Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

9 นิสัยการเงินที่แย่ เลิกแล้วรวย by Sorelle Amore

Sorelle Amore นักธุรกิจหญิงชาวออสซี่ อาร์ทติสอินดี้จากเกาะ Iceland และ Youtuber ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน และผู้ติดตามบน Instagram อีกกว่า 5 แสนคน ที่เธอกลายเป็น Millionaire หรือเศรษฐีเงินล้านได้ในวัย 31 ปี โดยการใช้สื่อออนไลน์ในการทำธุรกิจเป็นหลัก โดยเธอเปิดคลาสสอนศิลปะบนโลกออนไลน์ จนกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน และนี่ก็คือ 9 บทเรียนที่เธอได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของการเงิน ที่เธอนั้นผ่านมาและต้องการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วัน

1 – GETTING COMFORTABLE WITH BEING IN DEBT ชินกับการเป็นหนี้

สมัยนี้ดูเหมือนว่าใคร ๆ ก็สามารถทำบัตรเครดิตได้ สามารถผ่อนจ่ายได้ สามารถกู้ยืมได้หลากหลายช่องทาง ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง ไม่ว่าจะใช้ซื้อ เสื้อผ้า อาหาร ของใช้ต่าง ๆ โดยสำหรับ Sorelle แล้วนั้น เธอบอกว่า ถ้าเราไม่สามารถจ่ายสิ่งนั้นไหว เราก็ไม่ควรซื้อมัน โดยเธอเล่าว่า สมัยตอนที่เธอยังทำงานเป็นพนักงานในบาร์อยู่ เธอมีรายได้ที่ไม่มากนัก ดังนั้น เธอก็จะไม่ซื้ออะไรก็ตามที่เธอจ่ายด้วยเงินสดไม่ไหว และแม้ในปัจจุบันเธอก็ยังคงใช้นิสัยนั้นอยู่ แม้ว่าเธอจะมีรายได้ที่มากขึ้น แต่อะไรก็ตามที่เธอจ่ายเงินสดไม่ไหว เธอก็จะไม่ซื้อ นั่นมันทำให้ตัวของเธอนั้น ไม่มีหนี้สินติดตัวเลย แถมยังส่งผลให้ในปัจจุบันบริษัทส่วนตัวของเธอเองก็ยังมีทรัพย์สินในครอบครองที่เป็นอสังหาริมทรัพย์อีก 3 รายการอีกด้วย

แต่สำหรับเธอนั้น ก็บอกว่า การเป็นหนี้ที่พอยอมรับได้ ก็พอมีอยู่เหมือนกัน เช่น หนี้สินที่เกิดจากค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน, หนี้จากการลงทุนในสินทรัพย์ และหนี้สินจากการศึกษา ซึ่งแต่ละคนก็ควรที่จะมีการจัดการหนี้สินของตนเอง ซึ่งบางคนก็ชอบใช้หนี้ในการไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่วนตัวของเธอมองว่า มันมีความเสี่ยงสูง หากจัดการกับหนี้สินได้ไม่ดีพอ

โดยคำแนะนำส่วนตัวของเธอก็คือ คุณควรชำระหนี้สินให้หมดให้เร็วที่สุด

2 – NOT PAYING YOURSELF FIRST ไม่ยอมจ่ายให้ตัวเองก่อน

เป็นเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่มักทำผิดพลาด ซึ่งเธอได้ข้อคิดนี้มาจากหนังสือที่ชื่อว่า The Richest Man in Babylon ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งบอกเอาไว้ว่า เวลาที่เรามีรายได้เข้ามานั้น เราจะต้องจ่ายให้ตัวเองก่อนเลยทันทีขั้นต่ำสุดเริ่มต้นที่ 10% ทุกครั้ง เพื่อเก็บออมเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ทันทีที่มีรายได้เข้ามา

เหตุผลก็เพราะ เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่า ตัวเรานั้น สมควรได้รับเงินก้อนนี้ ก็เหมือนกับประโยคที่ตอนนั่งบนเครื่องบินมักจะพูดว่า หากมีหน้ากากออกซิเจนหล่นลงมา ให้ใส่หน้ากากให้ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยช่วยใส่ให้ผู้อื่น นั่นหมายถึงว่า เราควรช่วยเหลือตัวเองโดยการจ่ายให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยเหลือช่วยผู้อื่น โดยการนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของจากผู้อื่น

