Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Uncategorized

7 เหตุผลว่าทำไมคุณถึงยังไม่รวยสักกะที

จากสติถิของคนส่วนใหญ่หลังจากเกษียณอายุหลังวัย 60 ปี ไปแล้วนั้นพบว่า ร้อยละ 97 ประสบปัญหาทางด้านการเงิน มีเงินไม่พอใช้ หรือใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น หรือบางคนอยู่ได้ด้วยเงินเกษียณ แต่เมื่อเทียบกับรายจ่ายที่สูงขึ้น ค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ก็ทำให้อะไร ๆ ดูมีราคาแพงไปซะหมด พอป่วยกันทีนึงนี่ต้องเดือดร้อนถึงกับขายทรัพย์สินที่เคยสะสมเอาไว้อยู่มาใช้ แต่ในขณะที่คนอีก 3% นั้น กลับมีการเงินที่ดี เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตัวเองในบั้นปลายชีวิต ทีนี้เราลองมาดูเหตุผลกันว่า เพราะอะไรและเหตุใด ทำไมคนส่วนใหญ่จึงมีเงินไม่พอใช้ในวัยหลังเกษียณ

เหตุผลข้อที่ 1 – คุณคิดว่า เงินนั้นไม่สำคัญต่อชีวิตสักเท่าไหร่นัก

คุณคงเคยได้ยินประโยคสุดคลาสสิคที่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่องเงินคือ “เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต” หรือ “เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของฉัน” และคนส่วนใหญ่ที่พูดและคิดในทำนองนี้ก็คือ คนที่ไม่มีเงิน ซึ่งถูกส่วนหนึ่ง เพราะเงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แต่เงินสำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในโลกมนุษย์นี้ เพราะการเงินทำให้โลกก้าวไปข้างหน้า การมีเงินทำให้คุณสามารถดูแลครอบครัวและคนที่คุณรักได้ การมีเงินทำให้คุณรู้สึกปลอดภัย การมีเงินทำให้คุณอยู่อย่างสุขสบาย ซึ่งตัวเงินจริง ๆ นั้น มันมีหน้าที่เปรียบเสมือนกับเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้อะไร ๆ ต่อมิอะไรบนโลกใบนี้ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทีนี้ หากคุณยังนึกภาพไม่ออกว่าไอ้การที่พูดหรือคิดว่า “เงินมันไม่สำคัญต่อชีวิตฉันเลยสักกะนิด” โดยให้ลองเปลี่ยนการพูดแบบนี้กับเงินไปพูดกับคนที่คุณรักดู ไม่ว่าจะเป็น แฟน เพื่อน ครอบครัว แล้วพูดกับพวกเขาว่า “เธอไม่สำคัญกับชีวิตฉันเลยสักกะนิด” สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่ช้าก็เร็ว พวกเขาก็จะตีออกห่างจากคุณ และเช่นเดียวกันกับกรณีของเงิน หากพูดหรือคิดเช่นนั้นกับเงิน สุดท้ายแล้ว เงินก็เลือกที่จะอยู่กับคุณไม่นานแล้วพวกมันก็จากไป และในท้ายที่สุด คุณก็ได้กลายเป็นคนไม่มีเงินสมใจ

เหตุผลข้อที่ 2 – เพราะในโรงเรียนไม่เคยสอนคุณในเรื่องการเงินและความมั่งคั่งเลย

วิชาแรก ๆ ที่คุณนึกถึงเมื่อตอนที่เข้าเรียนคือวิชาอะไรกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์, เคมี, ชีวะวิทยา, ฟิสิกส์ ฯลฯ แต่กลับไม่พบเลยว่าในหลักสูตรมีการบรรจุเรื่องของ การเงิน, ความมั่งคั่ง, การลงทุน ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่วิชาในกลุ่มหลังนี้ เมื่อทุกคนเรียนจบไปแล้ว ต้องพบเจอกับมันแทบทั้งสิ้น แต่ในขณะที่วิชากลุ่มแรก หลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ตรูเรียนมาทำไมฟร๊ะ! ไม่เห็นได้ใช้สักกะติ๊ด”

