Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

ความคิดรวย VS ความคิดจน by Robert Kiyosaki พ่อรวยสอนลูก

Robert Kiyosaki เจ้าของผลงานเขียนหนังสือระดับขึ้นหิ้งขายดีทั่วโลกอย่าง Rich Dad Poor Dad พ่อรวยสอนลูก ที่แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้จะมีข่าวเกี่ยวกับการล้มละลายหนึ่งในบริษัทของเขา แต่นั่นก็ไม่ได้กระทบอะไรกับความมั่งคั่งของเขาสักเท่าไหร่นัก เพราะในปี 2020 นี้ เขายังมีสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ $80 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 2,400 ล้านบาท

โดยในโพสต์นี้ Robert Kiyosaki จะมาแชร์แนวคิดความแตกต่างระหว่างความคิดรวยกับความคิดจนว่ามันมีความแตกต่างอย่างไร ซึ่งจากประโยคดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่ได้ใช้คำว่า คนรวยกับคนจน แต่เลือกใช้คำว่า ความคิดรวย กับ ความคิดจน แทน เพราะ Robert Kiyosaki บอกว่า แม้กระทั่งตัวของเขาเองในบางครั้งก็ยังมีความคิดแบบจน ๆ อยู่ แม้ว่าเขาจะเป็นคนรวยก็ตามที แต่สิ่งที่ทำให้เขายังคงเป็นคนรวยได้อยู่นั้น คือการที่เขามีความคิดแบบรวย มากกว่าความคิดแบบจน ก็เท่านั้นเอง

โดย Robert Kiyosaki บอกว่า จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นคนจน คนชนชั้นกลาง หรือคนรวย นั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกันโดยทางกายภาพ เพราะแต่ละคนก็มีหนึ่งสมอง สองมือ สองเท้า เท่ากัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ การบ่มเพาะ หรือการถูกปลูกฝังเกี่ยวกับเรื่องของการเงินที่แตกต่างกัน

โดยเฉพาะการเรียนการศึกษาในสถาบันส่วนใหญ่ มักจะสอนให้เราตั้งใจเรียน ทำเกรดให้ดี ๆ เพื่อให้ได้งานดี ๆ ที่มีเงินเดือนเยอะ ๆ แต่โรงเรียนไม่ได้สอนว่าจะต้องทำยังไงถึงจะร่ำรวยได้

ซึ่งถ้าหากคุณเคยอ่านหนังสือ Rich Dad Poor Dad มาแล้ว จะมีอยู่ตอนหนึ่งที่พ่อรวยของเขา ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินเดือนให้กับตัวของเขา แม้ว่าจะให้เขาทำงานหรือทำตามคำสั่งสอนอะไรก็ตาม เพราะพ่อรวยบอกว่า การจ่ายเงินเดือนอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่มักสร้างความหายนะได้มากที่สุดในชีวิตของคุณเลยก็ว่าได้ เหตุผลก็เพราะ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณยินยอมที่จะรับเงินเดือน นั่นเท่ากับว่าคุณได้รับ Mindset หรือแนวความคิดของการเป็น Employee หรือการเป็นพนักงานประจำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพ่อจนของเขาที่ทำงานเป็นพนักงานรัฐ สิ่งที่เขาคิดในหัวอยู่ตลอดเวลาก็คือ รัฐบาลต้องจ่ายเงินฉันสิ รัฐบาลต้องให้เงินแก่ประชาชนสิ

ซึ่งสิ่งที่พ่อรวยจะสื่อ ท่านไม่ได้หมายความว่าเงินเดือนเป็นสิ่งไม่ดี แต่สิ่งที่เขาต้องการจะสื่อก็คือ เขาไม่ต้องการตกเป็นทาสของเงิน เพราะในฐานะการเป็นผู้ประกอบการต่อให้พ่อรวยนั้นล้มเหลวกับบริษัทแรก สิ่งที่เขาจะทำก็คือ ก็สร้างบริษัทใหม่ขึ้นมาสิ เขาไม่ง้อเงินเดือนหรอก เพราะเขาไม่ต้องการเอาแต่พึ่งพาเงินของคนอื่น เขาสามารถดูแลตัวเองเองได้ ดังนั้นต่อให้รัฐบาลในประเทศนี้ไม่ชอบขี้หน้าเขา เขาก็แค่ย้ายไปประเทศอื่นที่ต้องการผู้ประกอบการอย่างเขาก็เท่านั้นเอง

