Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Artificial intelligence

วิธีที่คนตัวเล็กจะใช้ AI เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ by Dr. Andrew Ng

Dr. Andrew Ng นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังที่เป็นนักนวัตกรรมสำคัญในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เรียนออนไลน์อย่าง Coursera และเว็บไซต์ Deeplearning.ai ได้ขึ้นแชร์บนเวที TED Talk เรื่องของการนำ AI มาช่วยให้ทุก ๆ ธุรกิจที่มีขนาดเล็กสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยให้กิจการเติบโตได้

โดยดอกเตอร์ Andrew ได้เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า เมื่อเขาได้คิดถึงการผงาดขึ้นของ AI เขาก็ได้นึกถึงการผงาดขึ้นของการรู้หนังสือ ของมนุษย์เรา เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ที่มีคนหลายคนในสังคมคิดว่าทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องรู้หนังสือ อ่านออกและเขียนได้ ในยุคนั้น เพราะหลายคนในสมัยนั้นก็มักจะต้องมีหน้าที่ดูแลท้องทุ่งหรือเลี้ยงแกะซะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นอาจจะไม่มีความจำเป็นมากมายอะไรที่จะต้องใช้การสื่อสารด้วยการเขียน แต่มันเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับนักบวชชั้นสูง แม่ชี และพระ ที่จะต้องอ่านคัมภีร์ไบเบิล หรือคำสอนจากศาสดาให้ออกส่วนคนที่เหลือนอกจากนั้น ก็แค่เข้าวัด เข้าโบสถ์ แล้วก็มีนักเทศน์ มีพระ มีนักบวช คอยอ่าน คอยพูด คำสอนเหล่านั้นให้เราฟัง คนที่เหลือก็แค่นั่งฟัง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านออกเขียนได้ แต่มนุษย์เรานั้นโชคดีที่ค้นพบว่า พวกเราสามารถสร้างสังคมที่ร่ำรวยยิ่งขึ้นได้มากกว่าเดิม หากมีคนในสังคมจำนวนมากที่สามารถอ่านออกและเขียนได้

และในปัจจุบันเจ้า AI ก็อยู่ในมือของเหล่าผู้ที่อ่านออกเขียนได้ ที่เปลี่ยนจากพระ และนักบวช ไปเป็น วิศวกร AI ที่มีความชำนาญสูง ซึ่ง AI Engineer ส่วนใหญ่พวกเขาก็มักจะทำงานในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และผู้คนส่วนใหญ่หากต้องการที่จะเข้าปัญญาประดิษฐ์ได้ก็ต่อเมื่อพวกเหล่าบรรดา AI Engineer ได้สร้างปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้คนกลุ่มนั้นได้ใช้งานกัน คือถ้าพวกวิศวกร AI ไม่สร้าง คนทั่ว ๆ ไปส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ได้เลย แต่สำหรับตัวของ Dr. Andrew เขาเชื่อว่า พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ร่ำรวยได้มากขึ้นหากพวกเราสามารถเปิดโอกาสให้ทุก ๆ คนมาช่วยกันเขียนอนาคตของมนุษยชาตินี้ไปด้วยกัน

คำถามต่อมาก็คือ ทำไม AI ส่วนใหญ่ มักไปกระจุกตัวอยู่กับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ซึ่งคำตอบนั่นก็เป็นการที่จะสร้างโปรเจคต์ AI ขึ้นมาได้นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งบริษัทเหล่านั้นอาจจะต้องใช้วิศวกรที่มีความชำนาญสูงหลายสิบคน และอาจจะต้องใช้เงินทุนหลายล้านหรือหลายสิบล้านดอลล่าร์ฯ ในการสร้างระบบ AI ขึ้นมา

ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่มีผู้ใช้งานหรือ users หลักร้อยล้านหรือเป็นพันล้านคนนั้น การใช้เงินทุนจำนวนมากในการสร้าง AI ขึ้นมา มันก็คุ้มค่าที่จะลงทุน โดยเฉพาะในตลาดของ Search Engine หรือผู้ให้บริการผลการค้นหาบนเว็บไซต์ หรือในอุตสาหกรรมการโฆษณาเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าที่ช้อปปิ้งบนโลกออนไลน์ ซึ่งมันเป็นการสร้างระบบ AI เดียว แต่สามารถนำไปใช้กับผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก เพื่อก่อให้เกิดรายได้จำนวนมหาศาล

