Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

วิธีรับมือกับมหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่มาเยือนแล้ว by Ray Dalio

Ray Dalio ผู้ก่อตั้งบริษัท Bridgewater Associates บริษัท Hedge Fund ที่มีขนาดกองทุนใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก เจ้าของหนังสือ Principles และ Principles for Dealing with THE CHANGING WORLD ORDER Why Nations Succeed and Fail ที่ ณ ปัจจุบันเขามีทรัพย์อยู่ที่ $22,000 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือราว ๆ 7.6 แสนล้านบาท เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 71 ของโลก

โดยก่อนหน้านี้ ทาง Ray Dalio ได้ออกมาเตือนว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และอาจจะกำลังมีการเปลี่ยนแปลงขั้วมหาอำนาจของโลกครั้งใหญ่ ถ้าจากสถิติและข้อมูลที่ Ray ได้ค้นคว้า ศึกษาและวิจัยมานั้น เป็นจริงขึ้นมา เราจะมีวิธีการรับมือกับมันอย่างไรได้บ้าง

โดยในคอนเท้นต์นี้ เป็นบทสัมภาษณ์จากช่อง Yutube ของ Lewis Howes ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2.2 ล้านคน โดยทาง Lewis ก็ได้เปิดประเด็นว่า หลังจากที่ Ray Dalio ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดวิกฤตเศรษญกิจและแนวโน้มที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกนั้น ในอดีตมันก็มีเหตุการณ์ที่ส่งผลให้วิกฤตนี้มีทั้งคนหมดตัวกับคนที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างมหาศาลจากวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละครั้ง มีทั้งคนที่หวาดกลัวและคนที่มองเห็นโอกาส

ซึ่งจากเนื้อหาในหนังสือ The Changing World Order ของ Ray Dalio นั้น เขาได้ไอเดียอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ที่มีความสำคัญมากต่อสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้ มาเริ่มกันที่เรื่องแรกนั่นก็คือ

1 – The Printing

มีการปริ้นท์เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ออกมาอย่างมหาศาลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ และวลีดังจาก Ray Dalio ก็คือ Cash is Trash เงินสดคือขยะดี ๆ นี่เอง

โดย Ray Dalio เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า ตัวของเขานั้นเป็นนักลงทุนแบบ global macro คือต้องดูภาพรวมทั้งโลก ซึ่งต้องดูภาพรวมของตลาดเศรษฐกิจทั่วโลก รวมไปถึงเรื่องของการเมืองก็ต้องดู เพราะมันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนของเขา

ซึ่งในตลอดช่วงชีวิตของ Ray Dalio นั้น เขาพบว่ามันมีอยู่ 3 สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เขาเกิดมา นั่นก็คือ

  • A lot of debt – รัฐบาลสหรัฐฯ มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก
  • Internal conflict – การขัดแย้งภายในประเทศอย่างรุนแรง
  • Changing world order – มีประเทศอย่างจีนและรัสเซีย ที่ขึ้นมาแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

กลับมาที่เรื่องพื้นฐานอย่างเรื่องของ ‘Money’ หรือเงินกันก่อน ซึ่งแน่นอนว่า ใครต่อใครก็อยากมีเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะได้ใช้จ่ายได้มากขึ้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณจ่ายมากกว่าที่หามาได้ คุณก็จะเริ่มเข้าสู่วังวนการกู้ยืมเงิน และเกิดเป็นหนี้สินในที่สุด

ซึ่งอันที่จริง ก่อนที่คุณจะเป็นหนี้นั้น คุณได้รับเครดิตเพื่อเพิ่มอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น แต่ข้อแม้ก็คือ เมื่อถึงเวลาคืนเงินคุณจะต้องจ่ายคืนให้ครบเต็มจำนวนกับเครดิตที่คุณใช้ไปก่อนหน้านี้ แต่ประเด็นก็คือ มันใช้หนี้ไม่ทันและใช้หนี้คืนน้อยกว่าจำนวนที่ยืมเครดิตมา ดังนั้น จังหวะนี้นี่หละที่ดอกเบี้ยเงินกู้จะวิ่งปรู๊ดดดดด จนกลายเป็นหนี้ก้อนมหึมา

แต่ประเด็นมันอยู่ตรงนี้แหละว่า ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้น สามารถปริ้นท์เงินดอลล่าร์ได้ไม่จำกัด ดังนั้นเมื่อพวกเขาต้องการใช้หนี้ พวกเขาก็เลยปริ้นท์เงินออกมาเยอะ ๆ เพื่อไปชดใช้หนี้ที่ตัวเองยืมเอง แล้วก็ปริ้นท์เอง วนไปเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะการทำแบบนี้ มันไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจมันดีขึ้น เพราะเมื่อขนาดของระบบเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้น แต่กลับมีจำนวนเงินในระบบมากขึ้น นั่นจึงเท่ากับว่า ‘Money’ หรือเงินดอลล่าร์ฯ นั้นมีค่าลดลง เสื่อมค่า

ทั้ง ๆ ที่การปริ้นท์เงินแล้วแจกจ่ายไปสู่คนหมู่มาก ในตอนแรกที่พวกเขาได้รับเงินนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะจู่ ๆ รัฐบาล ก็แจกจ่ายเงินแบบฟรี ๆ พวกเขาก็เลยคิดว่า จะนำไปเงินไปช้อปปิ้ง แต่กลับพบว่า ข้าวของต่าง ๆ ก็แพงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ดูเหมือนจะมีเงินกระดาษมากขึ้น แต่กลับซื้อของได้น้อยลงซะอย่างงั้น และสิ่งนั้นก็เรียกว่าเกิดค่าเงินเฟ้อหรือ Inflation แต่ด้วยจำนวนเงินที่ปริ้นท์ออกมาอย่างมหาศาล มันจึงส่งให้เกิด Hyper Inflation หรือเกิดค่าเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จนในปัจจุบันค่า CPI : Consumer Price Index ซึ่งเป็นดัชนีวัดค่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยในเดือน พ.ค. 2022 ที่ผ่านมานั้น มีค่าพุ่งสูงกว่า 8.6% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี (ส่วนในประเทศไทยค่าเงินเฟ้อของเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 7.1% สูงสุดในรอบ 24 ปี)

ซึ่งหลายต่อหลายคนไม่เคยได้ตระหนักเลยว่า ค่า Inflation นั้น เกี่ยวข้องหรือมีความสำคัญอย่างไรกับชีวิต เพราะตั้งแต่สมัยที่เราเป็นนักเรียนนักศึกษาอยู่นั้น ในโรงเรียนก็ไม่เคยได้สอนในเรื่องเหล่านี้เลยแม่แต่น้อย และพอมาถึงชีวิตวัยทำงาน ก็รู้แค่เพียงว่านับวันข้าวของมีแต่จะแพงขึ้น

