Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

2 กฏเหล็กการออมเงินให้รวย by Brian Tracy | Money Back to Basic EP.6

Brian Tracy นักธุรกิจ, นักพูดและนักเขียนด้านการพัฒนาตนเองชื่อดัง เจ้าของผลงานอย่าง Eat That Frog! กินกบตัวนั้นซะ ที่ ณ ปี 2020 เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $15 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 450 ล้านบาท ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออมเงินว่า

อิสรภาพทางการเงินเป็นของคนที่สามารถควบคุมการเงินของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการออมเงินก็เป็นหนึ่งในวิธีการควบคุมอนาคตทางการเงินของเราเอง โดยผู้ที่มีอิรภาพทางการเงินนั้นก็มักเริ่มต้นจากการออมเงินจากรายได้ในแต่ละเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 10% ขึ้นไป ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานจนถึงวัยเกษียณ เพื่อปกป้องความเสี่ยงทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และการออมเงินให้มีประสิทธิภาพนั้น มันก็มีกุญแจสำคัญอยู่ 2 ข้อด้วยกันก็คือ

กฎการออมข้อที่ 1 – จ่ายให้ตัวเองก่อนเสมอ Pay yourself first

เมื่อใดก็ตามที่คุณมีรายได้เข้ามา สิ่งแรกที่คุณจำเป็นจะต้องทำกับเงินก้อนนี้ก่อนก็คือ หัก 10% ออกให้ตัวเองก่อนเลย โดยเก็บเงินไว้จากบัญชีแยกออกมาแล้วห้ามแตะต้องเงินก้อนนี้เด็ดขาด เพราะนี่คือเงินกองทุนส่วนตัวของเราที่จะถูกนำไปสะสมในระยะยาว เพื่อรับประกันอนาคตทางการเงินของตัวคุณเองว่าหากเกิดอะไรขึ้น เงินก้อนนี้ก็จะช่วยให้คุณผ่านพ้นเรื่องการเงินไปได้อย่างปลอดภัย

ซึ่งสิ่งที่น่าทึ่งสำหรับคนเราก็คือ แม้ว่าเราจะเหลือเงินแค่ 90% เราก็สามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้โดยแทบไม่รู้สึกผลกระทบจากเงินที่หายไป ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ใช้เงินแบบ 100% ก็แทบไม่พอใช้อยู่แล้ว นั่นก็เพราะมนุษย์นั้นมีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่รอดได้ในทรัพยากรที่จำกัดได้เป็นอย่างดี และหลาย ๆ คนเมื่อคุ้นชินกับการออม 10% แล้ว ก็จะขยับการออมเป็น 15% 20% หรือมากกว่านั้น ซึ่งมันยิ่งทำให้คน ๆ นั้นมีความมั่นคงในการใช้ชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะพวกเขาไม่ต้องมาคอยกังวลว่าในอนาคตจะมีเงินใช้หรือไม่ หรืออย่างนักกีฬาบาสเก็ตบอล NBA เกษียณอายุอย่าง Shaquille O’Neal ที่ออมเงินมากถึง 75% เพื่อการันตีว่าในอนาคตหลังการเกษียณเขาจะมีเงินใช้ไปตลอดชีวิตอย่างไม่ขัดสน

กฏการออมเงินข้อที่ 2 – จงใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีและจากการลงทุน

ในกรณีที่เป็นบุคลธรรมดานั้น ตามกฎหมายเราจะต้องเสียภาษีเงินได้ตั้งแต่ 0% – 35% ขึ้นอยู่กับรายได้ที่เราได้รับในแต่ละปี ซึ่งหากแทบไม่มีการลดหย่อนใด ๆ เลยเราจะเสียภาษีหนักมาก ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่หลังจากหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ และหลังจากคิดภาษีแบบขั้นบันไดมาแล้วเรายังมีรายได้เกิน 5,000,001 บาท ขึ้นไป เราจะโดนภาษีเงินได้เพิ่มเข้าไปอีก 35% คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ เราจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,750,000.35 บาท พระเจ้าช่วยกล้วยทอด!!!

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า เงินตั้งล้านเจ็ด หากเราไม่มีการนำไปออมเงิน ลงทุน ก็ต้องเสียภาษีไปแบบเต็ม ๆ ซึ่งหากเรานำเงินก้อนนี้ไปบริหารการออมและการลงทุน ในทางกฎหมายจะมีตัวช่วยเพิ่มขึ้นมาให้อีกก็คือ จะมีค่าลดหย่อนภาษีได้อีกหลายบาท แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ต้องจ่ายภาษีเลยนะครับ เพราะยังไงในฐานะที่เราทำมาหากินในประเทศ ประชาชนทุกคนก็มีหน้าที่จ่ายภาษีเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้

ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีในการออมเงินและการลงทุนในกองทุนรวมอย่าง LTF และ RMF ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี มีลดหย่อนได้สูงสุดอยู่ที่ 5 แสนบาท ซึ่งแม้ว่าจะมีเงื่อนไขที่กว่าจะขายคืนกองทุนได้มาเป็นเงินสดก็ใช้เวลาหลายปี แต่จะเห็นได้ว่าอย่างน้อยเงินได้ที่เราอุตส่าห์มุมานะในการทำงานมาอย่างหนักหน่วงก็ไม่ได้หายไปซะหมด โดยเงื่อนไขเราก็สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละกองทุนกันดู เพราะเรื่องของการเงินเกี่ยวข้องกับตัวเราตั้งแต่เกิดยันตาย ดังนั้นจงให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ เพราะอิสรภาพทางการเงินเป็นของคนที่สามารถควบคุมอนาคตการเงินของตนได้นั่นเอง

Resources