โดยสัดส่วนของ Entrepreneur หรือผู้ประกอบการมักคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เพราะการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้นั้น จะประกอบไปด้วยอยู่ 3 สิ่งก็คือ

  • Mindset
  • Skill sets
  • The different of rules

โดย Mindset หรือความคิดต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง Skill Sets หรือทักษะมาเป็นอันดับสอง และความแตกต่างของกฎการเล่นเกมการเงินมาเป็นอันดับสาม

ยกตัวอย่างเช่น กฏกติกาเกมการเงินของพนักงานประจำ ย่อมแตกต่างจากกฏกติกาเกมการเงินของผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก และเช่นเดียวกัน กฎเกมการเงินของบริษัทขนาดใหญ่ก็มีกฎกติกาที่แตกต่างกันกับกฎของ SME ดังนั้น Robert Kiyosaki จึงเลือกที่จะเล่นในเกมของบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีกฎกติกาที่เอื้อต่อการเป็นคนรวยได้มากที่สุด

โดยหากใครก็ตามที่อยากจะเดินเข้ามาสู่ในเส้นทางของการเป็นผู้ประกอบการ นี่คือคำแนะนำจาก Robert Kiyosaki ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้

โดย Robert Kiyosaki ได้เล่าย้อนกลับไปในสมัยอดีตของเขาว่า เมื่อตอนที่เขาทำงานอยู่ที่ประเทศ Puerto Rico กับบริษัท Xerox อยู่นั้น เมื่อวันทำงานสุดท้ายของเขาในฐานะพนักงานบริษัท เขาได้รับเช็คโบนัสเป็นจำนวนเงินประมาณกว่า $30,000 ดอลล่าร์ฯ หรือเกือบ ๆ 1 ล้านบาท ซึ่งมันเป็นวันที่เขารู้สึกแย่ที่สุดและดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่มันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ในด้านดีก็คือ เขาจะนำเงินโบนัสก้อนนี้เพื่อออกไปทำธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการดังที่เขาตั้งใจเอาไว้ ส่วนในด้านแย่นอกจากเรื่องของเงินที่เขาได้รับโบนัสมานั้น ส่วนหนึ่งต้องถูกนำไปจ่ายภาษีเงินได้แล้ว ก็ยังมีเพื่อนร่วมงานของเขาที่ชื่อ John จู่ ๆ ก็เดินเข้ามาและบอกกับเขาว่า “เฮ้! โรเบิร์ต ไม่นานเดี๋ยวคุณก็กลับมาที่บริษัทแล้ว” โรเบิร์ตเลยถามกลับไปด้วยความสงสัยว่า “ทำไม?” John เลยตอบกลับมาว่า “ก็เพราะเดี๋ยวคุณออกไปทำธุรกิจแล้วก็เจ๊ง แล้วก็กลับมาทำงานที่เดิมนี่แหละ 555+”

นั่นคือประโยคที่ทำให้โรเบิร์ตยั้วมาก เขาเลยสบถใส่จอห์นไปเล็กน้อย แล้วตอกหน้าจอห์นกลับไปว่า “ฉันไม่เหมือนนายหรอกจอห์น เพราะฉันรู้ว่า นายเคยลาออกเพื่อไปทำธุรกิจแล้วเจ๊ง นายก็เลยกลับมาทำงานง๊อก ๆ อยู่ที่บริษัทเดิมนี่ไง” “ส่วนฉันน่ะ ต่อให้ฉันล้มเหลว เจ๊งไม่เป็นท่า ฉันก็จะไม่กลับมาที่นี่อีกอย่างแน่นอน” “เพราะมันก็เหมือนกับลูกแหง่ที่ชอบพูดว่า เจ๊งก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็มีบ้านพ่อบ้านแม่ให้กลับมาซุกหัวนอน นายมันก็แค่ลูกแหง่แค่นั้นแหละ”

ซึ่ง Robert Kiyosaki ก็พูดสรุปว่า สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจาก John ก็คือ Attitude หรือทัศนคติในการเป็นผู้ประกอบการอย่างแรงกล้า ซึ่งเมื่อตอนที่เขาออกมาเดินในเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการ ได้ล้มเหลว ไม่มีเงินเดือน อยู่นานนับปี นั่นแหละคือตอนที่ตัวของเขานั้นได้กลายเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริงขึ้นมาแล้ว

