Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Vision

Elon Musk กับภารกิจเพื่อมวลมนุษยชาติ Episode 1

Elon Musk เจ้าของบริษัท Tesla, SpaceX ฯลฯ หนึ่งในชายผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคนี้ มหาเศรษฐีอันดับที่ 1 ของโลก ที่ ณ ปัจจุบันเขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $230,100 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือราว ๆ 7.8 ล้านล้านบาท โดยในคอนเท้นต์นี้ทาง Elon Musk ได้ให้สัมภาษณ์ในช่อง Youtube ของ Lex Fridman ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.7 ล้าน subscribers ที่เขาจะมาให้มุมมองเกี่ยวกับตัวของเขาและธุรกิจของเขา และภารกิจของเขา ที่เกี่ยวกับโลกใบนี้

โดย Elon Musk เริ่มต้นด้วยการให้เหตุผลว่า เพราะเหตุใด เขาจึงมุ่งมั่นที่จะใช้บริษัท SpaceX ที่เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมยานอวกาศ ผลักดันมนุษย์โลกไปสู่ห้วงอวกาศ

ซึ่ง Elon Musk เขาบอกว่า ในหลาย ๆ ครั้งมนุษย์เรานั้นก็ทำสิ่งแย่ ๆ ต่อโลกใบนี้ แต่เขาก็ยังคงรักในมนุษยชาตินี้อยู่ดี และเราก็ควรที่จะช่วยกันคิดหาทุกวิถีทางในการที่จะทำให้มนุษยชาตินั้นมีอนาคตที่ดี มีอนาคตที่สดใส และนำความสุขมาสู่ผู้คนให้ได้มากที่สุด

โดย Lex ได้ถาม Elon Musk ว่า เขารู้สึกอย่างไรที่สามารถส่งยานอวกาศนามว่า Crew Dragon Demo-2 ที่เป็นครั้งแรกที่มีนักบินอวกาศขึ้นไปพร้อมกับยานในนามของ SpaceX ในวันที่ 30 พ.ค. ปี 2020 ได้สำเร็จบ้าง เพราะนี่คือครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่ NASA สามารถส่งยานอวกาศของบริษัทเอกชน สัญชาติอเมริกันแท้ ๆ ที่ปล่อยยานบนแผ่นดินอเมริกาได้ เพราะล่าสุดเมื่อ 9 ปี ที่แล้วนั้น NASA ใช้ยานอวกาศของรัสเซียขึ้นไปยังอวกาศ

โดย Elon Musk เขาบอกว่า มันเป็นสถานการณ์ที่เครียดมาก ๆ เพราะ ณ เวลานั้นไม่มีใครที่จะคิดหาวิธีการในการส่งคนขึ้นไปพร้อมกับยานอวกาศให้ประสบความสำเร็จได้เลย แม้กระทั่ง NASA เองก็คิดไม่ออก ดังนั้น หน้าที่ของ SpaceX ก็คือ จะต้องทุ่มโฟกัสไปในสิ่งเดียว ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ การเพิ่มโอกาสเพื่อให้ประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และถ้าถามเขาว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อนักบินอวกาศกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย ตัวของ Elon Musk ก็บอกว่า เขารู้สึกโล่งใจ เบาใจ หลังจากที่สะสมความเครียดมาอย่างยาวนาน ซึ่งแม้ตัวของเขาเองจะไม่ได้เป็นคนที่เคร่งศาสนามากสักเท่าไหร่นัก แต่ ณ ตอนนั้นเขาก็ยังคงคุกเข่าอ้วนวอนขอให้ทุกอย่างดำเนินการไปอย่างราบรื่น

ซึ่งเขาบอกว่ามันจะสนุกและตื่นเต้นมากกว่านี้ หากเป็นภารกิจในการสำรวจดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ในอวกาศ ซึ่งเขาก็เชื่อว่าภารกิจในครั้งนี้มันจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับโครงการอวกาศในอนาคตของมนุษยชาติ ซึ่ง Elon Musk เขาก็ได้แนะนำให้ดูสารคดีที่ชื่อว่า Inspiration4 บน Netflix ที่เป็นโปรเจคเพื่อสร้างแรงบันดาลใจจากการส่งลูกเรือที่ไม่ใช่นักบินอวกาศมือโปร แต่เป็นพลเรือนมือสมัครเล่นจำนวน 4 คน ที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงว่าไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถที่จะบินออกนอกโลกได้ มันเป็นสารคดีที่ดีเลยทีเดียว เพราะตัวของ Elon Musk เองนั้น เขาก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสารคดีเช่นกัน

และครั้งสุดท้ายที่มนุษย์เราได้ไปเหยียบบนดวงจันทร์นั้นมันก็ตั้งแต่ปี 1969 หรือมากกว่าครึ่งศตวรรษเข้าไปแล้ว โดยคำถามที่ Elon Musk ตั้งขึ้นก็คือ วงการอวกาศของมนุษย์เรานั้นได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดของอารยธรรมแล้วหรือ?