ซึ่งหลายคนก็มักแย้งขึ้นมาทันทีเลยว่า ทุกวันนี้ก็ยังไม่พอกินพอใช้เลย แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปเก็บออมไว้ตั้ง 10% กันล่ะ ซึ่งเรื่องนี้สำหรับมนุษย์เรานั้น เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ๆ ที่เมื่อเราทำการหักเงินไว้ก่อนทันทีเลยจำนวน 10% มนุษย์เรานั้น มีความสามารถที่จะใช้เงินที่เหลืออีก 90% ให้รอดพ้นในแต่ละเดือนไปได้ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่นก็เป็นเพราะ โดยปกติแล้ว หากเราเห็นจำนวนเงินในกระเป๋ายังมีเหลืออยู่ ก็มักจะนำมันไปจับจ่ายใช้สอยจนกว่าจะหมด เช่น ไปทานข้าวนอกบ้าน, ซื้อของกุ๊บกิ๊บ, ซื้อขนมขบเคี้ยว ดังนั้น เราไม่ต้องกังวลไปว่า หักเงินไปออมก่อนแล้วจะไม่พอใช้ เพราะคนเรานั้นสามารถใช้เงินที่เหลืออยู่ให้พอใช้ได้ในท้ายที่สุด

3 – NOT HAING A BACKUP FUND – ไม่มีเงินสำรองใช้ในยามจำเป็น

ในข้อนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เป็นผลพวงมาจากการแก้ในข้อที่ 1 และ 2 คือ คุณต้องกำจัดหนี้เสีย และเริ่มต้นออมเงินขั้นต่ำอย่างน้อย 10% จนคุณมีเงินสำรองจำนวน 3-6 เดือน ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน โดยเงินก้อนนี้จะดึงมาใช้ก็ต่อเมื่อคุณไม่มีรายได้เข้ามาเลยในช่วงนั้น ซึ่งหากคุณไม่มีเงินสำรองเลย มันจะส่งผลให้คุณมีความเครียดเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาที่คุณต้องดิ้นรนหาเงินมาให้ทันค่าใช้จ่าย เวลานั้นคุณต้องการหัวสมองที่ปลอดโปร่ง เพื่อคิดหาทาง หาเงิน

ดังนั้น หากคุณมีเงินสำรองเอาไว้เผื่อใช้จ่ายยามที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลยตลอด 3-6 เดือน คุณก็ยังคงมีเวลาที่จะคิดหาไอเดีย ในการทำเงินแบบไม่ต้องเครียดจนเกินไป มันจะช่วยให้คุณหัวโล่ง และหาทางออกได้ดีกว่ามาก

4 – NOT CLEARLY KNOWING YOUR INCOME OR EXPENSES ไม่รู้ว่ารายได้หรือรายจ่ายมาจากที่ใดบ้าง

มีคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่า “รายจ่ายของคนเรานั้น จะเติบโตตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น” ความหมายก็คือ เมื่อก่อนมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท บอกไม่พอใช้ แต่ตอนนี้มีรายได้ 50,000 บาท ก็ไม่พอใช้ ไม่มีเงินเก็บอยู่ดี นั่นแสดงให้เห็นว่า รายจ่ายของเรามักจะเพิ่มขึ้นตามรายได้ พอรายได้มากขึ้น ไลฟ์สไตล์ก็จะเปลี่ยนไป จนมากขึ้น ๆ จนเกินตัว พอรู้สึกตัวอีกทีก็ถังแตก เป็นหนี้ก้อนโตเสียแล้ว

ดังนั้น ให้คุณกำหนดงบประมาณในแต่ละเรื่องตั้งแต่แรกเลยว่า เมื่อได้เงินมาแล้ว จะใช้จ่ายไปที่ไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า รวมถึงเงินออมที่จ่ายให้ตัวเองเป็นอันดับแรกขั้นต่ำจำนวน 10% ก้อนนั้นด้วย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รู้ตัวเลขอยู่แล้ว หรือพอจะประมาณการณ์ได้ว่าจะต้องใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน ค่าของใช้ ค่าบัตรเครดิต ค่าท่องเที่ยว เป็นต้น

ซึ่งการทำให้ได้ตามงบประมาณที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้นเดือนนั้น แม้มันจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย ไม่สนุกเอาเสียเลย ก็ขอให้คุณคิดซะว่า มันเป็นเกม ๆ หนึ่ง ที่หากคุณสามารถใช้จ่ายตามงบประมาณดังกล่าวได้ คุณก็จะมีเงินเหลือใช้มากกว่าปกติ เพราะหากคุณไม่กำหนดงบประมาณเอาไว้ ในระหว่างเดือนคุณก็จะเจอกับข้อความจากนักขายและนักการตลาดถาโถมเข้าใส่ เพื่อที่จะดึงเงินจากกระเป๋าของคุณออกไปให้ได้ ดังนั้นหากคุณไม่มีการกำหนดงบประมาณเอาไว้ตั้งแต่แรก คุณก็จะใช้จ่ายเรื่อยเปื่อย มารู้ตัวอีกทีเงินก็หมดกระเป๋าเสียแล้ว

แต่หากคุณสามารถทำตามงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ได้ ก็เหมือนกับคุณชนะเกมการเงินด่านนี้ คุณก็ควรที่จะให้รางวัลกับตนเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เช่น ไปเที่ยวพักผ่อนวันหยุด หรือซื้อของที่ชอบสักชิ้น ที่ไม่กระทบกับงบการเงินของคุณ

5 – PAYING TOO MUCH TAX – จ่ายภาษีมากเกินไป

มีคำกล่าวว่า มีอยู่ 2 สิ่งที่คนเรานั้นหลีกหนีไม่พ้นก็คือ ความตายและภาษี แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วดูโหดร้ายแต่นั่นก็เป็นเรื่องจริง ในข้อนี้หากคุณมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเสียภาษีก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่หากคุณมีรายได้ที่สูง คุณจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการสิทธิในการลดหย่อนภาษีที่คุณสามารถใช้สิทธินั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

หากเป็นภาษีส่วนบุคคล ก็ให้คุณไปดูว่า คุณมีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง เช่น ลดหย่อนภาษีบุตร, ลดหย่อนภาษีคู่สมรส, ลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูบิดา-มารดา เป็นต้น

แต่หากคุณเปิดบริษัท มีธุรกิจส่วนตัวเป็นนิติบุคคล ก็จะมีเกณฑ์ถูกเก็บภาษีในอัตราที่น้อยกว่าแบบส่วนบุคคล เพราะโดยปกติแล้ว อัตราภาษีแบบส่วนบุคคลนั้นอย่างในประเทศไทยจะถูกเก็บสูงสุดอยู่ที่ อัตราร้อยละ 35 ของรายได้ และรายจ่ายส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ในขณะที่แบบนิติบุคคลจะถูกเก็บภาษีสูงสุดอยู่ที่อัตราร้อยละ 20 และค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็อย่าลืมคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการทำบัญชีเพื่องบแก่สรรพากรให้ถูกต้องด้วย

6 – HAVING EXPENSIVE PAST TIMES OR HOBBIES มีงานอดิเรกที่ค่าใช้จ่ายสูง

งานอดิเรกของคนส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการช้อปปิ้ง ไม่ว่าจะเป็นทั้งชายและหญิง ถ้าเป็นผู้ชายก็อาจจะซื้อของเล่น โมเดลรูปปั้นราคาแพง ไม่ก็หมดเงินไปกับการแต่งรถ ถ้าเป็นผู้หญิงก็คงหมดไปกับการซื้อเสื้อผ้า ซื้อกระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งโดยรวม ๆ แล้ว คนเรานั้นก็มักจะแพ้ให้กับข้อความทางการตลาดที่เหล่าบรรดาบริษัทระดับพันล้านหมื่นล้าน คิดวิธีการต่าง ๆ นา ๆ เพื่อที่จะดึงเงินสดในกระเป๋าของเราไป ซึ่งเราก็แค่คนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง จะไปสู้กับการตลาดจากบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ยังไงกัน ดังนั้น ทางที่ดีเราก็ควรอยู่ให้ห่างจากสื่อการตลาด แล้วไปใช้ชีวิตง่าย ๆ อย่างเช่น ไปปิกนิคใกล้ ๆ บ้านกับครอบครัว หรือดูหนังฟังเพลงอยู่บนโซฟาที่บ้าน พยายามใช้ชีวิตไม่ติดหรูอยู่แพง พยายามใช้ชีวิตแบบประหยัดพอเพียงเข้าไว้

7 – NOT INVESTING WHEN YOU SHOLD ไม่ลงทุนในเวลาที่ควรทำ

เมื่อคุณผ่านช่วงออมเงินสำรองได้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายมาได้แล้ว ทีนี้ คุณก็ยังคงเก็บออมเงิน 10% จ่ายให้ตัวคุณเองอยู่ แต่การที่ใส่เงินเอาไว้ในธนาคารมากเกินกว่านี้ คุณจะเสียประโยชน์ เพราะการฝากเงินสดไว้ในบัญชีธนาคารนั้น ก็รู้ ๆ กันดีว่า มันได้ดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อยนิด แถมมันยังไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ดังนั้นเงินสดในบัญชีธนาคารจะมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดลงในทุก ๆ ปี

