Site icon Blue O'Clock

ประวัติ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Facebook เจ้าพ่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่เชื่อมคนทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน

Mark Zuckerberg

หากจะพูดถึงประวัตินักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง ที่พลิกโฉมวงการนักธุรกิจด้วยความมั่งคั่งร่ำรวยและอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา แถมยังเป็นธุรกิจออนไลน์อย่าง Facebook ที่เป็นเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย ที่มีคนใช้งาน ณ ปัจจุบันมากกว่า 2 พันล้านคน ก็คงหนีไม่พ้น Mark Zuckerberg หากไล่รายชื่อจากอันดับของมหาเศรษฐีทั่วโลก ที่สร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเองแล้วล่ะก็ Mark Zuckerberg เป็นเพียงหนึ่งเดียวที่มีอายุน้อยที่สุดใน Top 100 อันดับแรกที่จัดอันดับโดย นิตยสาร Forbes ซึ่งมีอายุเพียง 30 ต้น ๆ เท่านั้น ในขณะที่มหาเศรษฐีคนอื่น ๆ นั้นก็เลยหลักสี่เข้าแทบทั้งสิ้น

Mark Elliot Zuckerberg หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Mark Zuckerberg เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1984 ที่เมือง Dobbs Ferry, New York ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของ Edward และ Karen Zuckerberg โดยทั้งพ่อและแม่ของเขานั้นมีเชื้อสายยิวทั้งคู่ ซึ่งประกอบอาชีพเป็นหมอฟันและนักจิตวิทยา ทำให้ในวัยเด็กของเขานั้นเป็นครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างอยู่สุขสบายตามสไตล์ลูกคุณหมอ

โดยปกติแล้ว มาร์คนั้น มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่วัยเด็ก เมื่ออายุได้เพียงสิบขวบต้น ๆ ช่วงประถมปลายเขาก็สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้แล้ว โดยมาร์คได้เริ่มใช้ทักษะการเขียนโปรแกรมนี้ให้คุณพ่อของเขาไปใช้ในคลินิกทันตกรรม โดยสร้างโปรแกรมแชทขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า ZuckNet ทำให้พนักงานภายในคลีนิค สามารถสื่อสารกันเองแทนการตะโกนบอกกัน และในช่วงมัธยมต้นเขาก็สามารถเขียนเกมขึ้นมาเล่นเองได้อีกด้วย

ในช่วงมัธยมนี้นี่เองที่มาร์คกับเพื่อนร่วมห้องของเขา ได้เขียนโปรแกรมที่ชื่อว่า Synapse ซึ่งสามารถระบุความชอบของแต่ละคนเพื่อเลือกเพลงที่น่าจะเหมาะกับแต่ละคนได้ มันสามารถทำงานได้ดีจนถึงขนาดที่บริษัทอย่าง Winamp, Microsoft และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย เข้ามาเสนอเงินก้อนโตให้เป็นจำนวนเงินกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ กว่า 60 ล้านบาท ซึ่งด้วยความที่เป็นเด็กและอินดี้พอตัว พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะไม่ขายมัน จนกระทั่งพวกเขาเปลี่ยนใจที่จะขายมันในที่สุด แต่ก็พบว่า บริษัทเหล่านั้น ไม่ได้สนใจตัวซอร์ฟแวร์ของพวกเขาแล้ว (แห้วแดกเลยซะงั้น)

และหลังจากที่มาร์คเรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้ว เข้าก็ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Havard University) ในปี 2002 ในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเขาได้เริ่มพัฒนาการเขียนโปรแกรมที่ชื่อว่า CourseMatch เป็นโปรแกรมที่เกี่ยวกับการช่วยเสนอวิชาเรียนที่เหมาะสมกับนักศึกษา แต่ก็ถูกทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธเนื่องมาจากเป็นเรื่องยากที่จะรวมข้อมูลของนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยไว้ในที่เดียวกัน

แต่มาร์คก็ยังไม่ถอดใจ จนกระทั่งได้เขียนโปรแกรมใหม่โดยแอบดึงข้อมูลนักศึกษามาจากส่วนกลางของมหาวิทยาลัยแล้วปล่อยลงในเว็บไซต์ที่ชื่อ FaceMash.com โดยให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดช่วยกันโหวตรูปสาว ๆ ในมหา’ลัย ว่าชอบใครมากกว่ากัน โดยมีสองรูปให้เลือก ซึ่งหลังจากเปิดเว็บไซต์ไปเพียง 4 ชั่วโมง ก็มีนักศึกษาฮาร์วาร์ดแห่เข้ามาใช้งานอย่างล้นหลามจนทำให้เซิร์ฟเวอร์ของมหา’ลัย ล่มในที่สุด ทำให้คณะกรรมการของมหา’ลัย สั่งปิดเว็บไซต์ FaceMash.com ลง ซึ่งทำให้มาร์คนั้น ถูกคณะกรรมการของมหา’ลัย ทำทัณฑ์บนเอาไว้ เนื่องจากเขาได้เจาะเข้าระบบรักษาความปลอดภัยของมหา’ลัย