แต่สูตรนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จของการสร้างปัญญาประดิษฐ์ เพราะเมื่อไปดูอุตสาหกรรมที่อยู่นอกวงการเทคโนโลยีและวงการอินเตอร์เน็ตแล้วนั้น ที่ส่วนใหญ่มักไม่มีโครงการใด ที่เหมาะจะมีจำนวนผู้ใช้งานหลักร้อยล้านคน หรือไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะสามารถสร้าง impact ขนาดใหญ่ต่อเศรษฐกิจของประเทศได้เลย

โดย Dr. Andrew เขาได้ยกตัวอย่างว่า โดยปกติแล้วในทุกวันสุดสัปดาห์ เขามักจะขับรถไปบริเวณร้านพิซซ่าที่อยู่ในละแวกท้องถิ่นเพื่อซื้อพิซซ่าหน้าฮาวายเอี้ยน จากเจ้าของร้านผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งพิซซ่าของเขาอร่อยมาก ๆ แต่ในร้านเขามักจะมีพิซซ่าหลายหน้าที่มันเย็นแล้ว เพราะขายออกช้า และในทุกสุดสัปดาห์ก็มักจะมีพิซซ่าบางหน้าขายหมดไปก่อนที่เขาจะได้สั่งมากิน

แต่เมื่อ Dr. เขาได้มีโอกาสเข้าไปดูหลังร้านพิซซ่าร้านนี้ เขาก็รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าหน้าร้านจะเป็นร้านขายพิซซ่า แต่หลังบ้านกลับกลายเป็นธุรกิจสร้างฐานข้อมูลการขายพิซซ่า ที่ทางร้านมีการบันทึกข้อมูลการขายแบบละเอียดเลยว่า พิซซ่าหน้าไหนขายได้จำนวนเท่าไหร่ ขายได้วันเวลาไหน เป็นเงินจำนวนเท่าไหร่บ้าง ซึ่งนี่คือข้อมูลที่ทางเจ้าของร้าน เขาสามารถใช้เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในทางการค้า เพื่อตัวของพวกเขาเองได้ หากเขาสามารถเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ได้

โดยเจ้า AI นั้นมันมีความสามารถในการตรวจพบรูปแบบหรือแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นได้ หากมีการป้อนข้อมูลที่ถูกต้องให้กับมัน เช่นบางทีหลังจากที่ป้อนข้อมูลไปให้มันแล้ว มันอาจจะแนะนำให้เจ้าของร้าน เขาทำพิซซ่าหน้าเมดิเตอร์เรเนียนในคืนวันศุกร์ให้มากขึ้น โดยมันอาจจะส่งคำแนะนำให้แก่เจ้าของร้านพิซซ่านี้ให้เตรียมอบพิซซ่าหน้าเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่ช่วงบ่ายให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้มีปริมาณที่มากพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่มักจะชอบสั่งพิซซ่าหน้านี้ทุกคืนวันศุกร์มากเป็นพิเศษ

ซึ่งเมื่อ Dr. เขาเล่ามาถึงตรงนี้ ก็อาจจะมีคนถามขึ้นมาว่า “เฮ้ย แอนดรูว์ นี่มันคือร้านพิซซ่าเล็ก ๆ แค่ร้านเดียว มันจะไปมีความสำคัญอะไร ยังไงกันล่ะ?”

ซึ่ง Dr. Andrew เขาก็จะตอบกลับไปว่า สำหรับเจ้าของร้านพิซซ่าร้านนี้ ถ้าหากมีอะไรสักอย่าง ที่สามารถช่วยให้เขาเพิ่มรายได้ของทางร้าน ได้เพียงไม่กี่พันดอลลาร์หรือไม่กี่หมื่นบาทต่อปี แค่นั้นมันก็เป็นเรื่องที่ใหญ่และสำคัญมากสำหรับเขาแล้ว

ข่าวลือเกี่ยวกับ AI

Dr. Andrew บอกว่า เขารู้มาว่ามักมีข่าวลือมากมายเกี่ยวกับ AI ที่ผู้คนมักจะบอกว่าตัวมันต้องการ Big Data หรือชุดข้อมูลที่มีใหญ่มาก ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

แต่ Dr. บอกว่า ความจริงแล้วในทางตรงกันข้ามกับข่าวลือ เจ้า AI นั้น มันสามารถทำงานได้เป็นอย่างดีกับฐานข้อมูลที่มีขนาดเล็ก ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับข้อมูลที่สร้างโดยร้านพิซซ่าเพียงร้านเดียว

ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงคือ มันไม่ใช่ว่าข้อมูลจากร้านพิซซ่าเพียงร้านเดียวนั้นน้อยเกินไป แต่ปัญหาที่แท้จริงคือร้านพิซซ่าขนาดเล็กนั้น ไม่สามารถอบพิซซ่าเพื่อมาขายให้ลูกค้าได้มากพอที่จะไปจ้างหรือสร้างทีมปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองขึ้นมา เพราะมีค่าจ้างวิศวกร AI ที่แพงมาก

ซึ่งทาง Dr. เอง ก็พยายามไปหาข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารเพิ่มเติมและรู้มาว่า ร้านอาหารในสหรัฐอเมริกานั้น มีจำนวนมากกว่า 5 แสนกว่าร้าน ที่คอยบริการลูกค้าเป็นจำนวนหลายสิบล้านคน แต่ปัญหาก็คือ ทุกร้านอาหารจะมีเมนูที่แตกต่างกันแทบทั้งสิ้น มีฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน และวิธีการบันทึกข้อมูลการขายก็แตกต่างกัน มันก็เลยไม่มีระบบ AI ระบบเดียวที่จะสามารถนำไปใช้กับทุก ๆ ร้านได้

ซึ่ง Dr. ก็ได้ลองตั้งคำถามขึ้นมาว่า

จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถให้ธุรกิจขนาดเล็ก ๆ และธุรกิจระดับท้องถิ่นสามารถเข้าถึงแล้วใช้งาน AI ได้ กันล่ะ?

โดยทาง Dr. Andrew ได้ยกตัวอย่างว่า ถ้าหากเอาธุรกิจแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนอย่างธุรกิจร้านขายเสื้อยืด

โดยให้เราลองดูว่ามันจะเป็นอย่างไรถ้าบริษัทที่ผลิตและขายเสื้อยืดหันมาใช้ AI

โดย Dr. บอกว่า มันน่าจะเข้าท่าดีถ้า นักบัญชีของบริษัทเสื้อยืดจะใช้ AI เพื่อคาดการณ์ยอดความต้องการของประเภทเสื้อยืดได้ เช่น มีลายตลก ๆ อะไร แบบไหนบ้าง ที่จะนำมาพิมพ์บนเสื้อยืดเพื่อกระตุ้นยอดขายให้สูงขึ้นได้บ้าง โดยให้ AI ช่วยดูว่ามีเรื่องอะไรกำลังได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดีย เรื่องที่กำลังเป็นเทรนด์ กำลังอยู่ในกระแส

หรือใช้ AI สำหรับช่วยออกแบบในการจัดวางสินค้า โดยอาจจะให้ผู้จัดการที่หน้าร้านถ่ายรูปสถานที่ร้าน ถ่ายรูปการจัดวางเสื้อยืดภายในร้าน แล้วให้ AI ดูและให้มันแนะนำว่าเราควรวางสินค้าอย่างไรเพื่อเพิ่มยอดขายให้ดียิ่งขึ้นได้บ้าง

หรือจะเป็นส่วนการจัดการซัพพลายเชน ก็ให้ AI สามารถแนะนำให้ฝ่ายจัดซื้อตรวจสอบว่าควรจะจ่ายเงินจำนวน 20 ดอลลาร์ฯ ต่อหลาเพื่อซื้อผ้าดิบในตอนนี้เลยหรือไม่ หรือให้ชะลอไปก่อน เพราะอาจจะพบราคาผ้าที่ถูกกว่าจากเจ้าอื่น

ฝ่ายควบคุมคุณภาพหรือฝ่าย QC ก็สามารถใช้ AI สแกนรูปถ่ายของผ้าที่ใช้ในการทำเสื้อยืดเพื่อตรวจสอบว่าผ้ามีรอยขาด มีตำหนิ หรือมีรอยด่างดำในเนื้อผ้าผืนนั้น ๆ หรือไม่

ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ พวกเขาก็ใช้ AI ทำเรื่องเหล่านี้กันเป็นเรื่องปกติ และก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีซะด้วย แต่ในขณะที่บริษัทเสื้อยืดทั่ว ๆ ไป ร้านซ่อมรถ ร้านค้าปลีก โรงเรียน คนที่ทำฟาร์มในท้องถิ่น ไม่สามารถเข้าถึง AI Application เหล่านี้ได้เลย

เพราะโรงงานเสื้อยืดแต่ละแห่งมีความแตกต่างจากโรงงานเสื้อยืดอื่น ๆ จนทำให้ไม่มี AI ระบบใดระบบหนึ่งที่จะสามารถทำงานกับทุก ๆ โรงงานเสื้อยืดได้

