Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Bitcoin and Cryptocurrency

ลงทุน Bitcoin ให้รวย สไตล์ Michael Saylor EP.1 ตอน กล้าที่จะเสี่ยง

ถ้าหากถามว่า ณ เวลานี้ หากเราต้องการที่จะเข้าสู่วงการการลงทุนใน Bitcoin แล้วต้องการนั่งคุยกับใครสักคน ตัวเลือกอันดับแรก ๆ ก็คงหนีไม่พ้นกับชายที่ชื่อว่า Michael Saylor ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Microstrategy บริษัทมหาชนที่มี Bitcoin ในครอบครองมากที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ ที่มี Bitcoin ในครอบครองอยู่ราว ๆ 125,051 BTC และส่วนตัวของเขาเองก็มี Bitcoin อยู่ที่ราว ๆ 17,732 BTC โดยในปี 2022 นี้ เขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $1.8 พันล้านดอลล่าร์ฯ หรือราว ๆ 6 หมื่นล้านบาท เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 1,818 ของโลก

โดยในคอนเท้นต์นี้ ทาง Michael Saylor ได้ให้สัมภาษณ์ในช่อง Youtube ของ Tom Bilyeu ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านคน จะมาแชร์แนวทางและวิธีคิดว่าเพราะเหตุใด เขาจึงเลือกที่จะลงทุนใน Bitcoin อย่างมหาศาลในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา

โดย Tom ได้เริ่มเปิดประเด็นแรกที่ว่า ย้อนกลับไปในช่วงก่อนการลงทุนใน Bitcoin นั้น แน่นอนว่าทาง Michael Saylor จะต้องเผชิญกับข้อโต้แย้งจากเหล่าบรรดา shareholder หรือผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วยกับเขาที่ ต้องการจะนำเงินในบริษัท Microstrategy ทั้งหมดไปลงทุนใน Bitcoin เพียงอย่างเดียว Michael คุณช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า คุณรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง

โดย Michael Saylor ก็ได้เล่าประวัติของตนเอง ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นก่อตั้งบริษัท เมื่อตอนอายุ 24 ปี ที่ ณ ตอนนั้น เขาแทบไม่มีทรัพยากรอะไรใด ๆ เลย โดยเฉพาะเงินทุน ที่เขาจำได้ว่า เงินก้อนแรกนั้นเป็นเงินกู้ราว ๆ $5,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 1.5 – 1.6 แสนบาท)

โดยลูกค้าเจ้าแรกของเขานั้น ได้เซ็นต์สัญญาว่าจ้างให้เขาเขียนซอร์ฟแวร์ตัวหนึ่ง ในราคาราว ๆ $250,000 แต่เนื่องจากตัวของ Michael Saylor เองนั้นไม่มีเงินทุน เขาจึงขอเบิกเงินล่วงหน้าจากนายจ้างเป็นจำนวน $100,000 ดอลล่าร์ เพื่อที่จะเริ่มต้นทำงานได้ ซึ่งนายจ้างก็บอกตามตรงว่า ปกติแล้ว พวกเขาไม่ได้ทำกันแบบนี้ เพราะโดยปกติ จะต้องส่งมอบสินค้าก่อนแล้วค่อยจ่ายเงิน นี่เล่นเบิกเงินเกือบครึ่งก่อนเลย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งการเจรจาครั้งนั้นก็ดันได้ผลซะงั้น ซึ่งอาจเป็นเพียงโอกาสเดียวในชีวิตที่ใครสักคนหนึ่งจะขอเบิกเงินก้อนใหญ่ก่อนที่จะเริ่มต้นงาน แต่เผอิญว่า เขาดันมีของที่นายจ้างต้องการเป็นอย่างมาก นั่นจึงทำให้การเจรจาในครั้งนี้เกิดขึ้นและดำเนินการต่อไปได้ เพราะการที่ไม่มีเงินทุนมากพอนั้น คุณทำอะไรแทบไม่ได้เลย

และจากจุดนั้น เขาก็ต่อยอดจากซอร์ฟแวร์ของตัวเอง สู่การสร้างระบบ simulation จำลองระบบบนคอมพิวเตอร์ จนบริษัทสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น $750,000 แล้วปีต่อมาก็ขยายเป็น $950,000 ต่อปี