ซึ่งมุมมองของ Elon Musk นั้นเขาก็มองว่า ‘ยัง’ ดังนั้นเขาคิดว่ามนุษย์เรานั้นน่าจะกลับไปยังดวงจันทร์ใหม่ แล้วเริ่มต้นสร้างฐานวิจัยบนดวงจันทร์ เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติของจักรวาลนี้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเขามองว่าเราควรจริงจังกับการสร้างสถานีบนดวงจันทร์ก่อนที่มนุษย์เรานั้นจะมุ่งสู่ดาวอังคารและเริ่มต้นอารยธรรมอวกาศของมนุษยชาติ

และมุมมองของเขาเกี่ยวกับยานอวกาศนั้น คนอื่นอาจมองว่ามันคือความสำเร็จ แต่สำหรับตัวของเขาที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวิศวกรในการอนุมัติทุกสิ่งอย่างในการออกแบบจรวดและยานอวกาศนั้น เขาจะเป็นคนเซ็นต์อนุมัติทุกขั้นตอน ดังนั้น หากเกิดข้อผิดพลาดอะไรก็ตาม มันคือความผิดพลาดของเขาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเวลาที่เขามองไปยังจรวดและยานอวกาศนั้น เขาจะมองมันตั้งแต่ปลายยอดยันฐานที่ตั้งของมัน เพื่อหาข้อผิดพลาดทุกจุดที่สามารถเกิดขึ้นกับมัน และทำการปรับปรุงแก้ไขมันให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเขามองว่ามันคือ Product หรือผลิตภัณฑ์ ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน การทำธุรกิจ เพราะถ้า Product มันยอดเยี่ยม เดี๋ยวที่เหลือจะตามมาเอง

ส่วนงานส่วนใหญ่ของเขาที่ SpaceX นั้น เขามักจะหมดเวลาไปในเรื่องของ Engine Production คือการควบคุมการผลิตเครื่องยนต์เป็นหลัก เพราะเขาบอกว่า ไอ้การออกแบบกับการสร้างตัวต้นแบบนั้นหน่ะมันง่าย แต่ไอ้การที่จะสร้างของจริงนั้นมันยากกว่าเยอะ

ซึ่งตัวของเขาก็เชื่อมั่นว่า Rocket Engine ของ SpaceX ในตอนนี้นั้นมันล้ำหน้าและทันสมัยที่สุดในโลก ซึ่งดีกว่าของรัสเซีย
ส่วนว่าจะเปิดทัวร์อวกาศได้เมื่อไหร่นั้น Elon Musk บอกว่า มันขึ้นอยู่กับว่า จะสามารถพัฒนาการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนจรวดใหม่แล้วสามารถออกตัวยานได้ในทันที ว่าจะสำเร็จช้าหรือเร็ว เพราะที่ผ่านมาจรวดที่นำพายานอวกาศออกสู่นอกโลกนั้นเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง แล้ว SpaceX ก็พึ่งพัฒนาจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขั้นต่อไปคือ ถอดของเก่าแล้วใส่ของใหม่แล้วออกบินได้ในทันที จุดนั้นแหละ ที่จะทำให้มนุษยชาติเข้าสู่อารยธรรมอวกาศได้ ซึ่งมันไม่ง่ายมันยากมาก

คำถามก็คือ ในเมื่อมีคนที่ฉลาดกว่า เก่งกว่า Elon Musk อย่างมากมาย ที่เคยลองคิดลองทำมาก่อนหน้านี้ ทำไมพวกเขาถึงทำไม่สำเร็จ

