Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Interview

ถอดบทเรียนสู่จุดสูงสุดของ Sundar Pichai จากเด็กอินเดียสู่ CEO บริษัท Google ที่มหาวิทยาลัย Standford | Blue O’Clock Podcast EP. 63

Sundar Pichai ชายผู้มีเรื่องราวชีวิตที่น่าทึ่ง จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในประเทศอินเดีย สู่ตำแหน่งการเป็น CEO ของ Google และ Alphabet บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก

โดยในเนื้อหานี้เราจะไปฟังมุมมองเชิงลึกของ Sundar Pichai ที่มีต่อโลกยุค Digital บทเรียนและคุณค่าที่เขายึดถือ รวมถึงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของ AI และเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกของเรา ที่เขาได้มีโอกาสไปพูดที่ ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้รุ่นน้องฟัง

โดยบทสนทนาได้เริ่มต้นที่ประสบการณ์ในวัยเด็กของ Sundar Pichai ที่เขาเติบโตในประเทศอินเดีย ท่ามกลางการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัดในสมัยนั้น โดยเขาได้ยกตัวอย่างว่า เมื่อก่อนเขาต้องเดินทางไกลหลายชั่วโมงเพื่อไปรับผลตรวจเลือดของคุณปู่จากโรงพยาบาล เพียงเพื่อฟังว่าผลตรวจยังไม่ออก ค่อยมาใหม่พรุ่งนี้ มันทำให้เสียเวลาในการเดินทางเป็นอย่างมาก จากนั้นครอบครัวเขาก็ขอเข้ารอคิวเพื่อรับการติดตั้งโทรศัพท์แบบที่ใช้มือหมุน ที่มีคิวยาวนานถึง 5 ปี

แต่ทันทีที่มีโทรศัพท์ เขาก็สามารถโทรไปถามผลการตรวจเลือดก่อนเดินทางไปโรงพยาบาลได้ แค่นี้ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปมากแล้ว

นอกจากนั้นการที่ผู้คนมาใช้โทรศัพท์ที่บ้านของเขา ก็ทำให้เห็นถึงพลังของการสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ก็ได้ปลูกฝังให้ Sundar Pichai ได้เห็นถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีตั้งแต่ในวัยเด็ก

ต่อมาตอนที่ Sundar Pichai โตขึ้น เขาได้มีโอกาสเข้ามาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Standford ซึ่งทำให้เขาได้สัมผัสกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาได้เห็นห้องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สวีทฮอลล์” ที่เต็มไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียงรายกันอยู่เป็นตับ

ซึ่งภาพที่เห็นนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับ Sundar Pichai เป็นอย่างมาก เพราะเขาไม่เคยได้เห็นการเข้าถึงเทคโนโลยีในระดับนี้มาก่อนเลยในประเทศอินเดีย มันจึงเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนโลกทัศน์และชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้เขาตระหนักถึงศักยภาพมหาศาลของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตว่าจะสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาชีวิตผู้คนได้อย่างกว้างขวางมากเพียงใด

และนอกจากนี้ Sundar ยังได้แรงบันดาลใจอย่างสูงจากโครงการ “One Laptop Per Child” ของนักคอมพิวเตอร์ชื่อดังอย่าง Nicholas Negroponte ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างแล็ปท็อปราคาถูกให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อใช้ในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเกี่ยวกับด้านดิจิทัล

โดยโครงการนี้มันได้สอดคล้องกับความฝันของ Sundar มาก เพราะเขาเองก็โตมาจากพื้นเพที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี และได้เห็นกับตาว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ขนาดไหน ดังนั้นแนวคิดที่จะทำให้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือยเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขามุ่งมั่นทำงานในด้านนี้ตลอดมา

และเขาก็ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยผู้คนอย่างเช่นการผลิตโทรศัพท์ราคาถูกผ่านระบบ Android หรือการนำอินเทอร์เน็ตมาสู่คนอีกนับพันล้านคนผ่าน Browser อย่าง Chrome ล้วนเป็นเป้าหมายที่ Sundar ยึดถือและนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง

โดย Sundar Pichai เขาได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจาก IIT อินเดีย ปริญญาโทสาขาวิศวกรรมวัสดุจากสแตนฟอร์ด และปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ส่วนระดับปริญญาเอก ถึงแม้เขาจะได้เข้าเรียนแต่ก็ไม่ได้จบการศึกษาในระดับนี้ เพราะตัดสินใจไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมแทน ซึ่งมันก็ทำให้คุณพ่อของเขาผิดหวังอยู่บ้างที่ไม่ได้จบเป็นดอกเตอร์

ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ได้เข้ามาทำงานที่ Google ในปี 2004 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต เพราะสิ่งที่ทำให้เขาประทับใจมากก็คือ วัฒนธรรมองค์กรของ Google ที่เปิดกว้างทางความคิด เต็มไปด้วยผู้คนที่มากความสามารถ กล้าคิดนอกกรอบ และได้สัมผัสเทคกับโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก ๆ