จากนั้น เขาก็เริ่มพัฒนาซอร์ฟแวร์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของซอร์ฟแวร์ที่เรียกว่า Wingz ซึ่งมันจะคล้าย ๆ กับ Excel แต่ด้วยความที่ทีมงานของเขา พอรันโปรแกรมบน Excel แล้วมันไม่เวิร์ค แต่รันบน Wingz แล้วเวิร์ค

ซึ่งก็มีเพื่อนของ Michael Saylor คนหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้คำปรึกษานั้น ก็บอกว่าใช้ Wingz ไปไม่รอดหรอก นายต้องใช้ Excel เพราะ Excel มันได้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดไปแล้ว นายจะถูก Excel บดขยี้ หากนายยังดื้อที่จะใช้ Wingz ต่อไปนะ Michael

โดย ณ วันแรก ๆ นั้น ทั้งบริษัทของ Michael Saylor เอง กับบริษัทที่ปรึกษาของเพื่อนเขานั้นก็มีขนาดบริษัทพอ ๆ กันที่ประมาณ $1 Million ดอลล่าร์ฯ

แต่ด้วยความที่ Michael Saylor เขาบอกว่า เขายอมรับว่าหากมองในระยะสั้นนั้น มันไม่เวิร์คแน่ ๆ แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้วมันไปได้บน Wingz ดังนั้น เขาจึงเลือกที่จะพัฒนาซอร์ฟแวร์บน Wingz จนกระทั่งบริษัทก็เริ่มเติบโตขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก ๆ ปี จาก $1M เป็น $2M จาก $2M เป็น $4M จาก $4M เป็น $8M จาก $8M เป็น $16M ส่วนบริษัทของเพื่อนที่เป็นที่ปรึกษา ที่ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เลยนั้น เขาก็ยังอยู่ที่ $1M เท่าเดิม ในขณะที่บริษัทของ Michael Saylor นั้นโตขึ้น 16 เท่า จากการเลือกที่จะเสี่ยงทำอะไรที่มันแตกต่าง

แต่โอเคแหละว่า ในท้ายที่สุดในตลาดก็ถูก Excel กลืนกินจน Wingz ต้องถูกบีบให้ออกจากตลาดนี้ไป เขาก็เลยตัดสินใจที่สร้างผลิตภัณฑ์เดิมขึ้นมาใหม่บนภาษาคอมพิวเตอร์อย่าง Visual Basic ที่เป็นเทคโนโลยีของทาง Microsoft ซึ่งโอเคแหละว่า ณ ตอนนั้นส่วนใหญ่บริษัทมักจะเลือกใช้ภาษาคอมพิวเตอร์อย่าง C++ มีน้อยมากที่จะใช้ Visual Basic แต่ทีมวิศวกรของเขาบอกว่า พวกเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยใช้ภาษา C++ แต่สามารถใช้ Visual Basic ในการแก้ไขปัญหาได้ เขาจึงเลือกที่จะตัดสินใจโดยการเสี่ยงใช้ภาษา Visual Basic ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นั่นจึงทำให้ปีต่อมาบริษัทก็โตขึ้นเป็นสองเท่าอีกครั้งหนึ่ง จากเดิมอยู่ที่ปีละ $16M ก็โตเป็น $32M จาก $32M ก็โตเป็น $64M ในขณะที่เพื่อนของเขาที่เป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาก็ยังคงอยู่ที่ $1M ต่อปีเช่นเดิม

และพอถึงยุคแรก ๆ ของโลกอินเตอร์เน็ต เขาก็เริ่มพัฒนาซอร์ฟแวร์ที่สามารถรันบนภาษา html ซึ่งหลายต่อหลายคนก็บอกกับเขาว่า ไม่มีบริษัทใหญ่ ๆ ที่ไหนใครเขาใช้ html กันหรอก เพราะมันไม่เสถียร มีความเสี่ยง มันไม่ปลอดภัย