Ray คุยช่วยบอกหน่อยได้ไหมว่า สำหรับคนฐานะกลาง ๆ ทั่ว ๆ ไปนั้น ไอ้เจ้าค่า Inflation มันคืออะไร ส่งผลยังไงกับพวกเขา

โดย Ray บอกว่า จริง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญมันคือ Purchasing Power หรืออำนาจในการจับจ่ายใช้สอยต่างหาก เพราะเมื่อค่า Inflation หรือค่าเงินเฟ้อมีอัตราที่สูงขึ้นเร็วกว่าการขึ้นเงินเดือนหรือการหารายได้นั้น มันจะส่งผลให้คน ๆ นั้น สูญเสียอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย พวกเขาจะใช้จ่ายได้น้อยกว่าเดิม แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่ได้ตระหนัก หรือไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้สนใจ เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ควักเงินออกจากกระเป๋าของพวกเขา

แต่ถ้ายกตัวอย่างใหม่ว่า ถ้ามีการขึ้นภาษีเงินได้ ผู้คนจะโวยวายทันที เพราะพวกเขาเสียเงินออกจากกระเป๋ามากยิ่งขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อนั้นผู้คนได้เงินเข้ากระเป๋ามากยิ่งขึ้น พวกเขาก็เลยไม่ได้อะไรกับมัน ทั้ง ๆ ที่กระเป๋าใบนั้น ไม่ว่าจะยังไงสุดท้ายมันจะมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดลงอยู่ดี

ทีนี้ถ้าลองพิจารณาตลาดเงินอย่าง bond funds หรือกองทุนตราสารหนี้ สมมติว่าตัวมันสูญเสียอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยไป 10% แต่มาเจอค่าเงินเฟ้อบวกเข้าไปอีก 8% กลายเป็นว่า มันสูญเสีย Purchasing Power ไปแล้วกว่า 18% กลายเป็นว่า หากเราลงทุนในกองทุนตลาดเงินเหล่านี้ มันจะมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดลงยิ่งเสียกว่าการถือเงินสดเอาไว้เฉย ๆ มากกว่าเท่าตัวซะอีก

ทีนี้นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการที่จะลดค่าเงินเฟ้อนั้น ก็คือการเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้คนกู้มีต้นทุนที่สูงมากขึ้น เพราะโดนดอกเบี้ยแพง ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่า สำหรับคนทั่ว ๆ ไปนั้น ก็จะได้รับผลกระทบทั้งขึ้นทั้งร่อง นั่นก็คือ ราคาสินค้าบริการปรับตัวสูงขึ้นจากค่าเงินเฟ้อ ซื้อของได้น้อยลง แถมดอกเบี้ยเงินกู้ก็สูงขึ้นอีก มีเงินในกระเป๋าน้อยลงไปอีก นั่นแหละคือสิ่งที่ผู้คนทั่วไปที่ไม่ได้ตระหนักเรื่องของค่าเงินเฟ้อจะต้องเผชิญ

แล้วเราจะต้องรับมือกับค่าเงินเฟ้ออย่างไร เพื่อรักษา Purchasing Power ของเราเอาไว้ ซึ่งทาง Ray ก็บอกว่า การลงทุนจัดพอร์ทแบบ Diversify หรือการกระจายการลงทุนนั้น คือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ โดยทางทีมงาน Blue O’Clock ก็ได้เคยทำวีดีโอไวท์บอร์แอนิเมชั่น แบบลงรายละเอียดในวีดีโอที่ชื่อว่า ‘The Holy Grail สูตรลับการลงทุนสไตล์ Ray Dalio‘ มันคือเทคนิคการจัดพอร์ทการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยหน้าที่ของมันก็คือ มันจะช่วยลดความเสี่ยง โดยที่ไม่ลดผลตอบแทนที่คาดหวังเอาไว้ ซึ่งมันอาจจะเป็น การลงทุนในธุรกิจท้องถิ่น, การลงทุนในหุ้นบ้าง, การลงทุนในทองคำบ้าง หรือการลงทุนในต่างประเทศบ้าง ฯลฯ ซึ่งการทำ Divercification Portfolio ให้มีความสมดุลนั้น คือแนวทางที่ Ray แนะนำ (ก็แหงล่ะ ป๋าแกเก่งเรื่องนี้โดยเฉพาะ)

แต่นั่นมันสำหรับคนมีเงินลงทุน แล้ว Ray มีคำแนะนำอย่างไรบ้างกับคนที่ไม่มีเงินออมมากนัก หรือพึ่งจะเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งวัยทำงานที่กำลังเป็นหนี้สินบางส่วนอยู่ พวกเขาจะลงทุนอย่างไร หรือพวกเขาควรจะแบ่งเงินบางส่วนจากรายได้สัก 10% มาลงทุนแบบ Divercify ทันที หรือพวกเขาควรจะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเป็นเงินสดกันเอาไว้ก่อนสัก 6-12 เดือน ก่อนดี

โดย Ray ก็ได้เล่าย้อนกลับไปเมื่อตอนที่เขาอายุได้ประมาณ 30 ต้น ๆ ว่าตัวของเขาในตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมีเงินมากนัก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขายังต้องขอยืมเงินจากคุณพ่อราว ๆ $4,000 เพื่อยืมมาใช้จ่ายบิลต่าง ๆ ภายในครอบครัว อยู่เลย

ซึ่งเขาก็ได้ข้อคิดว่า ขั้นแรกจะต้องคำนวณก่อนเลยว่า หาก ณ วันนี้เขาไม่มีรายได้เข้ามาเลยสักกะแดงเดียว เงินที่เหลืออยู่ เขาจะสามารถใช้ไปได้อีกกี่เดือน ก่อนที่เงินจะหมดลง เพราะเขาไม่อยากตกอยู่ในสภาวะเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ แล้วต้องตะเกียกตะกายจะตายแหล่ไม่ตายแหล่ เพราะต้องกระเสือกกระสนรีบหาเงินในทันก่อนสิ้นเดือน

แต่เขาจะต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย ๆ ก็พอให้คำนวณได้สักหน่อยว่า พอใช้ไปอีกกี่เดือน แล้วในระหว่างนั้นก็จะได้นั่งวางแผนแบบไม่ต้องเครียด ไม่ต้องร้อนรนจนเกินไป ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่า ควรจะมีเงินเก็บอย่างน้อยกี่เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือสัก 1 ปี นั่นคือขั้นแรกที่ Ray แนะนำก่อนจะเข้ามาลงทุน ถ้าเปรียบเป็นฐานปิรามิด ก็คือฐานล่างสุด คุณจะต้องสามารถมีมากพอที่จะดูแลตนเองและครอบครัวได้โดยไม่ขัดสนซะก่อน จากนั้นค่อยคิดเรื่องการกระจายการลงทุน

