Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

วิธีกำจัดความยากจนให้หมดสิ้น by Rutger Bregman

Rutger Bregman คือนักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนชื่อดังชาวดัตช์ ได้มีโอกาสขึ้นพูดบนเวทีของ Ted Talk

โดยเขาได้เริ่มต้นด้วยคำถามที่ตัวของเขาเองนั้นเกิดความสงสัยว่า “เพราะเหตุใด ทำไมคนจน จึงมักตัดสินใจได้แย่?”

ซึ่งมันอาจจะเป็นประโยคเปิดประเด็นที่ค่อนข้างดูจะรุนแรงไปสักหน่อย

แต่เขาอยากให้ดูข้อมูลเหล่านี้ก่อนว่า

คนจนส่วนใหญ่นั้น มักมีหนี้สินเยอะ มีเงินออมน้อย สูบบุหรี่จัด ออกกำลังน้อย กินอาหารไม่ค่อยมีประโยชน์ ดื่มหนัก

(จน เครียด กินเหล้า!)

คำถามก็คือ WHY? ทำไมคนจนส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น?

คำตอบนั้น เคยมีคนให้คำตอบเอาไว้แล้วจากอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ Margaret Thatcher ว่า

“Poverty is a personality defect.”

แปลได้ว่า “ความยากจน คือความบกพร่องทางส่วนบุคคล”

หรืออาจจะแปลได้ง่าย ๆ ว่า คนจนคือคนที่มักมี bad habits หรืออุปนิสัยที่แย่

ซึ่งก็มีน้อยคนที่จะพูดในเรื่องของความจนอย่างตรงไปตรงมา

และแน่นอนว่า ต่างคน ต่างความคิด เพราะก็จะมีคนที่เห็นด้วยว่า คนที่จนก็ควรเป็นภาระที่คน ๆ นั้นก็ต้องรับผิดชอบกันเอาเอง

แต่ในขณะที่ความคิดเห็นฝั่งตรงข้าม ก็บอกว่า อันที่จริงแล้ว สังคมควรมีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาให้กับคนจน ให้พวกเขาสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง

แต่ไม่ว่าฝั่งไหน สิ่งที่ยังคงมีสมมติฐานเหมือนเดิมเลยก็คือ การโทษว่าคนจนนั้น พวกเขามีความบกพร่องส่วนตัวอยู่ แต่แน่นอนว่า หากพวกเขาสามารถเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนอุปนิสัยที่แย่ให้เป็นอุปนิสัยที่ดีได้ พวกเขาก็จะหลุดพ้นจากความยากจนได้ ขอแค่เพียงพวกเขาฟังคำแนะนำจากคนที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จ

ซึ่งตัวของผู้บรรยาย Rutger Bregman นั้น เขาเข้าใจมาตลอดว่าความยากจน มีสาเหตุเป็นแบบนั้น

จนกระทั่ง เขาก็ได้มาพบกับสมมติฐานใหม่ ๆ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เขาไปพบเข้าโดยบังเอิญ โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่ง ที่อุตส่าห์เดินทางไกลกว่า 8,000 ไมล์ เพื่อเดินทางไปศึกษาเรื่องความยากจนถึงประเทศอินเดีย

โดยเป็นการทดลองกับกลุ่มคนที่เป็นชาวไร่อ้อยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรายได้กว่า 60% ของพวกเขานั้น มักจะได้เป็นก้อน หลังจากที่พวกเขาได้ทำการเก็บเกี่ยวผลการเกษตรขายออกไป

หรืออาจจะสามารถอุปมาอุปมัยได้คร่าว ๆ ว่า ในครึ่งปีแรกก่อนการเก็บเกี่ยวนั้น พวกเขาเป็นคนขัดสน ยากจน เพราะยังไม่มีเงินจากการปลูกไร่อ้อย

แต่ในขณะที่ครึ่งปีหลัง หลังจากที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตและขายอ้อยออกไปแล้วนั้น พวกเขากลายเป็นคนรวย มีเงินก้อนใหญ่หลายแสนในทันที

ซึ่งสิ่งที่นักวิจัยขอความร่วมมือจากชาวไร่อ้อยนั้นก็คือ ขอให้พวกเขาทำแบบทดสอบเกี่ยวกับด้าน IQ โดนแบ่งการทดสอบเป็นสองช่วงก็คือ