โดยพ่อรวยเคยสอนเอาไว้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณกำลังลุยธุรกิจในช่วงที่แม้กระทั่งเงินเดือนที่จะจ่ายตัวเองไม่มีเลยซะด้วยซ้ำ เมื่อนั้นคุณจะอยู่ในสภาวะกระหายความสำเร็จ คุณจะเริ่มใช้สมองให้มากขึ้น ฉลาดในการดำเนินการมากขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่ทดสอบตัวของคุณเองด้วยว่า คุณจะยอมให้ตัวเองเดินในเส้นทางการหาเงินแบบผิดกฎหมายหรือไม่ จะหาเงินด้วยวิธีเทา ๆ วิธีที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้กิจการดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ หรือคุณจะเลือกในเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการที่เก่งขึ้น เจ๋งขึ้น เล่นในกฎกติกาอย่างใสสะอาด ถูกกฎหมาย

และนี่ประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากการเดินในเส้นทางของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อค้นหาว่าแท้จริงแล้วคุณเป็นใครกันแน่ ในสภาวะที่คุณไม่มีเงินเลยแม้แต่บาทเดียว

ทีนี้ลองมาดูกันว่า ความคิดภายในหัวของคนรวยนั้นเขาคิดกันอย่างไร โดย Robert Kiyosaki ได้ยกตัวอย่างเวลาที่เราไปซื้อนมกล่องที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้น เราก็มักจะหยิบมันขึ้นมาดูว่าวันหมดอายุคือเมื่อไหร่ แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่นั้นไม่เคยมานั่งทบทวนความรู้ในสมองของตนเองเลยว่า ความรู้ที่พวกเขามีในวันนี้และสั่งสมมาตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมานั้น มันจะยังสามารถใช้ได้ผลกับในอนาคตข้างหน้าอีก 20 ปีต่อจากนี้ได้อีกหรือไม่ ซึ่งหากใครก็ตามที่ยังคิดว่าความรู้ในอดีตยังสามารถใช้ได้อย่างแน่นอนในอนาคตข้างหน้าอีก 20 ปีนับต่อจากนี้ คุณกำลังเจอกับความซวยอย่างแน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น ตัวของเขาเองแทนที่จะรีบปลดหนี้ให้หมดไว ๆ เขากลับเลือกการเป็นหนี้มากยิ่งขึ้น โดยเขาได้ทำการ refinance กับอสังหาริมทรัพย์ที่เขาถือครองอยู่ เป็นจำนวนกว่า $300 ล้านดอลล่าร์ หรือเกือบ ๆ หมื่นล้านบาท เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการเปลี่ยนดอกเบี้ยเงินกู้จากเดิม 5% ไปเป็น 2.5% แทน ซึ่งผลจากการได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ในแต่ละเดือน เขาได้รับรายได้มากยิ่งขึ้น (ทั้ง ๆ ที่เป็นหนี้เพิ่ม) เพราะดอกเบี้ยลดลง ต้นทุนเขาก็ลดลง ส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้น

ในขณะที่กูรูหลาย ๆ คน ยังแนะนำผู้คนอยู่เลยว่า “จงอย่าเป็นหนี้เด็ดขาด” ในขณะที่ Robert Kiyosaki เขาใช้คำว่า “จงเรียนรู้วิธีการจัดการกับหนี้”

โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 1973 ตอนที่เขาพึ่งกลับมาจากสงครามเวียดนาม เพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยพ่อรวยพูดกับเขาว่า “โรเบิร์ต ลูกจงไปเข้าเรียนในสาขาการลงทุนใน Real Estate หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ซะ” เพื่อไปเรียนรู้วิธีการจัดการกับหนี้และจัดการกับเรื่องของภาษี

เพราะ หนี้กับภาษี ทำให้คนรวย รวยยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน หนี้กับภาษี กลับทำให้คนชนชั้นกลางและคนจน จนลง

ยกตัวอย่างจากอาชีพที่มีเงินเดือนสูง ๆ อย่างดอกเตอร์ หรือไม่ก็ทนายความ ที่ไม่รู้จักการจัดการกับภาษี ดอกเตอร์คนหนึ่งพึ่งคุยกับโรเบิร์ตไปว่า เขาสามารถทำเงินได้ทะลุ $1,xxx,xxx เหรียญฯ หรือประมาณกว่า 3x ล้านบาทได้แล้ว เย่! โดยโรเบิร์ตก็ถามคำถามกับด๊อกฯ ต่อไปว่า แล้วคุณเสียภาษีไปเท่าไหร่ล่ะด๊อกฯ ดอกเตอร์ก็เลยตอบกลับมาว่า ก็ประมาณ $750,000 หรือประมาณกว่า 22.5 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่าเงินสุทธิที่คุณหมอท่านนี้ได้รับก็จะอยู่ที่ประมาณ $400,000 หรือประมาณ 12 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 3 จากเงินที่ทำได้ทั้งหมด ซึ่งนั่นมันก็ไม่เลวเลยสำหรับคนทั่วไป