ส่วนการออมนั้น Ray เขาเล่าว่า เมื่อครอบครัวของเขามีวันพิเศษอย่างเช่นวันคริสมาสต์ วันเกิด เขามักจะให้ของขวัญแก่ลูก ๆ หลาน ๆ เป็นเหรียญทองคำแก่พวกเขา พร้อมกับกำชับกับเด็ก ๆ ว่า จงเก็บมันเอาไว้ และอย่าขายมันจนกว่าจะถึงเวลายามวิกฤตจริง ๆ

ซึ่งหลายต่อหลายคน มักจะให้ของขวัญเป็นเสื้อผ้า สิ่งของ ของเล่น ซึ่งเขามองว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่นานมันก็จะหมดค่าไป หายไป หมดค่า ไร้ค่า ในขณะที่การมอบทรัพย์สินอย่างเช่นทองคำนั้น มันจะคงอยู่ไม่เสื่อมสลาย และมีมูลค่าในตัวมันเอง นั่นคือการส่งมอบประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แก่ลูก ๆ หลาน ๆ ที่ดี ที่พวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของการออม

ส่วนถ้าถามว่า ควมล้มเหลวที่ผ่านมานั้น เขาได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ดังกล่าวบ้าง โดยทาง Ray ก็บอกว่า เขาเรียนรู้ที่จะทำการ dubble check ความคิดตัวเองก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง ความหมายก็คือ สิ่งที่เขารู้มานั้น เขาจะต้องพยายามไปถามกับคนที่ฉลาดที่สุดเพื่อหาข้อโต้แย้งในเรื่องดังกล่าวก่อนแล้วจึงจะคอนเฟิร์มว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นมันน่าจะถูกต้อง เพราะตัวของเขาเองก็ไม่ใช่คนที่ตัดสินใจถูกไปหมดซะทุกเรื่อง โดยเขาเก็บสถิติการตัดสินใจของตัวเองในอดีตที่ผ่านมานั้นก็พบว่า เขาตัดสินใจถูกต้องคิดเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ราว ๆ 70-75% ไม่ได้ถูกไปซะหมด

ดังนั้น นั่นจึงทำให้เขากลายเป็นคนที่เปิดใจ เปิดรับความคิดเห็นของคนอื่นมากยิ่งขึ้น ทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ส่วนการเรียนรู้จากการจัดพอร์ทแบบ Diversify นั้น เขาพบว่า เมื่อทำการกระจายการลงทุนไปในทรัพย์สินต่าง ๆ หลากหลายแบบ ที่แต่ละแบบมีค่าความเกี่ยวข้องที่น้อยแล้วนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงได้มากถึง 80% ในขณะที่ผลตอบแทนแทบจะไม่ลดลงเลย เพราะการลงทุนในทรัพย์สินที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันนั้น เวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งลงนั้น มันมักจะดิ่งลงไม่น้อยกว่า 60-70% ในทุก ๆ ตลาด แต่ก็จะมีหลาย ๆ ตลาด ที่ลงไม่ลึกขนาดนั้น แถมบางตลาดยังเป็นบวกได้ด้วย นั่นจึงทำให้พอร์ทการลงทุนของเขานั้น ไม่เสียหายหนัก เพราะทรัพย์สินในพอร์ทแต่ละตัวนั้นมันช่วยกันพยุงสร้างความ balance ในพอร์ทได้ดี

ซึ่งสูตรความสำเร็จในชีวิตที่ Ray ได้เขียนลงในหนังสือ Principles นั้น เขาบอกว่า ชีวิตจะประสบความสำเร็จได้นั้น มันจะเริ่มจากลงมือทำ และพบเจอกับความล้มเหลว จากนั้นก็ให้เรียนรู้จากความล้มเหลวดังกล่าว แล้วเดินหน้าต่อไป มันก็จะเกิดการพัฒนาในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น ดังประโยคที่ว่า ‘No Pain No Gain’

ส่วนประโยคที่ว่า “Big Risk Big Reward” หรือถ้าหากอยากได้มากก็ต้องเสี่ยงมากนั้น ทาง Ray เขาไม่เห็นด้วย เพราะจากประสบการณ์ในการจัดพอร์ทการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงนั้น เขาพบว่า มันสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้มากถึง 80% ในขณะที่ผลตอบแทนไม่ลดลง โดยผลตอบแทนที่เขาได้กลับคืนมานั้นจะอยู่ในช่วง 10-15% ถ้าใช้สูตรการลงทุนแบบ The Holy Grail ที่เขาได้พัฒนามันขึ้นมาใช้กับการลงทุน

ต่อมา Ray ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องของหนี้สิน ซึ่งเขาบอกว่าการเป็นหนี้นั้น สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท็คือ หนี้ดี กับหนี้เลว

หนี้เลว คือ หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมมาเพื่อเอาไปซื้อของอุปโภคบริโภค ใช้จ่ายแล้วหมดไป นั่นมันจะทำให้ทรัพย์สินของคุณหร่อยหรอไปเรื่อย ๆ และเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเผลอใช้เงินมากกว่ารายรับแล้ว จ่ายหนี้ไม่ทันแล้วล่ะก็ หนี้ท่วมหัวเลยทีเดียว

แต่ในขณะที่หนี้ดีนั้น คือการกู้ยืมเงินมาเพื่อการลงทุน แต่ย้ำว่า คุณต้องมั่นใจว่า สิ่งที่คุณจะลงทุนนั้น จะให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยของเงินที่กู้มา และจะต้องไม่เสียเงินต้นที่ลงทุนไป

ส่วนการจะเป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยนั้น Ray เขาบอกว่า ถ้าเทียบระหว่างการไม่ซื้อบ้านแล้วใช้เงินไปกับการท่องเที่ยวได้มากขึ้นนั้น ถ้ามองในมุมของทรัพย์สิน การท่องเที่ยวก็คือจะทำให้ทรัพย์สินของเราลดลง แต่ในขณะที่หากใช้เงินเพื่อผ่อนบ้านซื้อบ้านนั้น บ้านก็จะยังคงอยู่ และสามารถทำการขายมันออกไปได้

แต่ถ้ากู้เงินไปทำธุรกิจเล็ก ๆ การเป็นหนี้ประเภทนี้ก็น่าสนใจกว่า เพราะมันมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนกลับคืนมา ซึ่งโอเคแหละว่า การทำธุรกิจมันก็มีทั้งขาขึ้นและขาลง ดังนั้นก็ให้คุณคอบปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับ cycle ดังกล่าว เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