  • ช่วงแรก : ก่อนเก็บเกี่ยว
  • ช่วงที่สอง : หลังเก็บเกี่ยว

ซึ่งผลการทดสอบนั้น ทำให้เขาประหลาดใจเป็นอย่างมาก ว่าเกษตรกรคนเดียวกัน แต่กลับมีคะแนน IQ จากแบบทดสอบแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะอันที่จริง คนเดียวกัน ก็น่าจะมี IQ เท่า ๆ เดิม

แต่ก่อนเก็บเกี่ยว ผล IQ ที่ออกมากลับแย่กว่าหลังเก็บเกี่ยวอยู่ถึง 14 คะแนน

ซึ่งคะแนนดังกล่าว หากยังนึกภาพไม่ออกว่า มันอยู่ระดับไหน Rutger Bregman เขาก็บอกว่า นั่นมันอยู่ในระดับที่เหมือนคนอดหลับอดนอนมาทั้งคืน หรือไม่ก็คนดังกล่าวมีผลกระทบมาจากโรคพิษสุราเรื้อรังเลย

จนกระทั่งในเวลาต่อมา เขาได้พบผลวิจัยจาก ศาตราจารย์ Eldar Shafir แห่งมหาวิทยาลัย Princeton หนึ่งในมหาวิทยาเก่าแก่และมีชื่อเสี่ยงมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความยากจน ซึ่ง ณ ขณะนั้นตัวของผู้บรรยาย Rutger Bregman ได้พบเจอกันในประเทศฮอลแลนด์ อัมสเตอร์ดัม บ้านเกิดของเขาอยู่

จนได้กำเนิดทฤษฎีใหม่ เกี่ยวกับความยากจนว่ามันคือ “Scarcity Mentality” หมายถึง “ความขาดแคลนทางความคิด”

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นที่เขาได้ศึกษาต่อมาก็คือ คน ๆ หนึ่ง จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เมื่อคน ๆ นั้นรู้สึกขาดแคลนบางสิ่งบางอย่าง แม้ว่าจะเป็นคน ๆ เดียวกัน

ซึ่งสิ่งที่ขาดแคลน ไม่ใช่แค่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึง การขาดแคลนเวลา การขาดแคลนอาหาร

ซึ่งคุณอาจจะลองนึกถึงตัวของคุณเองดู แล้วคุณจะสัมผัสได้ว่า ตัวคุณนั้นก็เป็น เช่น เวลาที่งานล้นมือ จนใกล้จะเวลาถึงเส้นตายของงาน คุณจะรู้สึกว่า คุณต้องการเวลาทำงานมากกว่านี้

หรือไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่คุณหิว คุณจะรู้สึกว่า จู่ ๆ คุณก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด อันเนื่องมาจากภาวะระดับน้ำตาลในเลือดของคุณเริ่มต่ำลง

ซึ่งสิ่งดังกล่าว มันจะทำให้คนเรานั้น เปลี่ยนโฟกัสจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไปเป็นสิ่งที่กำลังขาดแคลนอยู่ เช่น แทนที่จะโฟกัสที่ตัวงาน ก็กลายเป็นโฟกัสที่เวลากำลังนับถอยหลัง ติ๊กต๊อก ๆ

พอหิว โฟกัสคุณก็จะไปจดจ่ออยู่ที่ของกิน ทันที อาจจะเป็น ขนมหวานหรือเครื่องดื่มหวาน ๆ เย็น ๆ สักแก้ว

หรือแทนที่จะโฟกัสทำงานหาเงิน หรือหาลู่ทางใหม่ ๆ ในการทำเงิน แต่พอเหลือบไปเห็นบิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นที่จะต้องชำระในพรุ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ฯลฯ โฟกัสเราก็จะไปอยู่ที่หนี้สินในทันที

ซึ่ง Rutger Bregman เขาได้เปรียบเปรยให้เห็นภาพแบบกว้าง ๆ ว่า

ถ้าให้คน ๆ หนึ่ง คือเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่เอี่ยมสักเครื่อง แต่พอเอามันมาเปิดโปรแกรมต่าง ๆ ให้รันพร้อมกันนับสิบโปรแกรม ยังไงสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ก็จะทำงานช้าลง ทำงานผิดพลาด มีโอกาสแฮ้ง ค้าง หรือหยุดทำงานไปดื้อ ๆ เลยได้เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่คอมพิวเตอร์ก็ยังใหม่อยู่