โดย Elon Musk ตอบว่า ที่ SpaceX นั้น เขามีทีมที่ดีมาก มีแต่คนที่ฉลาด ๆ เก่ง ๆ มาทำงานร่วมกัน พวกเขาทำงานทั้งกลางวันกลางคืนอย่างไม่หยุดหย่อน และในฐานะที่ตัวของ Elon Musk ที่เป็นผู้นำองค์กรนั้น เขาคิดแค่เพียงว่าทำยังไงก็ได้ให้มันสำเร็จ ไม่สำเร็จไม่เลิกอย่างเด็ดขาด ทำจนกว่าจะตายกันไปข้างนึง โดยเขาไม่เคยสนใจว่าคนอื่นจะว่ายังไง เขาไม่สนใจว่าใครจะมองโลกในแง่บวกหรือแง่ลบ เขาสนแค่เพียงว่า จะต้องทำมันให้ได้ ก็แค่นั้น

โดย Lex ที่เป็นพิธีกรได้ถาม Elon Musk ว่า ไอ้การออกแบบยานอวกาศตามหลักของทางวิศกรรมนั้น มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากเอามาก ๆ อยากให้ Elon Musk ช่วยอธิบายหน่อยว่า ใช้หลักคิดแบบ First Principles มาปรับใช้อย่างไรกับการแก้ไขปัญหาภายใน SpaceX

(ซึ่งก่อนหน้านี้ทางทีมงาน Blue O’Clock ได้เคยทำวีดีโอไวท์บอร์ดแอนิเมชั่นเกี่ยวกับวิธีการคิดแก้ไขปัญหาที่ Elon Musk เขาได้ใช้หลักการคิดแบบ First Principles ในการแก้ไขปัญหาการผลิตรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของ Tesla มาก่อนหน้านี้เช่นกัน)

โดย Elon Musk บอกว่า เขาใช้กฎของฟิสิกส์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเขาบอกว่า หลายต่อหลายกฎมักมีผู้คนแหกกฎได้อยู่บ่อย ๆ แต่เขากลับไม่เคยเห็นใครเคยแหกกฎของฟิสิกส์ได้เลย (ซึ่งต้องบอกก่อนว่าทาง Elon Musk เขาเรียนและจบทางด้านฟิสิกส์สายตรงมาโดยเฉพาะ)

ดังนั้น กฎข้อแรกของการแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีก็คือ คุณจะต้องทำให้มั่นใจก่อนว่าคุณไม่ได้ทำการละเมิดกฎฟิสิกส์เสียก่อน

ต่อมาการใช้หลักคิดแบบ First Principles นั้น มันคือกฎที่สามารถใช้ได้ในกับทุก ๆ เรื่องของชีวิต ซึ่งมันเป็นการคิดเพื่อเข้าถึงแก่นที่เป็นความจริงในระดับขั้นพื้นฐานของสิ่ง ๆ นั้นเสียก่อน และเมื่อระบุระดับขั้นพื้นฐานของสิ่ง ๆ นั้นได้แล้ว ก็ค่อย ๆ สร้างและต่อยอดจากพื้นฐานนั้นให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แล้วตรวจสอบว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากจุดนั้นจะต้องมีความถูกต้องตามหลักการบนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย

เพราะตัวของเขานั้นพบว่า บางสิ่งบางอย่างแม้ว่าจะเป็นไปตามหลักพื้นฐานความเป็นจริงแบบขั้นพื้นฐาน แต่มันดันขัดกับกฎของฟิสิกส์มันก็ไม่เวิร์ค

ยกตัวอย่างจากกรณีของยานอวกาศ คำถามที่เขาตั้งขึ้นมาก็คือ ทำไมค่าใช้จ่ายในการนำยานอวกาศถึงมีค่าใช้จ่ายที่สูง คำตอบก็คือ มันใช้จรวดครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งเลย ดังนั้นถ้ามันสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แล้วเติมเชื้อเพลิงใหม่ได้ นั่นก็แสดงว่า เราจะสามารถประหยัดต้นทุนได้

คำถามต่อมาที่เขาตั้งก็คือ แล้วในเมื่อสามารถนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ได้ ถ้ายังแพงอยู่ มันแพงเพราะอะไร? แพงเพราะวัสดุที่ใช้ในการประกอบจรวดใช่หรือไม่? และถ้ามันแพงเพราะวัสดุ วัสดุนั้นแพงเพราะสั่งผลิตน้อยเกินไปหรือเปล่า? แล้วถ้าลองสั่งผลิตวัสดุดังกล่าวสักล้านชิ้น มันจะถูกลงหรือไม่? เพราะถ้ามันไม่ถูกลง นั่นแสดงว่า มันไม่ได้แพงเพราะสั่งผลิตน้อยเกินไป แต่มันแพงเพราะการออกแบบและดีไซน์ต่างหาก