2 – Conflict

ความขัดแย้งที่รุนแรงภายในประเทศที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ในสหรัฐอเมริกานั้น Ray บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาเขาไม่เคยเห็นความขัดแย้งภายในที่รุนแรงแบบที่เป็นอยู่นี้มาก่อนเลยในชีวิต ที่การเมืองนั้นแบ่งเป็นสองขั้วอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามอย่างชัดเจน มันอยู่ในสภานการณ์ที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวากันแน่ ไม่มีพื้นที่ตรงกลาง หรือไม่มีการประนีประนอมกัน หรือแม้แต่ถูกตัดสินว่าแพ้แล้วก็ไม่ยอมรับคำสินสินดังกล่าว

โดย Ray เขาได้ยกตัวอย่างว่า เมื่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ นั้นได้ออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเรื่องของการทำแท้งและการครอบครองอาวุธเรียบร้อยแล้วนั้น แต่กลับมีบางรัฐไม่ยอมทำตามกฎดังกล่าว เพราะต้องเรียนให้ทราบก่อนว่า สหรัฐอเมริกานั้น มีรัฐมากถึง 52 รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐนั้น มีกฎหมายที่ไม่เหมือนกัน บางรัฐบอกว่าสิ่งนี้คือสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในขณะที่อีกรัฐนั้นบอกว่าสิ่งนี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ทุกรัฐก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสูงสุดของสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนี้บางรัฐก็เริ่มแข็งข้อ เพราะกฎดังกล่าว มาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแน่นอนว่าคนร่างกฎหมายได้ประโยชน์ ในขณะที่พรรคฝ่ายตรงข้ามที่คัดค้านนั้นเสียผลประโยชน์ มันจึงเกิดเกตุการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามก็จะไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว

ทั้ง ๆ ที่หลักการของการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยที่ถือเสียงข้างมากนั้น มันคือการประนีประนอมกันเมื่อผลตัดสินเสียงข้างมากออกมาแล้ว แต่ตอนนี้มันกลับกลายเป็นว่า นโยบายที่ออกมาแต่ละอย่างนั้น นอกจากฝั่งตัวเองจะต้องได้ประโยชน์แล้ว ยังจะต้องสามารถทำร้ายฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย

แถมคนทำงานที่เคยเป็นกลาง คอยประสานทั้งสองฝั่งนั้น พวกเขาก็ถูกกดดันจนต้องเลือกข้าง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็เป็นแค่เพียงคนทำงานธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่บังเอิญไปทำงานในแวดวงการเมืองก็เท่านั้นเอง พวกเขาแค่อยากทำงานแล้วก็รับค่าตอบแทน ไม่ต้องฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ตอนนี้พวกเขากลับต้องบีบว่า จะต้องเลือกข้าง

หรือแม้แต่ข่าวตอนที่ Elon Musk เข้าซื้อหุ้นของ Twitter นั้น แทนที่มันจะเป็นแค่การซื้อกิจการ แล้วนำเงินทุนไปพัฒนาธุรกิจให้เติบโต สร้างผลกำไร แต่ตอนนี้มันกลับกลายเป็นว่า เสียงบน Twitter นั้น กลับมีพลังมากกว่าเสียงของศาลฎีกาซะอีก หรือแม้กระทั่งอำนาจในการสั่งแบนหรือปลดล็อคแอคเค้าท์ของนักการเมืองหลายต่อหลายคน ก็เป็นประเด็นใหญ่เลยทีเดียว

ซึ่ง Ray บอกว่าในระบบบุคคลนั้น ถ้าทุกคนช่วยกัน มันก็อาจจะสามารถช่วยชะลอหรือยับยั้งไม่ให้ประเทศเข้าสู่กลียุคได้ เพราะอย่าลืมว่า สหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนั้น มีเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม, มี GDP ที่สุดยอด, มีคนเก่ง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย, มีทรัพยากรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ขอแค่ให้ทุกคนลองมองกลับไปที่ตัวเอง แล้วลองตรวจสอบดูว่า ณ ตอนนี้ เรากำลังใช้จ่ายมากกว่าที่หามาได้อยู่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ให้ลดภาระค่าใช้จ่ายหรือหารายได้ให้มากกว่ารายรับ

แล้วลองเช็คความสัมพันธ์กับคนรอบตัวดูว่า ณ ตอนนี้คุณมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ ก็ให้คุณทำดีกับผู้คนเข้าไว้ โดย Ray เขาได้ยกตัวอย่างจากภรรยาของเขา ที่คอยช่วยเหลือผู้คนในละแวกที่อยู่อาศัย ซึ่งในฐานะที่ตนนั้น เป็นผู้มีรายได้ที่มากและถือว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่าค่าเฉลี่ยในย่านดังกล่าว เธอก็ได้พยายามช่วยเหลือสังคมในด้านเกี่ยวกับการศึกษา ที่คอยซับพอร์ทนักเรียนที่ถูกตัดขาดจากระบบการศึกษาให้สามารถเข้าเรียนต่อจนจบระดับชั้นมัธยมปลายให้ได้ เพื่อที่สังคมจะได้ผลิตคนมีคุณภาพ ทำให้สังคมมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อาชญากรรมก็จะลดลงเป็นธรรมดา หากคนส่วนใหญ่มีการศึกษาที่ดี มีงานมีการทำ

ซึ่งตัวของ Ray เขาพบว่า ในรัฐคอนเนคทิคัตนั้น ได้ใช้งบประมาณไปมากกว่า $600 ล้านดอลล่าร์ฯ ไปในเรื่องของนักโทษในเรือนจำ ซึ่งมันเป็นเงินที่เยอะมาก ทั้ง ๆ ที่เงินก้อนนี้ควรจะนำไปใช้จ่ายในเรื่องของการศึกษาในกับเยาวชนที่จะกลายมาเป็นอนาคตของประเทศชาติ แต่กลับต้องเอามาใช้จ่ายในคุก ที่เอาไปขังวัยรุ่นที่ไม่ได้เรียนต่อและเข้าสู่การเป็นอาชญากรค้ายา ไม่ก็ทำผิดกฎหมายแทน

ในขณะที่ Ray เขาได้ศึกษางานจากประเทศสิงคโปร์ เขาพบว่า ประเทศนี้มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีการเก็บออมเงิน แถมเงินออมนั้นสามารถออกดอกออกผลสร้างรายได้ที่สามารถคลอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 20 เลยทีเดียว

ดังนั้น สิ่งที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถสร้างเอาไว้ให้แก่คนรุ่นหลังได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต นั่นก็คือ การออม การศึกษา และการอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมอย่างสงบสุข

แต่พอมองกลับมาที่อเมริกา คนรุ่นปัจจุบันกลับสร้างหนี้สร้างสิน, โครงสร้างพื้นฐานที่ล่มสลายและความขัดแย้งที่รุ่นแรง เอาไว้ให้คนรุ่นหลัง

ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่เข้าใจได้ไม่ยากนั่นก็คือ ถ้าทุกคนตั้งใจทำงานให้มีประสิทธิภาพ ใช้จ่ายให้น้อยกว่าที่หามาได้ ทำดีต่อกัน มันก็จะไม่มีปัญหา เพราะอย่าลืมว่า ประเทศก็คือมวลรวมของประชาชน หรือกลุ่มคนแต่ละคนเข้ามาอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้น ประเทศจะดีได้ ก็เกิดจากการร่วมมือกันของคนภายในประเทศนั่นเอง

ซึ่งทาง Lewis เขาก็เล่าว่า เขาเติบโตมาในยุค ’80 ’90 ที่จำความได้ว่า สมัยก่อนพ่อของเขาไม่เคยต้องล็อคประตูบ้านเลย เพราะเขารู้สึกได้ว่า เพื่อนบ้านในย่านนั้นเป็นคนดี มีอัธยาศัยที่ดี และบ้านก็พร้อมต้อนรับคนแปลกหน้า หากพวกเขามาขอพักหลับนอนสักคืน ซึ่งในยุคนั้นเขารู้สึกได้ว่าโลกของเรานั้นมันปลอดภัย

แต่ในยุคปัจจุบันตัวของ Lewis เขากลับรู้สึกว่า ถ้าวันไหนไ่ได้ล็อคประตูบ้าน จะต้องมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่โจรขโมยลักทรัพย์ก็อาจถูกดักทำร้ายได้จากคนแปลกหน้า หรือแม้แต่เพื่อนบ้านก็แทบไม่รู้จักกัน ไม่ไว้ใจกันเหมือนสมัยก่อน

Lewis เขาจึงถามกับ Ray ว่า ถ้าสมมติคุณมีพลังหยั่งกับธานอทที่ดีดนิ้วเสกได้ดั่งใจ เพื่อให้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้สิน ความขัดแย้งภายในประเทศ ประเทศกำลังเข้าสู่กลียุค เขาจะทำอะไรหรืออย่างไรได้บ้าง

โดย Ray บอกว่า ถ้าสมมติว่าเขาเป็นประธาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้น สิ่งที่เขาจะทำอย่างแรกก็คือ เขาจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีความเป็นกลางจากทั้งสองฝ่ายเพื่อที่จะทำหน้าที่ประสานงานให้พรรคทั้งสองฝ่ายเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะโดยปกติแล้วสมาชิกพรรคก็จะมีทั้งพวกที่สุดโต่งและพวกที่มีความเป็นกลางปะปนกันอยู่

ซึ่งเขาจะดึงคนที่มีความเป็นกลางและเฉลียวฉลาดที่สุดจากทั้งสองฝ่าย เข้ามาทำหน้าที่ในการประสานงานให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วจัดการกับพวกหัวรุนแรงของแต่ละฝั่ง เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่มีการประนีประนอมใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ยอมรับอีกฝ่ายอย่างสิ้นเชิง เรียกได้ว่าต้องตายกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้จะทำให้ระบบการบริหารประเทศล่มจมได้

และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขาจะทำเป็นอันดับแรก แล้วจากนั้นก็ค่อยเริ่มต้นทำงานด้วยทีมงานที่เป็นกลางและมีความสามารถสูง เพื่อบริหารประเทศต่อไป

3 – The changing world order

การเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจในอดีตที่ผ่านมาของโลกเรานั้น เกิดจากสงคราม ซึ่งมันก็เริ่มต้นมาจากความขัดแย้งภายในประเทศ และลุกลามไปสู่การขัดแย้งระหว่างประเทศ

โดยหากย้อนกลับไปในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นผู้ชนะสงครามในครั้งนี้ ซึ่งทำให้เขาสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีเงินเยอะที่สุดในโลก ซึ่งเงินในสมัยนั้นก็คือทองคำ ที่สหรัฐฯ นั้นได้ยึดและครอบครองมันเอาไว้เป็นจำนวนร้อยละ 80 ของทองคำที่มีอยู่ทั้งหมดบนโลก ณ ขณะนั้น และมีกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และมีส่วนแบ่งทางระบบเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งโลก ซึ่งนั่นทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจโลก การเงินโลก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า สถาบันการเงินระดับโลกส่วนใหญ่นั้นมีที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น สถาบัน IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ตั้งอยู่ใน Washington D.C. เพราะผู้ชนะเป็นผู้สามารถกำหนดกฎเกณฑ์และกติกาต่าง ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้น เมื่อทุกคนกลับมาจากสงคราม ก็ไม่อยากต่อสู้กัน ไม่อยากสูญเสีย ซึ่งไม่ว่าจะรวยจะจนก็ดูเหมือนจะต้องกลับมาเริ่มต้นตั้งตัวใหม่ ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวยแทบไม่มี มีการปรับโครงสร้างระบบใหม่ ทุกคนต่างมุ่งสู่การทำมาหากิน ทำให้ต่อมาบ้านเมืองเกิดความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขอันเนื่องมาจาก ไม่มีใครอยากต่อสู้กับอำนาจที่เด็ดขาดเบ็ดเสร็จ ดังนั้นต่างฝ่ายต่างจึงร่วมมือกันทำงานและสร้างสรรค์ผลงาน

ในช่วงนี้จะเป็นช่วงของทุนนิยม ที่ส่งเสริมให้ใครก็ตามที่มีไอเดียที่ดี ก็จะมีเงินทุนไหลเข้ามา ซึ่งจะยิ่งทำให้บ้านเมืองเกิดการเจริญรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดด รุ่งเรืองแบบสุดขีด ซึ่งนั่นคือข้อดีของระบบทุนนิยม แต่มันก็ตามมาด้วยข้อเสียนั่นก็คือ มันจะเริ่มเกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และเริ่มเกิดหนี้สินในระดับที่สูงขึ้น เพราะผู้คนเริ่มกู้เงินมาขยายธุรกิจ ซึ่งการเกิดความเหลื่อมล้ำที่สูงนั้น ก็เป็นเพราะระบบมันไม่ได้กระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง และเมื่อความมั่งคั่งกระจายไม่ทั่วถึง สำหรับครอบครัวที่ร่ำรวย พวกเขาก็สามารถมอบการศึกษาที่ดีให้แก่เด็ก ๆ ของพวกเขาได้ แต่ในขณะที่คนจนนั้นไม่สามารถให้ได้ นั่นจึงยิ่งทำให้ให้เกิดความขุ่นเคืองระหว่างชนชั้นมากยิ่งขึ้น