แต่มาร์คก็ยังมองในแง่ดีว่า “อย่างน้อยผมก็รู้จุดบกพร่องของระบบรักษาความปลอดภัยนะ ว่ามันไม่ปลอดภัย” และเขาเชื่อว่า แทนที่จะเก็บงำข้อมูลไว้ในแฟ้มลับเอาไว้ดูคนเดียว มันควรจะเป็นการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันมากกว่า

ซึ่งแม้ว่าเขาจะถูกทางมหา’ลัย ทำทัณฑ์บนเอาไว้ แต่เขาก็ยังไม่ล้มเลิกในการพยายามที่จะเก็บข้อมูลของนักศึกษาลงบนโลกออนไลน์ เขาจึงเขียนเว็บขึ้นมา แล้วให้นักศึกษาฮาร์วาร์ดลงทะเบียนเพื่อกรอกประวัติและข้อมูลส่วนตัวลงไป โดยเปิดตัวเว็บไซต์ครั้งแรกในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2004 ที่มีชื่อว่า “TheFacebook.com” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Facebook.com

โดยเว็บที่ว่านี้นั้นมีเพื่อน ๆ ในมหา’ลัยของเขา เข้ามาช่วยกันสร้างมันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Eduardo Saverin, Andrew McCollum, Dustin Moskovitz และ Chris Hughes

ซึ่งหลังจากที่เปิดตัว ก็มีนักศึกษาฮาร์วาร์ดเข้ามาลงทะเบียนใช้งานกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด มาร์คจึงตัดสินใจที่จะขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จนกระทั่งสามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัยทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง โดยในระหว่างนี้ Facebook อยู่ได้โดยเงินจากแบนเนอร์โฆษณาจากการจัดงานของนักศึกษา ราว ๆ เฉลี่ยเดือนละ 2,000 – 3,000 เหรียญฯ (หรือประมาณ 60,000 – 90,000 บาท)

ถึงเวลาที่จะต้องไปต่อ มาร์คกับเพื่อน ๆ ของเขา ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่ Palo Alto รัฐ California หรือที่เรารู้จักในนามว่า Silicon Valley ที่เป็นแหล่งกำเนิดของเหล่าบรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกรวมกันอยู่ที่นี่ โดยมาร์คได้ดรอปเรียนเอาไว้หลังจากที่พึ่งเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ดได้เพียง 2 ปี (และหลังจากนั้นมาร์คก็ไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย ภายหลัง 12 ปี ต่อมาเขาก็ได้รับเกียรติด้วยการรับเชิญเข้าพิธีรับปริญญาดุสดีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2017 ที่ผ่านมานี่เอง)

ในระหว่างนี้นี่เองที่ทาง MTV เสนอซื้อกิจการของ Facebook เป็นเงินจำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว ๆ กว่า 2 พันล้านบาท บ้าไปแล้วววว) แต่ Mark ได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ไป

จนกระทั่ง Mark Zuckerberg ได้มีโอกาสพบกับ Sean Parker ผู้ซึ่งเห็นศักยภาพในการเติบโตของ Facebook ที่จากเพียงเป็นแค่โปรเจคในระดับนักศึกษามหาวิทยาลัยให้ก้าวไกลไปสู่โซเชียลมีเดียระดับโลก(ซึ่ง Sean Parker ก็ได้ขึ้นแท่นเป็นประธานบริหารคนแรกของ Facebook อีกด้วย)

เขาได้นำพาให้มาร์คไปพบกับ Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีต CEO ของระบบรับชำระเงินออนไลน์ระดับโลกอย่าง Paypal ที่ถูกขายไปให้กับ eBay เป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านเหรียญฯ ซึ่งได้กลายมาเป็นนักลงทุนรายแรกของ Facebook ด้วยเงินจำนวน 500,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (หรือราว ๆ กว่า 16 ล้านบาท) ในปี 2004 เพื่อแลกกับการเป็นหุ้นส่วนเพียงเล็ก(ประมาณ 7%) โดย Facebook ยังอยู่ในการควบคุมของ Mark อย่างเต็มที่ และสำหรับ Sean Parker ก็ได้รับหุ้นส่วนเป็นจำนวน 6.47% สำหรับการดีลในครั้งนี้อีกด้วย

เงินทุนก้อนนี้ส่งผลให้ Facebook สามารถพัฒนาและเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก จนครบ 1 ล้านคน เมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี 2004 (ใช้เวลาเพียง 9 เดือนนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้งเว็บไซต์) และ Peter Theil ก็ได้พามาร์คไปเซ็นต์สัญญาจับมือกับ Accel Partners และได้เงินลงทุนมาเพิ่มอีก 12.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ กว่า 300 ล้านบาท) จนกระทั่งในวันสิ้นปีของปี 2005 ก็มีผู้ใช้งาน Facebook เป็นจำนวน 5 ล้านคน (และในปี 2017 ที่ผ่านมา ก็มีบัญชีผู้ใช้งานทั่วโลกที่แอคทีฟอยู่รวมแล้วกว่า 2.13 พันล้านคน)