เหตุผลเพราะ ระบบการศึกษาในโรงเรียนนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนเล่นเกมชีวิตแบบรัดกุม และจบมาเพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ทำตามคำสั่ง กฏระเบียบของที่ทำงานเป็นอย่างดี โดยคุณจะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า คนที่เรียนเก่ง ๆ เรียนจบสูง ๆ แต่กลับไม่รวยสักกะที เช่น ศาตราจารย์, ดอกเตอร์หรือคุณครู หรือคนเก่ง ๆ ที่เข้าไปทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ กลับเป็นลูกน้องของคนที่เรียนโคตรห่วยในโรงเรียน(แต่พวกเขาฉลาดมากในการเรียนรู้นอกห้องเรียนและในชีวิตจริง) นั่นเพราะหลักสูตรในโรงเรียนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนให้คนมีความมั่งคั่งนั่นเอง

เหตุผลข้อที่ 3 – คนในครอบครัวไม่เคยสอนเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ว่าพวกมันทำงานกันยังไง

เรื่องนี้ หนีไม่พ้นแม้กระทั่งลูกคนรวยที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบที่พ่อแม่อวยอย่างกับไข่ในหิน เลี้ยงด้วยเงินเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สอนวิธีคิด วิธีใช้เงินอย่างถูกต้อง นั่นอาจเป็นเพราะ พ่อแม่ของคุณรักคุณมากจนเกินไป จนทำให้ปรนเปรอลูกด้วยเงินแบบเต็มเหนี่ยว โดยไม่อยากให้ลูก ๆ ลำบากเหมือนเมื่อตอนที่พวกเขายังไม่รวย แต่หารู้ไม่ว่า นั่นก็ไม่ต่างกับสุภาษิตไทยที่ว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ความหมายโดยสรุปก็คือ อวยลูกตนเองมากเกินไปจนทำให้สิ่งที่ลูกตนเองทำผิดก็กลายเป็นถูก และเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นผู้ใหญ่ในสังคมก็กลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในที่สุด

เหตุผลข้อที่ 4 – คุณไม่เคยถูกสอนให้หาเงินจากช่องทางอื่นเลยนอกจากงานประจำ

คำสอนที่เรามักจะคุ้นเคยกับที่ครอบครัวสอนกันมาก็คือ ตั้งใจเรียน เรียนเก่ง ๆ ทำเกรดให้ได้ดี ๆ เพราะเมื่อเรียนจบแล้ว ก็จะได้มีโอกาสหางานดี ๆ เงินดี ๆ จากบริษัทใหญ่ ๆ ทำ แต่ในขณะที่บนโลกใบนี้ มีวิธีการหาเงินได้เป็นล้านวิธี ซึ่งหลักการที่เหมือนกันทุกวิธีเลยก็คือ การซื้อขายสินค้าหรือบริการที่มีคุณค่าที่คุณสร้างขึ้น แล้วผู้คนก็ยินดีที่จะใช้เงินเพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการที่คุณมีนั่นเอง ไม่ว่าสินค้าหรือบริการของคุณจะเป็น แรงงาน, สินค้า, บริการ, ไอเดีย, ทักษะ ฯลฯ

เหตุผลข้อที่ 5 – สื่อหลักและการโฆษณาต้องการให้คุณเป็นผู้บริโภคโดยสมบูรณ์

สื่อและการโฆษณาในกระแสหลักนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภค ทั้ง ๆ ที่ตัวผู้บริโภคเองนั้น กลับซื้อในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ต้องการ, ซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งซื้อในสิ่งที่คุณไม่ชอบแต่เพียงเพื่อให้คนอื่นชอบคุณด้วยซ้ำไป

จนถลำลึกไปถึงขั้นที่ว่า หาก ณ ตอนนี้คุณไม่มีเงินสด คุณก็สามารถใช้บัตรเครดิตรูดไปก่อนได้แล้วค่อยชำระเมื่อเงินเดือนออก และเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณชำระเงินไม่ทันสิ้นเดือน จนกระทั่งขอผัดผ่อนเป็นการชำระเงินขั้นต่ำแทน ทีนี้ดอกเบี้ยที่คุณถูกรีดจากบัตรเครดิต ก็ทำให้คุณโงหัวแทบไม่ขึ้น หลายคนมีบัตรเดียวยังไม่หนำใจ ต้องมีบัตรที่สอง บัตรที่สาม บัตรที่สี่ วนเวียนกันไปจนกลายเป็นหนี้แบบไม่รู้จบ ทีนี้หนักเข้ามันก็จะลามไปถึงการเอารถ เอาบ้านไปจำนอง เพื่อนำเงินมาหมุนหนี้บริโภค คุณก็กลายเป็นหมากตัวหนึ่งของเกมการเงินของสถาบันการเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคุณเองก็คือคนที่สร้างผลกำไรจากดอกเบี้ยที่พวกเขาคิดจากคุณอีกทีนั่นเอง