โดยที่ Google ผู้คนมีอิสระในการทำงาน พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลทั่วทั้งบริษัท

ส่วนผู้ใช้งาน Products ของ Google อย่างเช่น Search Engine ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกันทั้งโลก ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับปรัชญาที่ Sundar เชื่อมั่นมาตลอด ก็คือการนำเทคโนโลยีไปสู่ผู้คนในวงกว้าง การทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารได้ จึงไม่แปลกใจที่เขาจะรู้สึกชื่นชอบและอยากทำงานที่ Google ต่อไปเรื่อย ๆ

ซึ่งโครงการอย่าง Google Chrome เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ช่วงแรกที่ Sundar ดูแล เขาเล่าว่าตอนแรกเกือบโดนซีอีโอ Eric Schmidt ตวาดเพราะไม่เห็นด้วยที่ Google จะทำเบราว์เซอร์เอง ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายสูงและตลาดมีคู่แข่งอยู่แล้วมากมาย

แต่ Sundar มั่นใจว่าเว็บเบราว์เซอร์คืออนาคตของโลกอินเตอร์เน็ต เขาจึงแอบรวมทีมขนาดเล็กมาทำโปรเจค Chrome อย่างลับ ๆ โดยไม่บอกใคร จนกระทั่งมีตัวต้นแบบออกมาให้เห็น จากนั้นเขาจึงนำไปเสนอให้ผู้บริหารดู จนประทับใจและอนุมัติให้ดำเนินการต่อ จนกลายเป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน

เรื่องนี้มันสอนให้เห็นถึงพลังของการรวมกลุ่มกันของคนไม่กี่คนที่มีใจรักและมุ่งมั่น ซึ่งสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ แม้ในตอนแรกจะไม่มีใครเชื่อก็ตามที

หากย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นของ Google ซึ่งมีทีมขนาดเล็กมากนั้น วัฒนธรรมขององค์กรได้มีความแตกต่างจากบริษัทอื่นอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้คนมีแต่ความคิดในเชิงบวก พร้อมที่จะต่อยอดความคิดใหม่ ๆ ให้ไปได้ไกลกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสร้างบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์และก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น Sundar Pirchai ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากที่จะคงและรักษาวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้ แต่เรื่องของการสื่อสารและการมีส่วนร่วมกันภายในองค์กรเริ่มเป็นไปได้ยากขึ้น และองค์กรก็มีแนวโน้มที่จะเชื่องช้าลง เริ่มหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อบริษัทใหญ่โตขึ้น ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้บริษัทมีทรัพยากรมากกว่าแต่ก่อนมาก

ดังนั้นการรักษาวัฒนธรรม ในการสร้างนวัตกรรม การกล้าลองผิดลองถูก และการให้รางวัลกับความพยายามมากกว่าการให้รางวัลจากผลลัพธ์ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการขยายองค์กรให้ประสบความสำเร็จ

และหลังจากที่ Sundar ขึ้นมาเป็นซีอีโอของ Google ในปี 2015 เขาก็ได้วางแนวทางใหม่ให้กับบริษัท โดยกำหนดให้ใช้แนวคิดแบบ AI First ความหมายคือ ในทุกผลิตภัณฑ์และทุกบริการ ของ Google จะใช้ AI เป็นหัวใจหลักของการลงทุนวิจัยและการพัฒนาของบริษัท

Sundar มองว่า AI จะเป็นพลังปฏิวัติที่สั่นคลอนรากฐานของทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ไปจนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งหากเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ผ่านมาของโลก มันเป็นเหมือนคลื่นลูกใหม่ที่ซัดเข้ามา AI ก็จะเป็นยักษ์ใหญ่ที่จะมาซัดทุกอย่างจนพังทลายและต้องสร้างรากฐานใหม่ทั้งหมด นั่นคือนิยามของการปฏิวัติอย่างแท้จริง และมันกำลังจะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราในไม่ช้า

และเราสามารถเห็นความก้าวหน้านี้ได้อย่างชัดเจนในทุกปี ไม่ว่าจะเป็นความแม่นยำของการแปลภาษาแบบอัตโนมัติ การใช้ AI ในระบบการค้นหา หรืออย่างในระบบช่วยเติมข้อความใน Gmail

และทาง Sundar เชื่อว่านั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น สถาบันการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ยังต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อวางกรอบกำกับดูแล AI ที่เหมาะสมต่อไป เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งหากเทียบกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ในอดีต เราควรจะเริ่มคิดถึงประเด็นเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่รอจนมีปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยคิดวิธีแก้ไข

ซึ่งเมื่อพูดถึงอนาคตของ AI แล้ว หลายคนก็เกิดความกังวลว่ามันจะมาแทนที่มนุษย์และลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองลง แต่ในโลกหลังเกิดเหตุการณ์ covid-19 หลายต่อหลายคนก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเจอหน้ากันและมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในโลกจริง ๆ มากยิ่งขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีก็อาจทำให้เรารู้สึกแปลกแยกจากโลกจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดย Sundar ได้ตอบว่าจริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่เครื่องมือ เพราะสุดท้ายแล้วมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำมันไปใช้อย่างไร ซึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีจะเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เราในโลกจริงได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบริษัท เมื่อ Sundar กลายเป็นซีอีโอของ Google เขาก็พบว่าตัวเองต้องรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในหลาย ๆ ด้าน อย่างเช่น