ซึ่งคนจน พวกเขาก็กำลังก็กำลังประสบปัญหาในทองนั้นเช่นกัน

พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจงี่เง่า เพราะพวกพวกเขาเป็นคนงี่เง่า

แต่มันเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่พวกรายล้อมพวกเขาอยู่นั้น ส่งผลให้พวกเขาเป็นแบบนั้น

ซึ่งไม่ว่าใคร หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ ก็มีโอกาสตัดสินใจแย่ได้ทั้งนั้น

และเมื่อเขาได้รับข้อมูลที่ว่า เขาก็เข้าใจได้ในทันทีเลยว่า เพราะเหตุใดโปรแกรมการขจัดความยากจนที่ออกมานั้น ทำไมมันใช้ไม่ได้ผล

ยกตัวอย่างเช่น การให้การศึกษาแก่คนยากจนนั้น ก็มักไม่ค่อยได้ผล เพราะความยากจนไม่ใช่การขาดความรู้

โดยเขาได้ศึกษาผลวิจัยจำนวนกว่า 201 ชิ้น ก็พบว่า การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินนั้น แทบไม่มีใด ๆ เลย

แต่อย่าเข้าใจผิดว่า คนจนนั้น ไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย เพราะพวกเขาเรียนรู้แล้วดีขึ้น แต่การให้ศึกษาที่ดีเพียงอย่างเดียวนั้นยังคงไม่เพียงพอ

ดังคำกล่าวของศาตราจารย์ Eldar Shafir ว่า

“It’s like teching someone to swim and then throwing them in a stormy sea”

แปลได้ว่า “มันก็เหมือนกับเรากำลังสอนใครสักคนว่ายน้ำใหม่ ๆ แล้วจู่ ๆ ก็ส่งให้พวกเขาไปว่ายน้ำในทะเลที่กำลังมีพายุมรสุม มีคลื่นลมแรง อยู่ยังไงยังงั้น”

ทั้ง ๆ ที่แบบทดสอบวัด IQ ชาวไร่อ้อย นั้น เป็นแบบทดสอบง่าย ๆ ที่มีมานานกว่าร้อยปีแล้ว ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรที่ซับซ้อนในการวัดค่าดังกล่าวเลยซะด้วยซ้ำ

โดย George Orwell นักเขียนชื่อดังในอดีตเคยกล่าวเอาเกี่ยวกับแก่นแท้ของความยากจนเอาไว้ว่า

“Poverty annihilates the future.”

ความหมายก็คือ ความยากจนนั้นจะทำลายอนาคตจนไม่เหลือแม้แต่ซาก

คำถามต่อมาก็คือ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง ในการแก้ไขปัญหา การขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป?

ซึ่งที่ผ่านมามันเหมือนกับการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ยกตัวอย่างเช่น หากย้อนกลับไปในตัวอย่างเรื่องของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งแทนที่จะแก้ไขที่ซอร์ฟแวร์ เราก็แก้ไขที่ฮาร์ดแวร์โดยการเพิ่มหน่วยความจำให้เพียงพอเข้าไป

ถ้าเช่นนั้นการแก้ปัญหาความยากจน ก็คือการแจกเงินให้กับคนจนอย่างงั้นหรือ?

แจกเงินคนจนเนี่ยนะ จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้?

ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่

เช่น Dr. Martin Luther King Jr. ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวผิวสี ก็เคยออกมาพูดเช่นกันว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนที่ได้ผลนั้น ก็คือ

“Basic income guarantee.”

แปลได้ว่า การการันตีรายได้ขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน

มันคืออะไร?

คำตอบนั้นง่ายมาก มันก็คือเงินรายเดือนจากรัฐบาลที่แจกจ่ายให้แก่ประชาชน สามารถใช้จ่ายเพียงพอกับความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น ค่าอาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา ซึ่งเงินนี้เป็นเงินให้เปล่า เท่าเทียมกันทุกคน โดยที่ไม่ต้องมีข้อแม้ ข้อจำกัด ข้อบ่งใช้ หรือจะต้องให้คอยบอกว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว

ซึ่งมันไม่ใช่เงินแจกจ่าย ที่คนรับรู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณ แต่มันคือสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนในประเทศต้องได้รับ

ซึ่ง Rutger Bregman เขาก็ครุ่นคิดอยู่นานว่า แนวคิดการแก้ไขปัญหาความยากจน มันง่าย ๆ แค่นี้จริงหรือ?