ต่อมาเมื่อประเทศขยายขีดสุด ก็เริ่มกระจายการค้าไปทั่วโลก กลายเป็นประเทศที่สามารถส่งออกสินค้า และมีการทำธุรกรรมในปริมาณที่มหาศาล และเมื่อกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางการค้า ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มเก็บออมเงินสกุลเงินของมหาอำนาจ กลายเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ นั่นหมายความว่าประเทศต่าง ๆ ให้ประเทศมหาอำนาจกู้ยืมเงินจากการเก็บออม เพื่อรอวันที่จะถอนเงินพร้อมดอกเบี้ยกลับคืนมาในอนาคต หรือจะพูดในทางตรงกันข้ามก็คือ ประเทศมหาอำนาจเริ่มเป็นหนี้ก้อนขนาดมหึมา

ส่วนคนรวยเมื่อมีเงินเยอะ ก็ใช้จ่ายเยอะ เริ่มใช้มากกว่าที่หามาได้ ส่วนคนจนที่ไม่ค่อยมีเงินอยู่แล้วก็กู้มาใช้อุปโภคบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นจึงเริ่มทำให้เกิดหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับบุคคล

และช่วงนี้พวกฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ที่อีกฝั่งต่อสู้เพื่อคนจนและคนชนชั้นกลางให้ได้รับการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง กับอีกฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อคนรวยเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับพวกเขา ก็เริ่มมีความขัดแย้งภายในประเทศกันมากยิ่งขึ้น

และในขณะเดียวกัน เมื่อมองไปภายนอกจากเดิมที่สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ามากที่สุดในโลก แต่ ณ ตอนนี้กลับมีประเทศจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งการส่งออกที่กลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งเมื่อ Ray ได้เดินทางไปพูดคุยกับผู้นำหลายต่อหลายประเทศ พวกเขาก็เริ่มตั้งคำถามว่า จะอยู่ฝั่งไหนดีระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน บ้างก็ตอบว่าถ้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพวกเขาเลือกจีน แต่ถ้าเป็นเรื่องทางการทหารพวกเขาเลือกอเมริกา และในที่สุดไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า หรือจะเป็นสงครามที่ส่งทหารไปรบกัน สุดท้ายมันจะมีผู้แพ้และผู้ชนะในสงครามดังกล่าว และผู้ที่ชนะสงครามดังกล่าว ก็จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกคนใหม่ ทำการจัดระเบียบโลกใหม่ เป็นการเริ่มต้น changing new world order และนั่นก็คือแพทเทิร์นการเกิด The Big Cycle

Indicator ที่เอาไว้วัดค่าในแต่ละประเทศ

Ray Dalio บอกว่าเขาพยายามจะไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวในการวัดค่าที่ควรจะเป็นในแต่ละประเทศ ซึ่งเขาจะใช้ indicator ที่เป็นเสมือนเครื่องวัดสุขภาพของแต่ละประเทศ ซึ่งมันสามารถใช้ทำนายอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ว่า ถ้าอินดิเคเตอร์ในปัจจุบันเป็นแบบนี้ ในอนาคตประเทศดังกล่าวจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร โดยในหนังสือจะมีอินดิเคเตอร์ทั้งหมด 18 ตัวแต่ตัวหลัก ๆ ที่สำคัญที่เขาใช้วัดค่า เช่น

Indicator แรกก็คือเรื่องของ financial หรือเรื่องของการเงิน, เรื่องของงบดุล, งบกำไรขาดทุนเป็นอย่างไร, มีการใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้หรือมีการใช้จ่ายมากกว่ารายได้, มีเงินออมมากน้อยแค่ไหน, เงินสำรองคงคลังเหลือเท่าไหร่ ฯลฯ

ต่อมาเป็นอินดิเคเตอร์เกี่ยวกับเรื่องของการศึกษา ซึ่งประเทศที่มี Level การศึกษาที่ดีจะบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ที่ดีและบ่งบอกสุขภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ซึ่งเมื่อประเทศนั้น ๆ มีการศึกษาที่ดีก็จะส่งผลให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นั่นก็หมายถึงมันจะมีความขัดแย้งที่น้อย ส่งผลให้มีการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี 

จะมาเป็นอินดิเคเตอร์เกี่ยวกับเรื่องของการคอรัปชั่น ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่มีอัตราคอรัปชั่นที่สูงประเทศก็มีแนวโน้มที่จะมีปัญหามากและมีแนวโน้มที่ถดถอย ซึ่งเรย์ดาลิโอบอกว่า อินดิเคเตอร์คอรัปชั่นนั้น มีค่าความเกี่ยวข้องสูงถึง 52 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถบ่งบอกอนาคตได้เลยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ประเทศจะเป็นอย่างไร ซึ่งบางทีมันก็มาในรูปแบบของระบบข้าราชการที่สามารถวัดได้ว่าระบบราชการในประเทศดังกล่าวเวลาที่มีคนมาขอยื่นเปิดธุรกิจใหม่ยากหรือง่าย อย่างประเทศที่มีแนวโน้มเจริญนั้นจะส่งเสริมให้ผู้คนสะดวกในการเริ่มต้นทำธุรกิจเพื่อทำตามความฝันอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะมีวลีที่ว่า  American Dream  ที่หมายถึงเป็นประเทศที่เปิดเสรีให้ใครก็ตามที่มีความฝันอยากจะเป็นคนร่ำรวยจากการทำธุรกิจเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่ในขณะที่บางประเทศการที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นจะยากมาก ใช้เวลายื่นเรื่องอย่างยาวนาน หรือมีกฎเกณฑ์และกฎหมายกีดกันคู่แข่งทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม

เป็นที่รู้กันดีว่าเรื่องของการเงินเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่กลับดันไม่มีสอนเรื่องของการเงินภายในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเลย ซึ่งที่ผ่านมาทาง Ray Dalio  ก็ได้พยายามเผยแพร่แนวคิดเรื่องของการเงิน การลงทุน มาโดยตลอด อยากให้เรช่วยแนะนำหน่อยว่าถ้าเป็นเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการเงินมีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้เหล่าบรรดาเด็ก ๆ ที่จะกลายมาเป็นอนาคตของประเทศชาตินั้นมีการศึกษาที่ดีโดยเฉพาะในเรื่องของการเงิน

โดยเรย์ดาลิโอก็บอกว่าเด็กๆควรได้รับการศึกษาเรื่องของ financial เรื่องของการเงินตั้งแต่อายุ 5 ขวบไปจนถึง 15 ปี ที่ทางระบบการศึกษาควรบรรจุหลักสูตรเอาไว้ให้เป็นมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาเงิน การออมเงิน การใช้จ่ายเงิน ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะเห็นเด็กรุ่นใหม่ๆเริ่มค้นพบตัวเองเร็วขึ้นซึ่งบางคนก็ค้นพบความฝันความถนัดตั้งแต่อายุ 12  ปี ดังนั้นหากพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการเงินพวกเขาก็จะสามารถใช้ความรู้ดังกล่าว นำไปวางแผนหรือต่อยอดความฝันของพวกเขา