เหตุผลข้อที่ 6 – คุณมีทัศคติที่ไม่ดีกับคนรวย

ซึ่งการมีทัศคติที่ไม่ดีกับคนรวยนั้น คุณอาจจะรับรู้จากสื่อมีเดียต่าง ๆ ผ่านทางโฆษณา ละคร ภาพยนตร์ ว่าตัวโกงมักจะเป็นคนรวยอยู่เสมอ หรือไม่คุณก็ไม่ยินมาจากครอบครัว เพื่อนฝูง ว่าคนรวยไม่ดี คนรวยตะหนี่ขี้เหนียว คนรวยเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น คนรวยเป็นคนเลวทั้งนั้น และร้อยทั้งร้อยกับคนที่พูดหรือคิดในทำนองนี้ พวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นคนถังแตกกันแทบทั้งสิ้น เพราะจริง ๆ แล้ว เงินเปรียบเสมือนเครื่องมือชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ใช้แสดงตนหรือส่งสารของผู้ใช้ไปได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากคนใช้เป็นคนไม่ดี เงินก็จะช่วยให้พวกเขาทำเรื่องไม่ดีได้อย่างมหาศาล แต่ในทางตรงกันข้าม หากผู้ใช้เงินเป็นคนดี เงินก็จะทำให้พวกเขาทำดีได้อย่างมหาศาลเช่นกัน

ซึ่งคำถามแรกที่คุณควรถามกับตนเองก่อนก็คือ “คนรวยเป็นคนไม่ดีจริง ๆ หรือ?” และหากคำตอบของคุณคือ คนรวยเป็นคนไม่ดี ชาตินี้คุณก็จะไม่มีวันรวย

เหตุผลข้อที่ 7 – คุณไม่มีความรับผิดชอบต่ออนาคตทางเงินของตัวคุณเอง

หากตอนนี้ การเงินของคุณมันห่วย แถมคุณยังชี้นิ้วโทษคนนู้นคนนี้ว่าเป็นเหตุที่ทำให้คุณยากจนข้นแค้น โทษรัฐบาลว่าห่วยแตก โทษเศรษฐกิจไม่ดี โทษคนในครอบครัว โทษเพื่อนร่วมงาน โทษหมา โทษแมว โทษฟ้าโทษฝน แต่กลับไม่เคยคิดจะโทษตัวเองเลย เพราะทุกครั้งที่คุณยกมือขึ้นชี้นิ้วด่าคนอื่นอยู่นั้น ในมือของคุณกลับมีอีกตั้งสามนิ้วที่ชี้มาหาตัวคุณเอง

ดังนั้น หากการเงินวันนี้ของคุณมันห่วย นั่นเป็นเพราะความรู้ทางการเงินของคุณมันห่วยเองต่างหาก และเมื่อคุณรับรู้ว่าตนเองมันห่วยเรื่องการเงิน สิ่งที่คุณจะตระหนักได้ก็คือ ถ้าเช่นนั้น  ตัวเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องการเงินให้มากขึ้น เรียนรู้ช่องทางการเงินด้วยวิธีใหม่ ๆ เรียนรู้การบริการการเงิน เรียนรู้การออมเงิน เรียนรู้การนำเงินไปลงทุน แต่หากคุณยังบ่นอีกว่า ทุกวันนี้ทำงานหาเงิน ก็แทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว ทีนี้คำถามที่คุณควรถามตัวเองก็คือ หากวันนี้คุณยังมีเวลาเล่นเกม ดูหนังอยู่ นั่นแสดงว่าคุณยังมีเวลาเหลืออยู่ แต่คุณเลือกที่ใช้ไปกับอย่างอื่นแทนมากกว่า ซึ่งคุณไม่จำเป็นที่จะต้องงดดูหนัง งดเล่นเกม เพียงแต่ให้คุณจัดสรรเวลาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการเงินให้มากกว่ากิจกรรมยามว่าง แล้วลองดูผลลัพธ์ว่า ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปดีขึ้นจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับตัวคุณเองในอดีตที่ผ่านมา ที่ไม่เคยสนใจหาความรู้ในเรื่องเงินมาก่อนเลย

และหากคุณหลีกเลี่ยงและสามารถแก้ไขปัญหาทั้ง 7 ข้อนี้ได้ คุณก็เข้าใกล้การเข้าสู่การเป็นคนในกลุ่มของ 3% ที่มีฐานะทางการเงินและความมั่งคั่งได้เช่นเดียวกัน

Resource