ซึ่งหลังจากนั้นตลอด 3 ปี เขาก็ได้ไล่ศึกษาหาข้อมูล ค้นคว้าวิจัย จนกระทั่งเขาก็ไปพบกับผลการทดลองที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีดังกล่าวในเมืองแห่งหนึ่งที่เคยทำการทดลองและขจัดความยากจนได้เป็นผลสำเร็จ

เมืองดังกล่าวมีชื่อว่า Dauphin ในประเทศ Canada โดยย้อนกลับไปในปี 1974 ชาวเมืองทุกคนในเมืองดังกล่าว มีการประกันรายได้พื้นฐาน เพื่อรับรองว่า จะไม่มีใครในเมืองตกไปต่ำกว่าเส้นความยากจนแม้แต่คนเดียว

ซึ่งทุกอย่างกำลังดำเนินการไปได้ด้วยดี จนกระทั่งผ่านพ้นไป 4 ปี ก็ได้มีการเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคณะรัฐบาลชุดใหม่นั้น ก็เล็งเห็นว่า การทดลองดังกล่าวมันสิ้นเปลืองงบประมาณมากจนเกินไป สุดท้ายพวกเขาก็ได้ยกเลิกนโยบายการประกันรายได้ของชาวเมือง Dauphin ลง

เหล่านักวิจัยก็ทยอยช่วยกันเก็บเอกสารจำนวนกว่า 2,000 กล่อง แล้วก็จากไป

และหลังจากนั้น วันเวลาผ่านไปราว ๆ 25 ปี

ก็ได้มีศาสตราจารย์ชาว Canadian นามว่า Evelyn Forget ก็ได้มาพบกับกองพะเนินเอกสารดังกล่าว ซึ่งเธอก็ได้ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งไม่ว่าเธอจะใช้วิธีใดในการช่วยวิเคราะห์ก็ตามที ในท้ายที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองดังกล่าว กลับมีผลลัพธ์ออกมาเหมือนเดิมนั่นก็คือ มันได้ผล วิธีการดังกล่าว มันช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มันทำให้ประชาชนชาวเมือง Dauphin นั้น ร่ำรวยขึ้น มิหนำซ้ำพวกเขามีฉลาดขึ้นและมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าเดิมเพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย

จากกราฟจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่มีนโยบายประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน เด็ก ๆ มีผลการเรียนที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แถมในช่วงดังกล่าว ยังมีอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงมากถึง 8.5%

นอกจากนั้น ยังมีรายงานการใช้ความรุนแรงในครัวเรือนลดลงอีกด้วย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การประกันรายได้ ไม่ได้ทำให้พวกเขาขี้เกียจทำงาน หรือลาออกจากงาน แล้วรอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาล อย่างที่เราเข้าใจกัน

ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าว ก็มักจะออกมาคล้าย ๆ กันทั่วโลก ที่มีการทดลองการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน

ดังนั้น สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเรื่องดังกล่าว ก็คือ แทนที่จะรณรงค์บริจาคของใช้ บริจาคเสื้อผ้า บริจาคตุ๊กตา ให้แก่คนยากจน เปลี่ยนมาเป็นกดดันให้ทางรัฐบาลที่รับเงินเดือนจากภาษีของพวกเรานั้น จัดทำนโยบายประกันรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่ทำกับกลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ

พวกเราแค่ลองคิดเล่น ๆ กันดูว่า ถ้าความยากจนถูกขจัดไป ถ้าหากคนเราหมดความกังวลว่าสิ้นเดือนจะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าบิลต่าง ๆ ไปแล้วนั้น ผู้คนจะสาสมารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่มากแค่ไหน

เพราะต้องยอมรับว่า บางคนแม้ว่าจะมีความสามารถสูง แต่พอต้องมานั่งเครียดหาเงินจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ทันก่อนถึงสิ้นเดือน ไอ้ความคิดสร้างสรรค์ การโฟกัสจดจ่ออยู่กับงานก็ต้องหมดไป