ดังนั้น เงินส่วนเกินจากเงินเก็บสำรองนั้น คุณควรหาที่ลงทุนให้เงินมันงอกเงยขึ้นมาโดยเร็วที่สุด แต่ขึ้นชื่อด้วยคำว่า “ลงทุน” นั้น ย่อมมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ดังนั้น คุณจำเป็นที่จะต้องศึกษาว่า ตัวคุณเหมาะกับการลงทุนประเภทใด และสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งโดยส่วนตัวของ Sorelle นั้น เธอชอบการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมันจับต้องได้ มีความผันผวนต่ำ และสามารถใช้พลังทวีด้วยเงินทุนจากธนาคาร ที่เราสามารถวางเงินดาวน์เพียงเล็กน้อย แล้วที่เหลือก็ใช้เงินกู้จากธนาคาร ก็เริ่มต้นเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นได้แล้ว ส่วนการลงทุนในหุ้นหรืออย่าง bitcoin นั้น ส่วนตัวของเธอมองว่า มันเสี่ยงเกินไปสำหรับตัวเธอ

ดังนั้น ให้คุณศึกษาในสิ่งที่คุณจะลงทุนให้เชี่ยวชาญ และควรแยกกองเงินให้ชัดเจนว่า เงินก้อนเอาไว้ใช้จ่าย เงินก้อนไหนเอาไว้ออม เงินก้อนไหนเอาไว้ลงทุน อย่านำมาปนกัน

8 – KEEPING THE “DRIPPING TAP” ON ปล่อยให้เงินรั่วไหล

คุณอาจลองนึกถึงเวลาที่ก๊อกน้ำภายในบ้านของคุณมันหยดติ๋งติ๋ง ที่ดูเหมือนว่ามันจะหยดทีละเล็กทีละน้อย แต่พอลองเอาถังน้ำมารองก๊อกน้ำนั้น ผ่านไปไม่นาน มันกลับมีน้ำเกือบเต็มถัง มันก็เหมือนกับการที่ การมีค่าใช้จ่ายที่รั่วไหลออกจากกระเป๋าตังค์คุณทีละเล็กทีละน้อย ที่ดูเหมือนจะไม่มากมายอะไร แต่พอนาน ๆ ไปก็เป็นเงินหลายบาทอยู่ แถมไม่ได้รั่วอยู่ก๊อกเดียวซะด้วย ยกตัวอย่างเช่น คุณสมัครสมาชิกดูหนังเอาไว้ เล่นมันซะทุกเจ้าเลย ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Disney+ หรือ Amazon Prime พอผ่านไปหนึ่งเดือนกลับพบว่า แทบไม่ได้ดูหนังสักกะเรื่อง ดังนั้น หากช่วงไหนที่ยังไม่ได้ใช้งานก็ยกเลิกสมาชิกไปก่อนก็ได้ หรือสมัครเจ้าเดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องเหมาหมดทั้งวงการ

หรืออย่างในกรณีคุณมีบัญชีธนาคารหลายเจ้า บัญชีใดที่ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรเดบิตหรือบัตร ATM ก็ให้ไปยกเลิกซะ เพราะบัตรเหล่านี้มีค่าธรรมเนียมตลอด หรืออย่างบริการ SMS หลายบริการ หากไม่ได้ใช้งาน ก็ให้ยกเลิกซะ แล้วบางคนจะแปลกใจว่า จู่ ๆ ทำไมมีเงินเหลือเยอะขึ้นกว่าเดิม

9 – NOT CARING ABOUT FINANCES ไม่สนใจเรื่องของการเงิน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม หากเราไม่ได้สนใจมัน มันก็ยากที่เราจะทำได้ดีในเรื่องเหล่านั้น เช่นเดียวกันกับเรื่องของการเงิน หากเราไม่ได้สนใจมัน เราก็จะทำได้ไม่ค่อยดีในเรื่องของการเงิน และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องของการเงินซะด้วย ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้นบางคนกลับมองว่าเงินเป็นสิ่งชั่วร้าย อย่าไปยุ่งกับมัน นั่นยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

ซึ่งจริงอยู่ว่า “เงิน” ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของคนเรา แต่เกือบทุกอย่างในชีวิตของเรานั้นกลับต้องใช้เงิน ดังนั้น หากเรายังคงใช้ชีวิตในโลกทุนนิยม เราก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในการช่วยดำเนินชีวิตให้ง่ายขึ้น เพราะคงไม่มีธนาคารแห่งใดบนโลกรับฝากใบไม้แทนเงิน และคงไม่มีร้านค้าร้านไหนรับชำระด้วยการส่งตาหวานให้เพื่อแลกกับสินค้า

ดังนั้น หากในชีวิตเราสามารถควบคุมเรื่องของการเงินได้เป็นอย่างดี มันจะช่วยส่งเสริมให้เรานั้น สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น เอนจอยกับการใช้ชีวิตได้มากยิ่งขึ้น

Resources