ในปี 2018 มีการประท้วงของพนักงานเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในที่ทำงาน และในปี 2020 ก็มีข้อกล่าวหาว่า Google ปฏิบัติต่อพนักงานชนกลุ่มน้อยในทีม AI อย่างไม่เหมาะสม

ซึ่งทาง Sundar เขาก็บอกว่า ตัวของเขาเองรู้สึกขอบคุณที่บริษัท Google นั้น มีวัฒนธรรมที่ให้พนักงานแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผยตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งสำหรับตัวของเขาในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่นั้น การรับฟังเสียงของพนักงานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของและเป็นผู้ปกป้ององค์กรเองนั้น เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของ Google แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าใจบริบทของการตัดสินใจได้ทั้งหมดเสมอไป ดังนั้นเมื่อเกิดการประท้วงขึ้นมา สิ่งสำคัญคือผู้บริหารต้องรับฟัง ไตร่ตรอง ยอมรับในสิ่งที่ทำผิดพลาด และแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป

ต่อมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทางพนักงานของ Google ให้ความสนใจมากที่สุดในตอนนี้นั้น นั่นก็คือเรื่องอนาคตของรูปแบบการทำงาน

ซึ่งทาง Sundar เองเขาก็รู้สึกตื่นเต้นกับยุคใหม่นี้เป็นอย่างมาก โดยเขามองว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว Google เคยปฏิวัติวงการด้วยการนำเสนอสภาพแวดล้อมการทำงานแบบใหม่ที่สร้างสรรค์และมีชีวิตชีวา มีตั้งแต่สไลเดอร์ไปจนถึงโต๊ะปิงปอง ที่ทุกวันนี้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของออฟฟิศทั่วโลกไปแล้ว ซึ่งมันก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการทำให้ที่ทำงานน่าสนุกและเป็นกันเองนั้น มันไม่ได้ขัดแย้งกับการสร้างผลงานที่ดีเลย และการให้อิสระกับพนักงานก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

ดังนั้นการทำงานที่มีความยืดหยุ่น จึงเป็นโอกาสครั้งใหม่ในการปลดล็อคศักยภาพของผู้คน โดย Google จะส่งเสริมให้พนักงานสามารถทำงานจากสำนักงานสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกได้ กำหนดให้เริ่มต้นด้วยแนวทางแบบ 3:2 นั่นก็คือ มีการเข้าออฟฟิศ 3 วันและ WFH 2 วัน และยังสนับสนุนคำขอจากพนักงานที่ต้องการทำแบบ WFH แบบเต็มเวลาถึงร้อยละ 85 ของคำขอที่มีเข้ามาทั้งหมด

ซึ่งนี่จะช่วยให้ Google สามารถรับพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นได้มากยิ่งขึ้น เพราะบริษัทสามารถเข้าไปหาคนเก่งถึงที่ในชุมชนของพวกเขาเองได้เลย โดยไม่ต้องยึดติดกับการที่จะต้องเดินทางมาทำงานที่บริษัท จากนั้นก็ให้สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับพวกเขาได้ที่บ้านของพวกเขาเองได้เลย

ซึ่งทาง Sundar เองนั้นเขาเชื่อว่าการเปิดกว้างเรื่องสถานที่ทำงาน จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในการสร้างความหลากหลายและการมีส่วนร่วมภายในบริษัท และนอกจากนั้นยังช่วยลดความตึงเครียดในชีวิตประจำวันของพนักงานได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทาง หรือภาระทางครอบครัวต่าง ๆ

แถมทาง Google ยังเป็นผู้ให้บริการสถานที่ทำงานร่วมกันอย่าง Co-working Workspace ดังนั้นมันก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทดลองและปรับปรุงบริการของตัวเองไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งทาง Sundar เองเขาก็คาดหวังว่าแนวทางการทำงานแบบใหม่นี้ จะสร้างประโยชน์ให้กับทั้งธุรกิจและสังคมในระยะยาวอย่างแน่นอน

ก่อนจบการสัมภาษณ์ในงานนี้ ทาง Sundar Pichai ก็ได้ตอบคำถามปิดท้ายสั้น ๆ ที่ชวนให้นึกถึงตัวตนและแก่นแท้ของตัวเขา เมื่อเขาถูกถามว่า ‘อะไรคือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้คุณ’ โดย Sundar Pichai เขาตอบว่า “การได้เห็นคนรุ่นใหม่ได้เบ่งบานและพัฒนาขึ้น” ซึ่งเขาเชื่อมั่นเสมอว่าคนรุ่นใหม่จะไม่เพียงแค่สานต่อ แต่คนรุ่นใหม่พวกเขาจะสร้างโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน

Resources