แต่อันนี้ไม่นับพวกที่ใช้จ่ายเกินตัวนะครับ

ซึ่งการประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน เขาเชื่อว่า มันเป็นเสมือนการลงทุนในศักยภาพของประชาชน เพราะถ้าหากประชาชนอยู่ดี กินดี พวกเขาก็สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่

เพราะความยากจนนั้น มีราคาแพงเหลือเกิน

โดยตัวเลขคาดการณ์จำนวนเงินที่ใช้ไปกับเฉพาะเด็กที่ยากจนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีค่าใช้จ่ายสูงถึง $500,000,000,000 ดอลล่าร์ฯ ต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็รวมไปถึง ค่าบริการสุขภาพเด็ก ๆ อัตราการเลิกเรียนกลางคันที่สูง และอัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

นี่คือเงินที่จ่ายทิ้งไปเปล่า ๆ เป็นเงินที่ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเด็ก ๆ ดีขึ้นเลย

ซึ่งเงินที่จะนำไปใช้ในการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานของประชาชนนั้น อาจจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่เราคิดเอาไว้

ซึ่งถ้าหากเอาวิธีการที่ใช้ในเมือง Dauphin มาปรับใช้ก็คือ หากประชาชนคนใดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทางรัฐบาลก็จะช่วยเติมเงินให้จนพ้นเส้นความยากจน

ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้ประมาณการณ์คร่าว ๆ ว่า ตัวเลขดังกล่าว หากนำไปใช้กับสหรัฐอเมริกา ก็จะมีค่าใช้จ่ายราว ๆ 175,000,000,000 ดอลล่าร์ฯ หรือคิดเป็น 1 ส่วน 4 ของงบประมาณที่ใช้ในกองทัพ หรือคิดเป็น 1% ของ GDP ของประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นเอง

ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ก็จะช่วยให้ประเทศสหรัฐอเมริกา หมดสิ้นปัญหาความยากจนตลอดไป

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ใช่แค่คนจนหมดจากประเทศ แต่มันยังส่งผลกระทบต่อคนที่เหลือด้วย

แทนที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ จะพร่ำสอนลูกตนเองว่า “เรียนจบแล้วต้องออกไปทำงานหาเงินนะลูก” นั่นก็เพราะถ้าไม่ทำงานแล้วจะไม่มีกิน ไม่มีใช้ ให้พอเพียงต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของคนทั่วไป

จะดีกว่าไหมถ้ามีการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแล้ว คำสอนรุ่นพ่อรุ่นแม่จากนั้นก็อาจจะเป็น “ตั้งใจเรียนแล้วออกไปทำในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่รัก ให้ดีที่สุดนะลูก”

เพราะจากผลการทำแบบสอบถามของคนวัยทำงานกว่า 230,000 คน กว่า 142 ประเทศทั่วโลก พบว่า มีเพียงคนจำนวน 13% เท่านั้น ที่ตอบว่าพวกเขาชอบงานที่ทำอยู่

หรืออย่าง Brad Pitt พูดในภาพยนตร์ในเรื่อง Fight Club ว่า

“Working jobs we hate so we can buy shit we don’t need.”

แปลได้ว่า

“เรามักทนทำงานที่เกลียด เพื่อที่เราจะสามารถซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่เราไม่ได้ต้องการ”

(หรือแย่กว่านั้นก็เติมประโยคไปว่า และสิ่งของที่เราไม่ได้ต้องการเหล่านั้น เราก็ซื้อเพื่อไปอวดกับคนที่ไม่ชอบเราอีกต่างหาก)

ก็ในเมื่อเรามีผลการวิจัย เรามีตัวอย่างจริงปรากฎให้เห็น แล้วเราก็มีเครื่องมือที่จะทำสิ่งเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาได้แล้ว ทำไมจะไม่ลองทำดูล่ะ?

ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวลที่เขาจะพยายามจะสื่อก็คือ

“Poverty isn’t a lack of character; it’s a lack of cash”

by Rutger Bregman

“ความยากจนไม่ใช่เกิดจากการขาดอุปนิสัยที่ดี แต่ความยากจนเกิดจากการขาดเงินสดต่างหาก”

Resources