ดังนั้นทาง Elon Musk เขาจึงเลือกที่จะก่อตั้งบริษัท SpaceX ขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างจรวดเองและทำการออกแบบทางวิศวกรรมใหม่ โดยให้ลืมการออกแบบเดิม ๆ ที่เคยมีมาบนโลกนี้ก่อน แล้วเริ่มต้นสร้างจรวดจากศูนย์ เพราะถ้ามัวแต่ยึดตามกรอบความคิดแบบเดิม ๆ มันก็จะไม่มีอะไรใหม่ มันก็จะได้จรวดแพงเหมือนเดิม อาจจะถูกกว่าเพียงเล็กน้อย แต่ด้วยการออกแบบจรวดใหม่ทั้งหมด ทำให้ SpaceX นั้น สามารถลดต้นทุนในการผลิตจรวดที่เหลือแค่เพียงร้อยละ 2 เท่านั้นเมื่อเทียบกับจรวดแบบดั้งเดิมที่เคยมีมา

ดังนั้น คำตอบที่ได้ก็คือ ให้ปรับการออกแบบจรวด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ ที่จะสามารถออกแบบจรวดที่นอกจากจะต้องมีประสิทธิภาพที่ดีแล้วนั้น มันจะต้องมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำอีกด้วย ดังนั้นจะต้องออกแบบโดยใช้วัสดุที่โดยพื้นฐานแล้วราคามันไม่แพง ซึ่งวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของจรวดนั้น จะประกอบไปด้วย aluminum, steel, titanium, iconel, specialty alloys และ copper ซึ่งพอได้ lists มาแล้วว่าจะต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง จากนั้นก็ลองคำนวณดูว่า วัสดุแต่ละอย่างมีราคาเท่าไหร่ และจะต้องใช้วัสดุแต่ละอย่างเป็นจำนวนขั้นต่ำสุดเท่าไหร่ ที่เพียงพอจะประกอบเป็นจรวดได้ โดยสมมติว่าเราสามารถจัดเรียงอะตอมของวัสดุได้ราวกับมีไม้กายสิทธิ์ นั่นแหละคือตัวเลขต้นทุนที่ต่ำที่สุดที่สามารถเริ่มต้นสร้างจรวดได้

โดย Lex Fridman ก็บอกว่า เขาได้คุยกับวิศวกรคนหนึ่งในบริษัท Tesla ซึ่งเขาพบว่า พนักงานคนดังกล่าว ก็ใช้หลักคิดแบบ First Principles เฉกเช่นเดียวกับ Elon Musk โดยพนักงานคนดังกล่าวได้แชร์เรื่องของการลดต้นทุนในการผลิต Teslabot หรือหุ่นยนต์ที่ใช้ภายในบริษัท Tesla ซึ่งพวกเขาก็ใช้หลักคิดว่า เพราะเหตุใด ต้นทุนในการผลิตหุ่นยนต์ถึงมีราคาสูงมาก แล้วพวกเขาก็กลับไปสู่หลักพื้นฐานแรกสุดโดยตั้งคำถามว่า “มีวัสดุใดที่เป็นส่วนประกอบในการสร้างหุ้นยนต์บ้าง?” “และวัสดุเหล่านั้นมีราคาเท่าไหร่?” “แล้วต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่?” สุดท้ายพวกเขาก็จะได้หุ่นยนต์ที่มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากเป็นคนที่เชี่ยวชาญในสายการผลิตแล้วด้วยล่ะก็ พวกเขาก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เกือบจะเท่ากับวัถุดิบหรือวัสดุที่ได้มาก่อนที่จะแปรรูปกันเลยทีเดียว