แต่สำหรับ Robert Kiyosaki แล้วนั้น เมื่อเขาหาเงินได้จำนวน $1,000,000 นั่นหมายถึง เขาสามารถเก็บมันไว้ได้ทั้งหมดจำนวน 1 ล้าน โดยจะต้องอยู่ในพอร์ทการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งของเขาแบบ 100% (อย่างถูกกฎหมาย)

ดังนั้นกฎข้อแรกที่คุณควรรู้ไว้ก็คือ จงอย่าทำงานเพื่อเงิน เพราะหากคุณทำงานอย่างหนักเพื่อเงิน คุณจะต้องจ่ายภาษีอย่างหนักด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการ เราจะต้องนำเงินที่หามาได้ นำไปสร้างธุรกิจ นำไปลงทุนในสินทรัพย์อย่างอสังหาริมทรัพย์ แต่เขาไม่ชอบการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะด้วยสไตล์ของเขาที่เขาชอบอะไรที่มันสามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง สามารถควบคุมรายจ่าย สามารถควบคุมรายได้ และสามารถควบคุมภาษีที่ต้องจ่าย และเวลาที่เขาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้น ภาษีที่เขาเสียก็คือ 0%

เพราะเมื่อเขาได้เงินมาจำนวน $1 ล้านเหรียญฯ เขาก็จะนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในอสังหาฯ ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ทุก ๆ ครั้งที่เขาลงทุนในอสังหาฯ เขาจะได้เงินจากธนาคารมาช่วยสมทบอีก $4 ล้านเพิ่มเติมอีกด้วย นั่นคือเหตุผลที่เขารักธนาคารเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในขณะที่ธนาคารเริ่มปริ้นท์เงินให้กับคนรวยอย่างเขา แต่คนที่ซวยคือคนตั้งหน้าตั้งตาออมเงินไว้ในธนาคารอย่างเดียว เพราะเมื่อเงินในระบบมีมากขึ้น ก็จะเกิดเงินเฟ้อ หรือทำให้มูลค่าของเงินในธนาคารมีค่าลดลง ซื้อของได้น้อยลง ทั้ง ๆ ที่ก็มีตัวเลขในธนาคารเท่าเดิม และนอกจากนั้นคนที่ทำงานเพื่อเงินก็จะซวยตามไปด้วย เพราะเมื่อได้ค่าจ้างมาเยอะก็ต้องเสียภาษีเยอะขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ค่าเงินเฟ้อก็ทำให้เงินซื้อของให้น้อยลง

และนี่คือเหตุผลว่าทำไม การจัดการกับหนี้และการจัดการกับภาษี จึงทำให้คนรวย รวยยิ่งขึ้น แต่คนชนชั้นกลางและคนจนกลับจนลง

ดังนั้นการมีความรู้ที่ล้าสมัยก็จะได้ผลลัพธ์ที่ล้าสมัยตามไปด้วย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ ซึ่งชุดความรู้แบบเก่า ๆ ที่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตาม ๆ กันมาก็คือ การเข้าเรียนในโรงเรียน เพื่อให้ได้งานทำตอนจบ แล้วก็จะต้องทำงานหนัก เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเยอะ ๆ จากนั้นก็ต้องออมเงินเยอะ ๆ ปลดหนี้ให้หมด และซื้อบ้านเสมือนเปนการลงทุนในสินทรัพย์ในระยะยาว ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่ตกยุคมาก ๆ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