แถม Facebook ยังเนื้อหอม ถึงขนาดที่ Yahoo! เสนอดีลที่จะซื้อ Facebook ในราคา 1,000 ล้านดอลล่าร์ฯ (หรือราว ๆ กว่า 3 หมื่นล้านบาท) แต่ Mark ก็ได้ปฏิเสธเงินก้อนนี้ไป เพราะเขาคิดว่า Facebook ยังมีอะไรให้พัฒนาและมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกมากมาย

และ Microsoft เองก็เคยเสนอเงินซื้อกิจการ Facebook จำนวน 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ กว่า 4 แสนล้านบาท แต่ Mark ก็ปฏิเสธไปอีกเช่นกัน

Mark Zuckerberg ได้นำ Facebook เข้า IPO ในตลาดหุ้น Nasdaq เมื่อวันที่ 18 พฤษาคม ปี 2012 ซึ่งกลายเป็นการระดมทุนที่สูงที่สุดนับเป็นประวัติกาลที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ โดยสามารถระดมทุนได้ถึง 16,000 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ กว่า 5 แสนล้านบาท

ผ่านมาถึงปัจจุบัน โมเดลรายได้หลักของ Facebook ยังคงเป็นการทำเงินจากการเก็บค่าโฆษณา โดยรายได้รวมของ Facebook ปี 2017 อยู่ที่ประมาณ 40,654 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับวันแรกที่เข้าตลาดหุ้นในปี 2012 นั้น Facebook เติบโตกว่า 699% เลยทีเดียว

โดยเมื่อวันเวลาผ่านไปทำให้ในปัจจุบันนั้น เหล่าบรรดาผู้ร่วมผู้ก่อตั้งและอยู่เบื้องหลัง Facebook ได้กลายมาเป็นมหาเศรษฐีระดับร้อยล้านพันล้านกันแทบทั้งสิ้น โดยรายได้ในปี 2018 ของแต่คนเป็นดังนี้

และในปี 2017 ที่ผ่านมา Peter Theil ก็ได้ขายหุ้นของ Facebook จำนวน 73% ซึ่งสามารถขายเป็นเงินได้กว่า 29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 500,000 ดอลล่าร์ฯ (หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ลงทุนเงินก้อนแรกไปประมาณ 16 ล้านบาท แต่ขายได้เป็นเงินอย่างต่ำกลับคืนมากว่า 900 ล้านบาท เลยทีเดียว)

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะในปี 2004 มาร์คถูกเหล่าบรรดารุ่นพี่ ของเขาที่สมัยเรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ดด้วยกัน คือ Divya Narendra, Cameron Winklevoss และ Tyler Winklevoss ได้ยื่นฟ้องร้องต่อมาร์คว่า มาร์คนั้นได้ขโมยแนวความคิด แผนธุรกิจ โค้ดที่ใช้เขียนเว็บไซต์ ของ Facebook ที่ลอกเลียนแบบไปจากเว็บไซต์ ConnectU ที่พวกเขาเคยจ้างให้มาร์คช่วยพัฒนาเว็บไซต์ แต่ศาลก็ยกฟ้องเนื่องจากคำกล่าวหาไม่มีน้ำหนักมากพอ แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงยื่นฟ้อง Facebook อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันที่ 25 มิถุนายน ปี 2008 ทาง Facebook เองก็ตกลงที่จะจ่ายเงินเป็นจำนวน 45 ล้านเหรียญฯ (โดยจ่ายเป็นเงินสด 20 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออยู่ในรูปแบบของหุ้น Facebook)เพื่อเป็นการชดเชย โดยทำสัญญากันอย่างลับ ๆ โดยไม่เปิดเผยตัวเลข ซึ่งในท้ายที่สุดพวกเขาก็ยอมล้มเลิกการฟ้องร้องต่อ Facebook

Mark Zuckerberg ถูกยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีในปี 2010 โดยนิตยสาร Time Magazine และในปี 2012 Mark Zuckerberg ได้แต่งงานกับ Priscilla Chan ปัจจุบันพวกเขาได้ให้กำเนิดลูกสาว 2 คน นั่นก็คือ Maxima Chan Zuckerberg และ August Chan Zuckerberg

โดยในปี 2018 เขามีรายได้อยู่ที่ 64.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเขากับภรรยาได้ประกาศออกมาว่า จำนวนหุ้นกว่า 99% ที่พวกเขาถือครองอยู่นั้น จะนำไปบริจาคองค์กรการกุศลที่ชื่อ Chan Zuckerberg Intiative เพื่อมุ่งเน้นและยกระดับคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะหลังจากที่พวกเขามีลูกน้อยเกิดขึ้นมา ในฐานะที่เป็นพ่อแม่คนหนึ่ง ก็อยากช่วยเหลือให้เด็ก ๆ ทั่วโลก ได้เกิดมามีชีวิตที่เท่าเทียมกัน

Exit mobile version