ซึ่ง Elon Musk เขาก็บอกว่า มันยากมากเลยนะสำหรับกระบวนการเหล่านี้ แต่มันสามารถเป็นไปได้ในทุก ๆ เรื่อง ทุก ๆ สิ่ง แต่จะต้องบวกกับความรู้สิทธิบัตรที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นวิธีการและกระบวนการเฉพาะทางในการหลอมรวมวัสดุเหล่านั้นมันขึ้นมา จนสามารถสร้าง Product ได้เป็นล้านชิ้น ในต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นสร้าง Product หรือผลิตภัณฑ์ จากสิ่งที่คุ้นเคย จากเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า การใช้เครื่องมือเดิม ๆ วิธีการเดิม ๆ ก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม ๆ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องจินตนาการไปเลยว่า หาก ณ วันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพื่อที่จะสามารถสร้าง Product ในอุดมคติได้อย่างสมบูรณ์แบบได้ มันจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร สมมติว่าเราสามารถควบคุมอะตอมได้ทุกอะตอมได้ตามต้องการ เราสามารถจัดเรียงอะตอมเป็นรูปร่างในแบบที่ต้องการเป๊ะ ๆ ได้ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ Perfect

ซึ่งถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองเริ่มต้นจากการทำการทดลองแบบคู่ขนานกันเลยก็คือ ให้สร้างผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีการแบบเดิม วัสดุแบบเดิม กับเครื่องมือที่มีอยู่ ส่วนอีกการทดลองหนึ่งก็ให้คุณลองเปลี่ยนวิธีการทีละนิด ซึ่งเมื่อคุณเริ่มเรียนรู้มากยิ่งขึ้น คุณจะเริ่มค้นพบวิธีการใหม่ ๆ แล้วให้คุณลองเปลี่ยนวัสดุที่ใช้บางอย่าง และเลือกใช้เครื่องมือที่แตกต่างออกไปจากเดิม คุณก็จะเริ่มเห็นผลลัพธ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ยิ่งคุณเรียนรู้มากขึ้นเท่าไหร่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นจะเข้าใกล้ความ perfect มากขึ้นไปอีกขั้นเท่านั้น

ถ้าถามว่า SpaceX พร้อมที่จะส่งมนุษย์โลกไปยังดาวอังคารเมื่อไหร่ ทาง Elon Musk เขาก็ตอบว่า อย่างเร็วที่สุดก็น่าจะอีกประมาณ 5 ปี แย่สุดอาจจะอีกประมาณ 10 ปี

ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ Elon Musk เขาบอกว่า ขั้นต่อไปจะต้องทำการลดต้นทุนในการปล่อยยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของโลก และลดต้นทุนเมื่อนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่านี้ให้ได้ซะก่อน เพื่อที่เมื่อไปถึงดาวอังคารแล้ว จะสามารถสร้างเมืองที่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งเขาคิดว่า SpaceX ทำได้แค่นี้ อย่างอื่นเขาไม่สามารถทำได้แล้วเนื่องจากมีทรัพยากรที่จำกัด ดังนั้นขอแค่ให้ยานลงจอดและสร้างเมืองเล็ก ๆ ที่สามารถดูแลตัวมันเองได้ก็เต็มกลืนแล้ว

เพราะตอนนี้ต่อให้คุณมีเงินนับล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คุณก็ไม่สามารถเดินทางไปยังดาวอังคารได้ เงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะมันจำเป็นที่จะต้องทำการปรับปรุงกระบวนการให้ดีกว่านี้ ต้นทุนต่ำกว่านี้

เพราะจุดประสงค์ของเขานั้น ไม่ได้ต้องการแค่ไปปักธงแล้วก็เหยียบบนพื้นผิวบนดาวอังคารแล้วก็กลับโลก และกว่าจะไปอีกรอบก็ทิ้งช่วงยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ เฉกเช่นที่มนุษย์เรานั้นเคยทำมาก่อนหน้านี้กับดวงจันทร์ แต่จุดประสงค์หลักของเขาคือการขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่หลากหลายดาวเคราะห์

ซึ่งหลายต่อหลายคนอาจจะไม่ได้คิดไปไกลถึงขนาดนั้น แต่สำหรับตัวของเขาแล้วนั้น ก็คิดเผื่อว่า หากเกิดภัยภิบัติครั้งใหญ่กับโลกที่อาจส่งผลให้ชาวโลกสูญพันธุ์ เฉกเช่นดังยุคของไดโนเสาร์ หรือโลกอาจล่มสลายด้วยน้ำมือมนุษย์เองนี่แหละ อย่างน้อยถ้ามนุษย์กลุ่มหนึ่งสามารถไปตั้งรกรากที่ดาวอังคารได้ ก็ยังไม่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่หากมันไม่มีภัยภิบัติอะไรใด ๆ เกิดขึ้นเลย นั่นก็เป็นเรื่องดีที่จะได้เห็นการแผ่ขยายเผ่าพันธุ์ไปยังดาวเคราะห์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ให้เวลามันหน่อย