จริง ๆ แล้วโลกมันเปลี่ยนไปตั้งแต่ในปี 1971 ที่ประธานาธิบดี Richard Nixon

อนุมัติให้การพิมพ์ธนบัตรไม่ต้องอ้างอิงกับทองคำสำรองของประเทศอีกต่อไป ทำให้เงินสกุลดอลล่าร์ ไม่ใช่เงินที่มีมูลค่าจริง ๆ อีกต่อไป เป็นเพียงแค่กระดาษใบหนึ่งที่ผู้คนยังให้ค่ากับสกุลเงินนี้อยู่ และเมื่อเงินดอลล่าร์ไม่ต้องอ้างอิงกับทองคำสำรองของประเทศ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถพิมพ์ธนบัตรเท่าใหร่ก็ได้ ตามที่ต้องการ และยิ่งพิมพ์ออกมามากเท่าไหร่ คุณค่าของเงินก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น นับตั้งแต่นั้นมาคนที่เก็บเงินไว้เฉย ๆ ก็จะจนลงทุกวันเพราะการลดลงของมูลค่าของมัน

ซึ่งสิ่งที่ Robert Kiyosaki พยายามจะสื่อก็คือ ไม่ใช่ว่าการศึกษาในโรงเรียนนั้นไม่สำคัญ แต่กลับตรงกันข้าม มันกลับมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม มากขึ้นเป็นเท่าตัว แต่สิ่งที่แย่ก็คือ ชุดความรู้ในสถาบันการศึกษาแบบเดิม ๆ นั้นมันล้าสมัยไปแล้ว

และจากกฎของมัวร์ (Moore’s law) ที่ว่า จํานวนทรานซิสเตอร์ที่สามารถบรรจุลงในชิพจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ สองปี หรือตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นได้ชัดเช่น เมมโมรี่จะมีความจุมากขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ สองปี แต่ราคากลับเท่าเดิมหรือถูกลง

และดูเหมือนปรากฏการณ์นี้จะมาเกิดขึ้นกับความล้าสมัยของการศึกษาในโรงเรียน ที่อุตส่าห์ใช้เวลานับสิบปีในสถาบันการศึกษา แต่พอจบออกมาแล้วกลับพบว่า ชุดความรู้ที่เคยเรียนมานั้นตกยุคไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และบริษัท SME นับล้านแห่ง ที่มักเรียกตนเองว่าเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วกว่า 90% เป็นบริษัทที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว ซึ่งนั่นมันก็ไม่ต่างจากพนักงานประจำเลย เพียงแต่เปลี่ยนจากรับค่าจ้างจากคนอื่น มารับค่าจ้างจากบริษัทของตัวเองแทน ซึ่งนั่นโรเบิร์ตมองว่าไม่ใช่ผู้ประกอบการที่แท้จริง

หรือแม้กระทั่งเหล่าบรรดานายตัวเอง ที่ทำอาชีพอิสระ หรือแม้กระทั่งฟรีแลนซ์ที่มีค่าตัวสูง ๆ กลับเป็นกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษีสูงที่สุดในบรรดากลุ่มคนทำงาน ซึ่งก็ไม่มีใครบอกพวกเขาซะด้วย

ส่วนผู้ประกอบการที่แท้จริง ต่อให้สิ่งที่ผู้คนบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี พวกเขาก็จะอยู่รอดผ่านมันไปได้ และหลาย ๆ คนก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยซะด้วยซ้ำ

ในขณะที่คนจน ยิ่งเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ส่วนคนชนชั้นกลางทั่วไป ที่กำลังผ่อนบ้านสวย ๆ ผ่อนรถหรู ๆ มีเงินเดือนที่จ่ายตรงตามเวลาทุกเดือน แต่เมื่อเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่แย่ พวกเขาก็จะโดนพรากเงินเดือนไป และนั่นก็คือตอนที่หายนะกำลังมาเยือน

ในขณะที่ผู้ประกอบการนั้น การไม่มีงานไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการงานที่มีเงินเดือนที่มั่นคง เพราะพวกเขาสามารถสร้างคุณค่า สร้างงานขึ้นมาจากศูนย์เองได้

และทุกสิ่งทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากภายในจิตใจของผู้ประกอบการที่แท้จริง จะโฟกัสแต่สิ่งที่อยู่ภายใน ที่สามารถควบคุมได้ และไม่ว่าจะล้มเหลว ผิดพลาด ผิดหวังสักกี่ครั้ง พวกเขาจะลุกขึ้นยืนใหม่ได้เสมอ และในหลาย ๆ ครั้งพวกเขากลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิมอีกด้วย เพราะพวกเขาใช้ประโยชน์ที่ได้จากการเรียนรู้จากความล้มเหลวในอดีตที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น ฉลาดมากยิ่งขึ้น และมีความสุขมากยิ่งขึ้น

Resources