ซึ่งเรื่องการเงินนั้นคุณไม่จำเป็นจะต้องจบด็อกเตอร์ถึงจะเข้าใจมัน มันเป็นเรื่องที่ง่ายๆไม่ซับซ้อนเช่น ใช้ให้น้อยกว่าที่หามาได้ พูดง่ายๆก็คือคุณซื้อของให้น้อยกว่าที่คุณขายของได้ รหัสอยากเริ่มต้นทำธุรกิจเปิดร้านขายน้ำมะนาวก็สามารถคำนวณได้ว่าจะต้องใช้ต้นทุนเท่าไหร่ จะต้องตั้งราคาขายเท่าไหร่จึงจะได้กำไร มีค่าใช้จ่ายแบบ fixed cost ตายตัวเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายแบบแปรผันเท่าไหร่

ส่วนที่ว่าทำไม Ray ถึงคิดว่าประเทศจีน กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ The Big Cycle นั้น Ray ได้เล่าว่า เขาได้มีโอกาสไปเยือนประเทศจีนตั้งแต่ปี 1984 โดย Ray บอกว่า เขาไม่ได้ไปเพื่อหาเงิน เพราะ ณ ตอนนั้นพวกเขาไม่มีเงินเลย ซึ่งเขาไปเผื่อสานสัมพันธ์และช่วยเหลือในด้านให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดหุ้น แล้วในช่วงเวลานั้นเอง ที่ Ray เขาพบว่า รายได้ประชากรต่อหัวของประเทศจีนนั้น เพิ่มขึ้นสูงถึง 26 เท่า จากก่อนหน้านี้ และอัตราความยากจน ที่วัดจากความหิวโหยของคนในประเทศ ที่เคยสูงถึง 88% กลับลดลงเหลือแค่เพียง 1% นอกจากนั้น อายุขัยเฉลี่ยของคนในประเทศยังเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 ปี ซึ่งเมื่อ Ray ดูค่า Indicator ต่าง ๆ จากทั้งหมด 18 ค่าแล้วก็พบว่า ประเทศจีนนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถเทียบเคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้เลยทีเดียว

ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน ตอนที่ Ray เขาไปเยือนประเทศจีนเป็นครั้งแรก เมื่อเขายื่นเครื่องคิดเลขให้กับคนจีน พวกเขาคิดว่ามันคือเครื่องมหัศจรรย์ แต่พอมาตอนนี้หากยื่น AI ให้พวกเขาดู ก็จะพบว่าหัวหน้าวิศวกรดานปัญญาประดิษฐ์หลายต่อหลายคนนั้นเป็นชาวจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นประเทศจีน ในด้านเทคโนโลยี สามารถขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันกับสหรัฐฯ ได้อย่างเต็มตัว

ส่วนความแข็งแกร่งทางด้านทางการทหารนั้น ณ ตอนนี้แม้ว่าทางสหรัฐอเมริกาจะมีฐานที่ตั้งมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แต่งบการทหารมันก็ได้กระจายไปตามประเทศต่าง ๆ ดังนั้น ถ้าหากเกิดสงครามทางการทหารจริง ๆ กองทัพสหรัฐก็ไม่ได้มีกำลังเหนือกว่าคู่แข่งแบบเบ็ดเสร็จเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว

ส่วนสงครามทางการค้า ตอนที่มีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียที่ถล่มยูเครนนั้น ก็จัดให้มีการโหวตว่า มีประเทศใดบ้างที่จะยกเลิกทำการค้ากับรัสเซียหรือจะยังคงทำการค้ากับรัสเซียอยู่ ก็ปรากฎว่า ประเทศอินเดียและประเทศจีนนั้น ไม่ได้เลือกข้างที่ยกเลิกการค้ากับทางรัสเซีย

นั่นจึงทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า โลกนั้นกำลังแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยในช่วง 2-3 ปี โลกของเราได้ผ่านมรสุมอย่างโรคระบาด covid-19 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาว ตลาดคริปโตฯ เละตุ้มเปะ ฯลฯ

ถ้าถาม Ray Dalio ว่า เขามีมุมมองอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะเกิดขึ้นกับโลกของเรา?

โดย Ray Dalio ก็บอกว่า สิ่งที่เขาเห็นก็คือ โลกจะพบกับภัยแล้งสลับกับภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ในท้ายที่สุดมนุษย์เรานั้นก็จะสามารถปรับตัวได้และเริ่มมีสิ่งประดิษฐ์ล้ำ ๆ ใหม่ ๆ ออกมา เช่นเทคโนโลยี AI ซึ่งต้องยอมรับว่า แม้ว่าเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปมาก แต่มันสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ทั้งในทางที่ดีและไม่ดีได้ด้วยเช่นเดียวกัน

แล้ว Ray มีคำแนะนำอย่างไรบ้างกับผู้คนในแต่ละวัย ที่ต้องเกิดมาเจอโลกในยุคนี้

โดย Ray ได้แบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 4 ช่วงใหญ่ ๆ ก็คือ

ช่วงแรก (น้อยกว่า 25 ปี) – คือช่วงที่คุณยังเรียนอยู่ในโรงเรียน ในช่วงนี้ให้คุณศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะออกไปใช้ชีวิตจริง ๆ ข้างนอกโรงเรียน

ช่วงที่สอง (อายุ 25 ถึง 45 ปี) – คือช่วงวัยทำงาน ซึ่งคุณจะพบว่า การใช้ชีวิตในช่วงนี้ มันยากกว่าที่คุณคิดเอาไว้ซะอีก เพราะเป็นช่วงที่ต้องดิ้นรน เพื่อตั้งตัว สร้างฐานะขึ้นมาให้ได้ แต่ก็มีข้อดีตรงที่ ในวัยนี้ คุณสามารถลุยได้เต็มที่ ล้มเหลวกี่ครั้งก็ได้ เพราะยังมีเวลามากพอให้ลุกขึ้นมาใหม่ได้เสมอ

ช่วงที่สาม (อายุ 45 ถึง 55 ปี) – เป็นช่วงที่ Ray บอกว่า เป็นช่วงที่เครียดที่สุดในชีวิต เพราะต้องแบกรับภาระทั้งส่งเสียลูก ๆ ให้เรียนจนจบ กับต้องคอยซับพอร์ทคุณพ่อคุณแม่ที่นับวันก็เริ่มแก่เฒ่า เจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ โดยจากสถิติ ในช่วงนี้ มีโอกาสเกิดการหย่าร้างที่สูงสุด เพราะภาระเยอะ ความเครียดเยอะ แถมยังต้องสร้างฐานะให้มั่นคงก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการเกษียณอายุ

ช่วงที่สี่ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) – ในช่วงนี้ Ray บอกว่า เป็นช่วงที่ส่วนใหญ่มีความสุขมากที่สุดในชีวิต เพราะนอกจากจะไปต้องคอยดูแลพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว ในฝั่งของลูก ๆ ก็เรียนจบ มีงานมีการทำกันหมดแล้ว โดยในช่วงนี้ ด้านการงาน ก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องมักใหญ่ใฝ่โตไปกว่านี้ พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ อยากใช้ชีวิตแบบชิล ๆ เริ่มไม่ค่อยยึดติดกับอะไร อะไรปล่อยได้ก็ปล่อยมันไป

ซึ่งคำแนะนำที่ Ray Dalio แนะนำให้ทุกคนหันมาทำก็คือ Meditation หรือการนั่งสมาธิ ซึ่งประโยชน์ที่เขาได้จากการนั่งสมาธิก็คือ มันทำให้เขาใจสงบ มีความสุขุมลุ่มลึก มีความใจเย็น เพื่อที่จะเตรียมใจให้นิ่งที่พร้อมที่จะรับกับสิ่งที่จะถาโถมเข้ามาในชีวิตจริง ซึ่งต้องยอมรับว่า ถ้าหากมีเรื่องเลวร้ายเข้ามาในชีวิตแล้วเรามีอารมณ์โกรธ ขุ่นมัว คิดลบ เราจะจัดการกับเรื่องดังกล่าวได้ไม่ค่อยดี จะมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดสูง ซึ่งถ้าหากเราใจเย็นมากพอ โดยให้เราถอยหลังออกมาก้าวหนึ่งเพื่อดูภาพรวม ภาพกว้างของปัญหาเหล่านั้น เราจะเห็นมันเป็นแค่เพียงว่า จะต้องตัดสินใจเลือกทางใดเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด เพราะชีวิตมันก็แค่การเลือกเส้นทางที่จะเดิน ดังนั้นให้คุณลองฝึกนั่งสมาธิ ทำสมาธิ ทำจิตให้นิ่ง ทำใจให้เย็น สุขุมเข้าไว้

โดยเขาเริ่มต้นฝึกสมาธิตั้งแต่ปี 1969 ถ้านับถึงปัจจุบันเขาก็ฝึกการทำสมาธิมาแล้วมากกว่า 50 ปี

ซึ่งการควบคุมจิตใจของเขานั้น มันก็ช่วยให้เขาผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของเขามาได้ ไม่ว่าจะเป็น ในช่วงที่เขาตัดสินใจลงทุนผิดพลาดในช่วงปี 1982-1984 ที่บริษัทเกือบล้มละลาย จนต้องขอยืมเงินคุณพ่อมาจำนวน $4,000 เพื่อเอามาใช้จ่ายในครอบครัว จนกว่าจะขายรถยนต์ออกไปได้

หรือแม้แต่ช่วงที่เขาสูญเสียลูกชายวัย 42 ปี ที่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไปในปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งแม้ว่าเขาจะรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ไม่อยากทำอะไรต่อทั้งสิ้น แต่ในท้ายที่สุด เขาก็เรียนรู้ที่จะยอมรับมัน เพราะชีวิตมันก็เป็นแบบนี้แหละ แต่จงอย่าเอาแต่โทษตัวเอง แต่จงยอมรับมัน เรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ว่าในวันนั้นมันจะเป็นวันที่มืดมน แต่พอวันเวลาค่อย ๆ ผ่านไป มันก็จะกลายเป็นความทรงจำดี ๆ ที่เคยมีต่อกัน และจงเรียนรู้ที่รักและใช้เวลากับคนที่เรารักให้คุ้มค่าทุกวินาทีที่ยังอยู่ด้วยกัน อย่าปล่อยให้เวลามันล่วงเลยสูญเปล่า

ซึ่งเขามองว่า เรื่องของความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เรา ใคร ๆ เกิดมาแล้วสักวันก็ต้องจากโลกนี้ไปอยู่ดี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

โดยเขามองว่า ชีวิตของคนเรานั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ ก็คือ

ช่วงแรก – คือช่วงการเรียนรู้และการช่วยเหลือพึ่งพาจากคนอื่น

ช่วงที่สอง – คือช่วงชีวิตที่เราสามารถตัดสินใจได้เอง และทำงานเพื่อให้ชีวิตไปสู่การประสบความสำเร็จ

ช่วงที่สาม – เป็นช่วงปลดพันธนาการจากภาระทั้งหมด ชีวิตเป็นอิสระ อิสระที่จะมีชีวิต อิสระที่จะตาย

ซึ่งสิ่งที่เขาพยายามทำก่อนตายก็คือ การส่งมอบชุดความรู้ทั้งหมด ที่ช่วยให้ชีวิตของเขานั้นประสบความสำเร็จทั้งในด้านของการใช้ชีวิตและด้านของการทำธุรกิจให้แก่คนรุ่นหลัง แม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม แต่ความรู้ที่เขาทิ้งเอาไว้นั้นจะยังคงช่วยให้ผู้อื่นที่ศึกษามัน ก้าวไปสู่ความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับตัวของเขาที่เขาเคยทำมันมาก่อนแล้วเช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ Ray Dalio เขาได้ให้คำจำกัดความของคำว่า Success หรือความสำเร็จ เอาไว้ว่า มันคือการที่เราสามารถใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการได้ ซึ่งอย่างตัวของ Ray นั้น เขาต้องการมีอิสระภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดั่งใจ ซึ่งโอเคแหละว่า เงินนั้น สามารถช่วยให้เขาสามารถทำในสิ่งต่าง ๆ ได้ดั่งใจ แต่ถ้าพูดถึงตัวของ ‘MONEY’ หรือตัวเงินเองแล้วนั้น ตัวมันไม่ได้มีคุณค่าอะไร เพียงแต่มันเป็นตัวที่นำมาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราอยากมี อยากได้ ได้ก็เท่านั้นเอง

ซึ่งคอนเซ็ปต์มันเรียบง่ายมากในเรื่องของการเงิน นั่นก็คือ ‘จงใช้ให้น้อยกว่าที่หามาได้’

ส่วนการประสบความสำเร็จในชีวิต ก็เรียบง่ายเช่นกัน นั่นก็คือ การมีอิสระในการทำในสิ่งที่คุณรัก และมีความสุขในการทำสิ่งนั้นไปตลอดช่วงชีวิตที่คุณเหลืออยู่บนโลกใบนี้

Resources