แต่ที่แน่ ๆ ในอนาคตอีกสัก 500 ล้านปี โลกก็อาจจะไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยแล้ว เพราะดวงอาทิตย์จะมีการขยายใหญ่ขึ้นจนโลกไม่เหมาะที่จะอยู่อาศัยอีกต่อไป มันก็ดูเหมือนจะนานอยู่ แต่เมื่อเทียบกับอายุของโลก ที่เกิดขึ้นมาแล้วราว ๆ 4,500 ล้านปี อีก 500 ล้านปีก็แค่ 10% นิด ๆ เอง

แต่หากคิดในทางที่ดี นี่เป็นครั้งแรกของโลกในรอบ 4,500 ล้านปี ที่มนุษย์เรานั้นมีโอกาสที่รักษาเผ่าพันธุ์โดยการคิดแผนการยืดอายุด้วยการไปตั้งรกรากที่ดาวดวงอื่น ซึ่งในเมื่อยุคนี้ยังมีโอกาสที่ยังทำได้อยู่ก็ควรรีบเร่งทำมัน ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ทำ

ซึ่งอารยธรรมของมนุษย์นั้นอาจหายไปจากการพังทลายลงของเศรษฐกิจโลกหรืออาจล่มสลายจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่มีโอกาสอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ 1% ที่เป็นตัวเลขประมาณการณ์จาก Stephen Hawking นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยา ผู้ล่วงลับที่ได้ทำนายเอาไว้ว่ามนุษย์อาจสูญพันธุ์ในอีก 1,000 ปีข้างหน้า ที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามนิวเคลียร์, ภัยภิบัติทางธรรมชาติ หรือแม้แต่ผู้รุกรานจากต่างดาว ซึ่งทาง Elon Musk เขาก็เห็นด้วยกับการคาดการณ์ดังกล่าว

ก็ถือซะว่า ภารกิจการขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นนั้น ก็เปรียบเสมือนการทำประกัน ที่ทำเอาไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าโลกเกิดล่มสลายขึ้นมาจริง ๆ อย่างน้อยมนุษย์ก็ยังไม่สิ้นเผ่าพันธุ์ และนอกจากนั้น เรายังสามารถนำพาสัตว์โลกไปขยายเผ่าพันธุ์บนดาวอังคารได้ด้วย เพราะแน่นอนว่า มันไปเองไม่ได้ เราต้องพามันไป เพราะถ้าเราไม่พามันไป ในอนาคตมันก็จะถูกพระอาทิตย์กลืนกินจนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์สัตว์โลก

ส่วนถ้าถามว่า ต้นทุนในการสร้างจรวดและยานอวกาศไปยังดาวอังคาร ณ ตอนนี้นั้น มีต้นทุนอยู่ที่เท่าไหร่ ทาง Elon Musk เขาก็บอกว่า ตอนนี้ต้นทุนอยู่ที่ราว ๆ $1,000 ล้านดอลล่าร์ฯ ต่อตัน ซึ่งมันมีต้นทุนสูงมากเกินไป ดังนั้นเป้าหมายในตอนนี้เขาจะต้องทำให้ต้นทุนลดเหลือแค่เพียง 1 ใน 1,000 ให้ได้ หรือนั่นก็คือ ต้นทุนมันจะต้องต่ำกว่า $1 ล้านดอลล่าร์ฯ ต่อตัน หรือน้อยกว่านั้น จึงจะสามารถสร้างทัวร์ไปยังดาวอังคาร และเริ่มต้นสร้างเมืองบนดาวอังคารที่สามารถดูลตัวเองได้ มันก็น่าจะมีค่าใช้จ่ายที่ผู้คนจ่ายไหว

ซึ่งการพามนุษย์โลกไปยังดาวอังคารนั้น มันคือภารกิจที่เปรียบเสมือนเป็นประตูแห่งการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะจุดประสงค์หลักของเขาก็คือ เขาต้องการสร้างเมืองที่สามารถดูแลตนเองได้บนดาวอังคาร แม้ว่าจะไม่มียานจากโลกมาอีกเลยก็ตาม แต่นั่นก็หมายถึงว่า มันจะต้องมีการจัดเตรียมองค์ประกอบ จัดเตรียมอุปกรณ์ข้าวของ ที่เมืองสามารถดูแลตัวมันเองได้ มันเหมือนกับการที่คนเราจะออกเรือเดินทะเล แล้วก็ต้องทำให้มั่นใจว่า จะต้องตระเตรียมตัวเตรียมของให้พร้อม ซึ่งตัวของ Elon Musk เอง เขาก็บอกว่า เขาอาจจะมีชีวิตไม่ยืนยาวพอที่จะอยู่ดูมันเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยก่อนตายก็อยากเห็นโมเมนตัมเกิดขึ้นในทิศทางที่เขาวางแผนเอาไว้