ซึ่งในเวอร์ชั่นแรกนั้น มีคนใช้ซอร์ฟแวร์ของเขาน้อยมาก จนกระทั่งเขาพัฒนาจนถึงเวอร์ชั่นที่ 3 ก็มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาใช้อย่างมากมาย และท้ายที่สุดบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ยอมพัฒนาซอร์ฟแวร์ให้ทันกับยุคอินเตอร์เน็ตต่างก็ต้องถูกบีบให้ออกจากตลาดนี้ไป แต่เขายังอยู่และเติบโตเพิ่มขึ้นจากจุดแรกสุดกว่า 200 เท่า จากการเสี่ยงที่จะตัดสินใจทำอะไรใหม่ ๆ และพัฒนาซอร์ฟแวร์ไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในขณะที่บริษัทที่ปรึกษาของเพื่อนเขานั้นยังอยู่ที่เดิมที่ $1M ที่ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ แต่บริษัทของเขาที่เลือกที่จะเสี่ยง กลับเติบโตเป็น $200M ต่อปี

ซึ่ง Michael Saylor เขาก็สรุปได้ว่า บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมให้คำปรึกษานั้น แม้ว่าจะไม่มีความเสี่ยง แต่ก็ไม่โต ในขณะที่บริษัทในกลุ่มของเทคโนโลยีนั้น ต่างเลือกที่จะยอมรับความเสี่ยง เพื่อพัฒนาบริษัทให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

ซึ่งพอมาถึงยุค Mobile Wave ยุคที่มือถือครองโลก เขาก็ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาซอร์ฟแวร์เริ่มต้นจากบนระบบ iOS ต่อมาก็ Android และต่อมายุคที่ Web Browser อย่าง Google Chrome ครองเมือง เขาก็พัฒนาซอร์ฟแวร์ที่เป็น plugin บน Chrome

ซึ่งคุณก็จะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่า หากอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มันก็จะมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 3-4 ปี มันก็เหมือนกับการที่สิ่งมีชีวิตบนโลกที่พยายามจะเติบโตขึ้น อย่างการลอกคราบของงู หรืออย่างหอยโข่ง ที่เปลือกของมันขดขยายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี ภายในแรงกดดันอย่างมหาศาลใต้ผืนน้ำในท้องทะเล เพื่อที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและอยู่รอดให้ได้ ซึ่ง Michael Saylor เขาก็มองว่า คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ก็เป็นเช่นนั้น คือการเติบโตภายใต้แรงกดดัน

ดังนั้นหากเราต้องการเดินไปข้างหน้า เราก็อย่าทิ้งสิ่งที่เคยทำมาในอดีต แต่จงนำมันไปปรับปรุง พัฒนาให้มันดียิ่งขึ้น กล้าที่จะเสี่ยงไปในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่คุณยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน กล้าที่จะเสี่ยงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต จึงจะเติบโตและอยู่รอดได้

ซึ่ง Tom Bilyeu เขาก็ยอมรับว่า Michael Saylor นั้น แสดงให้เห็นถึง Logic หรือตรรกะความคิดในการกล้าที่จะเสี่ยงกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ CEO ในแบบที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ที่มักจะไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวเสียตำแหน่งเก้าอี้ผู้บริหาร ในขณะ Michael Saylor นั้นเป็น CEO ที่กล้าเสี่ยงในการพัฒนาในตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยตัวของเขานั้นก็เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาแล้วอย่างโชกโชนหลายต่อหลายวิกฤต ตั้งแต่ยุคดอทคอมฟองสบู่แตกในช่วงปี 1990s ที่เขาเคยสูญเสียความมั่งคั่งในหุ้นบริษัทกว่า 98% ต่อมาก็เจอวิกฤติซับไพรม์ตอนปี 2008 และวิกฤต Covid-19 ที่ตัวของ Michael Saylor เองก็ยังสามารถนำพาบริษัทให้อยู่รอดได้

และด้วย Logic หรือตรรกะ ในการกล้าที่จะเสี่ยงกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่ง Bitcoin ก็คือเทคโนโลยีใหม่ ที่พึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 2009 แล้วนั้น ก็ไม่แปลกที่ทาง Michael Saylor นั้น เลือกที่จะยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนใน Bitcoin

โดยในตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่า First Principles หรือหลักการที่ Michael Saylor ใช้ในการลงทุนใน Bitcoin เขามีแนวคิดอย่างไรกับมัน

Resources