เป็นคนมองโลกในแง่ดี
16. Progressive – เป็นคนหัวก้าวหน้า ชอบบุกเบิกในเส้นทางใหม่ ๆ ชอบการเติบโตในสายอาชีพการงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
17. Qualitative – เป็นคนมีคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ
18. Reliable – เป็นคนที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจได้ทั้งในยามดีหรือยามร้าย เป็นคนรักษาคำพูด
19. Supportive – เป็นคนที่ชอบซับพอร์ทคนอื่น ช่วยเหลือผู้อื่น สนับสนุนผู้อื่นอยู่เสมอ
20. Trustworthy – เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต
21. Unbiased – เป็นคนเถนตรง ไม่มีอคติ ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
22. Visionary – เป็นคนที่มีจินตนาการ ชอบสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
23. Wise – เป็นคนฉลาด มีปัญญา
24. Excellent – เป็นคนยอดเยี่ยม เจ๋ง เวลาทำอะไรก็จะพยายามทำมันออกมาให้มีคุณภาพสูงที่สุด
25. Yearning – เป็นคนที่มีความโหยหา หิวกระหาย อยากได้มากขึ้น อยากทำให้มากขึ้น อยู่ตลอดเวลา
26. Zealous – เป็นคนที่มีความกระตือรือร้น
ขั้นตอนที่ 2 – จากลักษณะนิสัยและบุคคลิกของคุณในขั้นตอนที่ 1 คุณชอบที่จะแสดงออกต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น หากบุคคลิก 2 อย่างของคุณคือ Knowledgeable และ Wise หรือพูดรวม ๆ คือ เป็นคนเฉลียวฉลาดและชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา คุณจึงแสดงออกด้วยการเผยแพร่ความรู้ที่คุณมีอยู่ออกสู่สาธารณะ ซึ่งอาจจะเป็นทางการเขียนหนังสือ เขียนบทความ ทำวีดีลง Youtube ทำคอร์สเรียนออนไลน์ ออกมาเพื่อสอนผู้อื่น เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 – โลกนี้จะเป็นอย่างไร หาก ณ ตอนนี้คุณสามารถทำในขั้นตอนที่ 2 ได้เจ๋งโคตร ๆ
สมมติว่า จากขั้นตอนที่ 2 คือการสร้างสื่อการเรียนรู้ดี ๆ เพื่อเผยแพร่แก่ผู้อื่นบนโลกออนไลน์ หาก ณ ตอนนี้คือสื่อที่คุณทำมันเป็นสื่อที่เจ๋งโคตร ๆ โลกนี้คงมีคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ และช่วยกันพัฒนาโลกให้ดีขึ้นไปอีก เพราะเมื่อแต่ละคนที่เสพย์สื่อที่ดีเข้าไปแล้ว ก็จะเริ่มมีแนวความคิดที่ดีขึ้น เจ๋งขึ้น มีรายได้มากยิ่งขึ้น และแบ่งปันช่วยเหลือแก่ผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น โลกก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้นนั่นเอง
ขั้นตอนที่ 4 – คุณให้คะแนนกับสิ่งที่คุณทำในสิ่งที่รักและหลงใหลนี้กี่คะแนน
จาก 3 ขั้นตอนที่ผ่านมา คุณก็พอจะรู้บ้างแล้วว่า มีอะไรบ้างที่คุณทำแล้วรู้สึกรักและหลงใหลที่จะทำมันอย่างสนุกสนานและไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ทีนี้ ลองให้คะแนนตัวคุณเอง ณ ตอนนี้ดูว่า หากคะแนนเต็ม 10 ตอนนี้คุณให้คะแนนในเรื่องนี้ของตัวคุณเองเท่าไหร่?
ขั้นตอนที่ 5 – หากคะแนนยังไม่เต็ม 10 จะมีวิธีใดบ้างเพื่อให้คะแนนเต็ม 10
และสมมติว่าคุณให้คะแนนตัวเองในขั้นตอนที่ 4 ยังไม่เต็ม 10 คำถามต่อมาที่คุณควรตั้งคำถามกับตัวเองก็คือ แล้วฉันจะต้องทำอะไรอีกบ้าง เพื่อให้ตัวเองนั้น ได้คะแนนเต็ม 10 เช่น ศึกษาให้มากขึ้น, ลงมือทำมากขึ้น, พัฒนาทักษะให้เก่งยิ่งขึ้น, เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
Resources