ส่วนการที่จะเดินทางไปยังดาวดวงอื่นนั้น ทาง Elon Musk ก็บอกว่า มันยากมาก ๆ เพราะมันอยู่ไกล ซึ่งถ้าถามเขาว่า เราจะมีวิธีการใดที่จะสามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสง หรือวาร์ป หรือเดินทางผ่านรูหนอน เพื่อไปที่อื่น ๆ ในระบบสุริยะได้เร็วขึ้นได้บ้าง? ทาง Elon Musk ก็ตอบว่า ณ ตอนนี้เรายังไม่มีวิธีการที่จะเดินทางได้เร็วกว่าแสง แต่สิ่งที่เร็วกว่าความเร็วแสงนั้นก็คือการทำให้อวกาศมันเคลื่อนที่ เพราะอวกาศเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง แต่มันจะทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีการบิดเบี้ยวของมิติเกิดขึ้น หรืออีกวิธีก็คือ การเกิด Big Bang นั้น มีความเร็วกว่าแสงอย่างแน่นอน แน่นั่นก็จะต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาลในการทำให้เกิด Big Bang

ทีนี้กลับมาที่จรวดกันดีกว่า เพราะมันน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่าในการที่จะเร่งพัฒนาเพื่อให้มนุษย์โลกสามารถเดินทางไปยังดาวอังคารได้เร็วยิ่งขึ้น

ซึ่ง Elon Musk เขาก็ย้ำอยู่เสมอว่า จะต้องพัฒนาระบบการเติมเชื้อเพลิงและนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด จะช่วยเร่งให้การไปดาวอังคารเป็นจริงเร็วยิ่งขึ้น

เพราะตอนนี้มีเพียงจรวด Falcon 9 รุ่นเดียวเท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเติมเชื้อเพลิงได้

และเวลาที่ได้มันกลับมาก็ได้ส่วนประกอบมาไม่ครบ เพราะตัวยานหลัก ๆ มันมีอยู่สองส่วนคือ ส่วนหัวกับส่วนท้าย ซึ่งขึ้นบินแต่ละครั้ง จะได้กลับมาแต่ส่วนท้าย แต่ส่วนหัวจะต้องใช้แล้วทิ้งเลย ซึ่งส่วนหัวจะมีค่าใช้จ่ายราว ๆ $10 ล้านดอลล่าร์ฯ ดังนั้นการส่งจรวดขึ้นบินไปแต่ละครั้งก็จะต้องใช้ต้นทุนอยู่ที่ราว ๆ $15-$20 ล้านดอลล่าร์ฯ ซึ่งยังถือว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่ แถมเวลาที่จะเติมเชื้อเพลิงก็ใช้เวลานานจนเกินไป เพราะแทนที่จรวดลงจอดมันก็ควระจเติมเชื้อเพลิงแล้วบินต่อได้เลย แต่นี่ต้องมาประกอบส่วนหัวที่เสียไปใหม่ ดังนั้นเขาจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้กระบวนการเติมเชื้อเพลิงเพื่อที่จะสามารถนำจรวดบินขึ้นใหม่ได้ในทันทีนี้เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน

หรือถ้าคุณยังนึกภาพต้นทุนในการออกบินสู่อวกาศแต่ละครั้งยังไม่ออก ให้คุณลองนึกว่า เวลาที่คุณเดินทางด้วยรถยนต์จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แล้วทิ้งรถคันนั้นไปเลย พอจะเดินทางใหม่คุณก็ต้องซื้อรถยนต์คันใหม่ มันแพงใช่ไหมล่ะ?

