Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Bitcoin and Cryptocurrency

ลงทุน Bitcoin ให้รวย สไตล์ Michael Saylor EP.3 ตอน ทำไมคนรวยถึงรวยขึ้น แต่คนจนกลับจนลง

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรคระบาดในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ทาง Michael Saylor ได้บอกว่า หลังจากที่มีการประกาศให้ปิดเมืองนั้น เราสามารถเห็นความแตกต่างระหว่างบริษัทที่อยู่ใน Wall Street กับบริษัท SMEs และบุคคลธรรมดาทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากการชะงักของเศรษฐกิจ โดยบริษัทใน Wall Street นั้นมีการตื่นตระหนกชั่วคราวแล้วค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเป็นรูป V-shaped ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ นั้นมีรูปแบบ L-shaped คือในรับผลกระทบจากการปิดเมืองแบบเต็ม ๆ แล้วไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย พอลองนำกราฟทั้งสองมาวาดซ้อนทับกันก็จะได้กราฟในรูปของ K-shaped

Image credit : https://www.uschamber.com/security/pandemic/what-the-k-shaped-recovery

ซึ่ง Michael Saylor บอกว่า โดยส่วนตัวนั้นเขาคือ Investor คือนักลงทุน และในขณะเดียวกันอีกบทบาทหนึ่งเขาก็เป็นคนทำธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง

และสิ่งที่เขาสังเกตเห็นได้ก็คือ ถ้าหากคุณที่มีทรัพย์สินในพอร์ทการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหุ้น แล้วหลังจากเกิดการระบาดของไวรัส และทาง FED หรือธนาคารกลางได้มีการปริ้นท์เงินดอลล่าร์อย่างมหาศาล กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารที่แทบจะเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ คุณจะสังเกตได้ว่า จู่ ๆ คุณจะมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นราว ๆ 25%-30% โดยที่อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยตลอดทั้งปี

ความหมายก็คือ หากคุณลงทุนเอาไว้ที่ $1,000 ล้านดอลล่าร์ฯ พอสิ้นปีคุณก็จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น $1,300 ล้านดอลล่าร์ฯ โดยที่ไม่ต้องทำอะไร แค่อยู่เฉย ๆ

แต่ในขณะที่บริษัททั่วไปที่อยู่นอกตลาดหุ้น หากปีที่แล้วพวกเขาทำรายได้ ได้ $100 ล้านดอลล่าร์ฯ ในปีนี้ พวกเขาต้องเพิ่มรายได้ให้เป็น $130 ล้านดอลล่าร์ฯ เพื่อที่จะรักษาความมั่งคั่งให้เท่ากับปีที่แล้ว เพราะทรัพย์สินที่ใช้เงินซื้อนั้นกลับแพงขึ้น 30% หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ มูลค่าของเงินนั้นลดลง 30% ก็ได้เช่นกัน

เพราะหากดูการเติบโตของตลาดหุ้น S&P 500 จะพบว่า ในปี 2021 มันเติบโตราว ๆ 26.89% นั่นหมายความว่า หากคุณจะซื้อหุ้นในปีนี้ให้ได้จำนวนหุ้นเท่ากับปีที่แล้ว คุณจะต้องเพิ่มเงินอีกเกือบ ๆ 30% เลยทีเดียว

และต่อให้คุณเป็นคุณหมอที่มีรายได้สูง มีคลีนิคส่วนตัวเป็นของตัวเอง หากในปีนี้คุณยังคงสร้างรายได้ได้เท่าเดิม แต่ความมั่งคั่งกลับลดลงเฉลี่ยปีละ 20%-30% ดังนั้นคุณต้องเริ่มคิดแล้วว่า จะนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนอย่างไรเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้

Image credit : https://www.bls.gov/charts/consumer-price-index/consumer-price-index-by-category-line-chart.htm

ซึ่งหนึ่งในคอนเซ็ปต์ที่ผู้คนทั่วโลกต่างเข้าใจผิดเกี่ยวกับค่า Inflation หรือค่าเงินเฟ้อที่ถูกฝังหัวมาโดยตลอดก็คือ ค่าเงินเฟ้อจาก CPI : Consumer Price Index ที่มักจะแสดงค่าเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 2%-3% ต่อปี ส่วนในปี 2022 นี้ก็พุ่งไปกว่า 8.5% ซึ่งการยึดตัวเลขค่า Inflation หรือค่าเงินเฟ้อจากข้อมูลดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผิด

โดย Michael Saylor บอกว่า ความหมายที่แท้จริงของคำว่า Inflation นั้นคือ อะไรก็ตามที่เราต้องการซื้อแล้วกำลังขึ้นราคาไปเท่าไหร่ต่างหาก นั่นแหละคือค่าเงินเฟ้อที่แท้จริง ซึ่งมันไม่ได้มีเฉพาะค่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทางรัฐบาลเอามานำเสนอเพียงไม่กี่อย่าง

ซึ่งค่า Inflation นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ตามกาลเวลา ตามพื้นที่ และตามแต่ละประเภทของสิ่งนั้น เช่น หลังจากที่ทางรัฐบาลสั่งประกาศปิดเมืองในช่วงเกิดโรคระบาดรุนแรงนั้น ก็ได้ออกกฏหมายให้ปิดสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ทำให้ไม่มีคนไปจับจ่ายใช้สอย มันก็ไม่แปลกที่ราคาสินค้าและบริการเหล่านี้จะไม่มีการขึ้นราคา

ในขณะที่คนอยู่แต่บ้าน สิ่งที่พวกเขาสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสะดวกและในทันทีเลยก็อย่างเช่น หุ้น ไม่ก็ crypto มันก็ไม่แปลกที่ราคาของทรัพย์สินเหล่านี้มีราคาที่สูงขึ้น

และพอคนในเมืองที่ต้องกักตัวเป็นเวลานาน ๆ ภายในห้องพักเล็ก ๆ ก็กลับกลายเป็นว่า ผู้คนกลับโหยหาบ้านที่มีบริเวณสนามหญ้าให้นั่งเล่น นั่งพักผ่อนหย่อนใจ ก็ส่งผลให้มี Demand หรือความต้องการจากผู้คนที่ต้องการจะซื้อบ้านที่มีสนามหญ้าแถวชานเมืองมากขึ้น นั่นมันก็ส่งผลให้ราคาบ้านชานเมืองปรับราคาสูงขึ้น

หรืออย่างช่วงล็อคดาวน์ ราคาของ Bonds หรือพันธบัตรนั้น มีการปรับราคาสูงขึ้นเป็นสองเท่า ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น หรืออย่างในตลาดตราสารทุน (equity) นั้น มีการปรับราคาสูงขึ้นถึง 40% หรือในตลาด crypto อย่าง bitcoin ก็ราคาสูงขึ้นเฉลี่ยราว ๆ 170% ต่อปี

ในขณะที่หากหันไปดูในตลาดของการผลิตมักกะโรนีหรือบรรดาของกินต่าง ๆ นั้น อาจมีค่า Inflation ที่ราว ๆ 3%-5% ต่อปี หรืออย่างดู Youtube ดู Netflix ค่าใช้จ่ายรายเดือนก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

ดังนั้น อย่าให้ค่า Inflation ที่ทางรัฐบาลนำมาจัดแสดงกราฟหลอกเอาได้ ว่ามีค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อที่ราว ๆ 3% ต่อปี หรือที่บอกว่าในปี พ.ศ. 2565 ค่าเงินเฟ้อในไทยพุ่งมากกว่า 5% นั่นนับว่าสูงแล้ว

แต่พอมาเทียบกับทรัพย์สินต่าง ๆ กลับมีค่า Inflation สูงกว่า 30% ซะอีก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม คนรวยจึงเลือกที่จะเปลี่ยนเงินสดในกระเป๋าไปเป็นทรัพย์สินซะเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะเก็บเงินสดเอาไว้ในบัญชีธนาคารแทนที่จะเอาไปลงทุนให้มันงอกเงย หรือส่วนใหญ่ก็เอาเงินไปจับจ่ายใช้สอยที่นับวันของกินของใช้ก็มีราคาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะค่าเงินมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง

ดังนั้น หากต้องการที่จะเป็นคนรวย ก็จะต้องมองค่า Inflation ในมุมมองของคนรวย ว่าพวกเขาเลือกมอง Inflation ในสิ่งใด

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม คนรวยถึงรวยเอา ๆ ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับจนลง

Resources