ซึ่งหนทางที่ค่าใช้จ่ายถูกกว่าก็คือ ก็ให้คุณนำรถยนต์คนเดิมไปเติมน้ำมัน หรือเติมเชื้อเพลิงให้เต็มถัง แล้วก็เดินทางต่อได้ ซึ่งวิธีนี้นี่แหละที่จะทำให้ต้นทุนในการเดินทางถูกลงนับพันเท่า มันเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าใจได้ เช่นเดียวกัน หากจรวดสามารถมีระบบนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเติมเชื้อเพลิงอย่างรวดเร็วได้ ก็จะทำให้ต้นทุนในการเดินทางไปยังอวกาศลดลงเป็นร้อยเท่าพันเท่าได้เช่นกัน

ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่ว่ามานั้น เขาแค่ทำตามกฎของฟิสิกส์ ไม่ได้คิดค้นทฤษฎีอะไรขึ้นมาใหม่เลย มันคือการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เขาแค่สร้างมันจากก้อนหิน ไม่ได้สร้างก้อนหินขึ้นมา

ส่วนถ้าถาม Elon Musk ว่า ถ้าสมมติว่าสร้างเมืองบนดาวอังคารได้แล้ว ในเรื่องของการเมือง การปกครองบนดาวอังคารนั้นควรมีรูปแบบอย่างไร?

ซึ่งทาง Elon Musk เขาก็แนะนำว่า ก็ให้ทำเหมือนตอนที่มนุษย์โลกค้นพบดินแดนอเมริกาใหม่ ๆ และใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถโหวตลงคะแนนได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องผ่านตัวแทนอย่างพวก ส.ส. เพราะนักเมืองจุดอ่อนก็คือ พวกเขาสามารถถูกกดดันจากพรรคให้ตามนโยบายพรรคได้ แต่ในขณะที่หากให้ประชาชนลงคะแนะนเสียงโหวตเองโดยตรงได้เลยนั้นก็น่าจะดีกว่า แล้วอีกอย่างก็คือ เวลาที่ออกรัฐธรรมนูญหรือข้อกฎหมายต่าง ๆ นั้น ควรจะเขียนให้สั้นเข้าไว้ อ่านปุ๊บเข้าใจปั๊บ ไม่ต้องมานั่งตีความเป็นภาษากฎหมายที่ยุ่งยาก

ส่วนกฎหมายบนโลกนั้น ข้อเสียของมันก็คือ เมื่อออกกฎมาแล้ว มันมักจะคงอยู่ตลอดไป ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งใหม่ เพราะทุกครั้งที่สิ้นสุดสงครามโลก มันเหมือนกับเป็นการรีเซ็ทระบบทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ทั้งหมด ทั้งการเมือง การปกครอง รวมไปถึงกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากเห็นสงครามโลกอีก ดังนั้น ถ้าไม่มีสงครามโลก กฎหมายปัจจุบันมันจะคงอยู่ตลอดไป แม้คนตั้งกฎจะล้มหายตายจากโลกนี้ไปแล้วก็ตามที แต่ในทุก ๆ ปี ก็จะมีข้อกฎหมายใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งมันก็ต้องขัดกับข้อเดิมด้วย และถ้าดูจากแนวโน้มดังกล่าว ในอนาคตกฎหมายที่ออกมาใหม่จะมีแต่ถูกสะสมพอกพูนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จนคนในยุคใหม่ ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี เพราะกระดิกนิ้วผิดไปนิดเดียวก็อาจทำผิดกฎหมายได้แล้ว

ซึ่งกฎหมายมันควรจะเปลี่ยนแก้ไขได้ แต่พอใครพยายามจะแก้ไขกฎหมาย มันก็จะส่งผลให้กระทบกับคนที่พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา พวกเขาก็จะคัดค้านสุดตัว เพราะเสียผลประโยชน์ ส่วนคนที่อยากแก้กฎหมายก็หวังผลประโยชน์จากมันเช่นเดียวกัน

ซึ่งกฎหมายมันควรจะถูกออกแบบให้เหมือนกับซอร์ฟแวร์ตัวหนึ่ง ที่สามารถปรับปรุงแก้ไขอัพเดทเวอร์ชั่นที่ดีกว่าอยู่เสมอ แต่ในขณะที่กฎหมาย ณ ปัจจุบัน มันเหมือนกับซอร์ฟแวร์รุ่นเดอะ ที่ไม่มีการปรับปรุง แต่มียัดโค้ดใหม่ ๆ เข้าไปอย่างเดียว นั่นมันจึงทำให้ในอนาคตถูกบีบให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ยากขึ้น โลกก็จะพัฒนาไปไม่ถึงไหนสักกะที

Resources