และในความเป็นจริง ปัญหาการเข้าถึง AI นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับบริษัท SME เพียงอย่างเดียว เพราะแม้แต่บริษัทใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนืออุตสาหกรรมเทคโนโลยี อย่างเช่น บริษัทด้านเภสัชกรรม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ โรงพยาบาล ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกัน ที่ไม่มี AI ระบบใดระบบหนึ่งที่สามารถใช้ได้กับทุก ๆ แห่ง เพราะแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน

ซึ่งนี่คือปัญหาของ AI แบบ long tail โดยความหมายก็คือ ถ้าคุณนำโครงการ AI ที่มีอยู่ และโครงการ AI ที่เป็นไปได้ทั้งหมดมาเรียงลำดับตามมูลค่าจากมากไปน้อยมาพล็อตกราฟดู คุณก็จะได้กราฟที่มีลักษณะแบบ long tail อย่างที่แสดงให้เห็น

โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ที่คุ้มค่าแก่การตั้งทีมพัฒนาก็คือ อันดับหนึ่งคืออุตสาหกรรมการโฆษณาออนไลน์ อันดับที่สองคือ Web Search Engine คือผู้ให้บริการแสดงผลการค้นหาบนเว็บไซต์ และอันดับที่สามคือ E-commerce เกี่ยวกับการช็อปปิ้งออนไลน์

แต่เมื่อคุณไปดูทางด้านขวาของกราฟนี้ ที่แต่ละอุตสาหกรรม แต่ละธุรกิจมีมูลค่าทางการตลาดที่น้อย แต่มันมีนับล้านธุรกิจ ที่ยังไม่มีใครสนใจที่จะทำโครงการ AI เพื่อธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งพอรวม ๆ มูลค่าธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันมันกลับมีมูลค่าทางการตลาดอย่างมหาศาลมาก

ดังนั้น คำถามก็คือ เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กและระดับบุคคลทั่วไป สามารถสร้างระบบ AI ที่เหมาะสมกับตัวของพวกเขาเอง

ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การที่จะสร้างระบบ AI ขึ้นมาได้นั้น คุณจะต้องเขียนโค้ดภาษาคอมพิวเตอร์หน้าแล้วหน้าเล่า เพื่อสร้าง system ของ AI ขึ้นมา

และถึงแม้ว่าตัวของ Dr. นั้น พยายามบอกกล่าว ถ่ายทอด และพยายามเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้การเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ ที่แม้จะมีทั้งคอร์สออนไลน์และออฟไลน์ ออกมาสอนวิธีการเขียนโค้ดเพื่อสร้างระบบ AI แล้วก็ตาม ที่แม้ว่าจะทำให้มีคนหันมาสนใจมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเวลาที่จะเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้

แต่ Dr. Andrew ท่านก็บอกว่า ณ ตอนนี้ เรากำลังมีวิธีใหม่ ๆ ที่กำลังสร้างมันขึ้นมา เพื่อให้บุคคลทั่วไป ที่แม้จะเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ก็สามารถเข้ามาร่วมกันสร้างระบบ AI ด้วยกันได้ ซึ่งมันก็เหมือนกับที่ในยุคนี้เรามีกระดาษกับปากกา เพื่อใช้ในการเรียนรู้หนังสือได้ง่ายกว่าในสมัยก่อนที่ใช้สิ่วกับค้อนเพื่อตอกลงบนหินศิลาจารึกที่ทำได้ยากกว่ามาก

ดังนั้นแทนที่จะให้บุคคลทั่วไปมานั่งเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์หลายร้อยหลายพันบรรทัด ก็เปลี่ยนมาเป็นการป้อนข้อมูลเข้าไปในระบบของ AI ที่ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันนี้มีหลายบริษัทที่กำลังสร้างแพลตฟอร์มในรูปแบบนี้ขึ้นมาอยู่

โดย Dr. Andrew ก็ได้หยิบยกตัวอย่างที่ทีมของเขากำลังพัฒนาระบบ AI เพื่อบุคคลทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์เป็นก็สามารถเข้ามาใช้งานได้

ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Landing Lens AI ที่เป็นแพลตฟอร์มใช้ปัญญาประดิษฐ์ ให้ช่วยตรวจจับข้อบกพร่องในผืนผ้าดิบ ที่ผู้ตรวจสอบ สามารถถ่ายรูปเนื้อผ้าแล้วทำการอัปโหลดไปยังบนแพลตฟอร์มนี้ แล้วลากกรอปสี่เหลี่ยมในบริเวณที่มีผ้าขาดหรือผ้ามีรอยด่างให้ AI ได้เรียนรู้ว่ารอยขาดหรือรอยด่างในผ้านั้นมีลักษณะอย่างไร เช่น ถ้าเป็นรูปผ้าขาดก็ให้ทำกรอปสี่เหลี่ยมสีเขียวภายในรูป แต่ถ้าเป็นรอยผ้าด่างดำหรือสีผิดเพี้ยน ก็ให้ทำกรอปสี่เหลี่ยมสีชมพูลงไป

ซึ่งเมื่อทำการป้อนรูปภาพที่มีการระบุรูปแบบรอยขาดกับรอยด่างบนผ้าดิบมากพอ มันก็จะทำให้ AI เริ่มฉลาดมากขึ้น

ซึ่งผู้ใช้งานทั่ว ๆ ไปสามารถเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม AI ตัวนี้ได้อย่างง่ายมากยิ่งขึ้น อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือเพียงไม่กี่วัน ในการจัดซื้ออุปกรณ์ถ่ายรูปที่เหมาะสม และป้อนข้อมูลรอยขาด กับรอยด่างบนเนื้อผ้าดิบลงไปในระบบ AI ซึ่งนี่มันคือการที่โรงงานผ้าดิบนั้น พวกเขาได้สร้างระบบ AI ในการตรวจจับรอยตำหนิบนเนื้อผ้าต่าง ๆ ขึ้นมาด้วยตัวของพวกเขาเอง ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นระบบตรวจสอบตำหนิบนเนื้อผ้าใด ๆ ภายในโรงงานก่อนที่จะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อยืดได้แล้วด้วยตัวของพวกเขาเอง

และพอเล่ามาถึงตรงนี้ คุณก็อาจจะยังงอยู่แล้วพูดขึ้นมาว่า “เฮ้ย แอนดรูว์ นี่มันก็แค่โรงงานเดียวเอง แล้วมันจะไปมีความสำคัญอะไร ยังไงกันล่ะ?”

โดย Dr. Andrew ก็จะตอบกลับไปว่า ไอ้เจ้าเทคโนโลยีประเภทนี้มันสามารถที่จะทำให้ผู้ตรวจสอบคุณภาพ พวก QC ที่มีอยู่แทบทุกบริษัททำงานได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในร้านอบขนมปัง คุณก็สามารถถ่ายรูปภาพลักษณะของขนมปังที่อบได้กำลังพอดี หรืออบแล้วไหม้ หรืออบแล้วยังไม่สุกดี ป้อนเข้าไปในระบบ AI มันก็จะทำให้คนอบขนมปังทำงานได้ดียิ่งขึ้น และได้ขนมปังที่อบอร่อยกำลังพอดีได้ง่ายขึ้น

หรือจะเป็นเกษตรกร ที่ทำฟาร์มผักออร์แกนิคก็สามารถถ่ายรูปแล้วป้อนเข้าไปในระบบ AI ว่าหน้าตาของผักที่ไม่ผ่านคุณภาพเป็นอย่างไร ใบด่าง ใบเน่า เป็นแบบไหนก็ให้ทำการถ่ายรูปแล้วป้อนให้ AI มันเรียนรู้

หรืออย่างช่างไม้ที่ทำเฟอร์นิเจอร์ก็สามารถถ่ายรูปเพื่อตรวจสอบคุณภาพของไม้ที่พวกเขาใช้ภายในโรงงานของพวกเขาได้

ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้อาจจะยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกสักสองสามปี เพื่อให้มันใช้งานได้ง่ายกว่านี้ ที่แม้แต่ร้านพิซซ่าเล็ก ๆ ก็สามารถใช้งานได้ โดยที่ไม่ต้องรู้โค้ดคอมพิวเตอร์ ซึ่งแพลตฟอร์มในลักษณะนี้ ก็เริ่มทยอยออกมาจากหลากหลายบริษัท และธุรกิจ SME บางคนก็เริ่มเข้ามาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของพวกเขาแล้ว เพียงแค่ป้อนข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้าไปในระบบของ AI

ซึ่งแทนที่ คนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา จะคอยเอาแต่พึ่งพาพวกวิศวกร AI ขั้นเทพให้เขียนระบบ AI ของพวกเขาให้เสร็จ ก็เปลี่ยนเป็นให้คนตัวเล็ก ๆ ทุก ๆ คน เข้ามาช่วยกันสร้างระบบ AI เป็นของตัวเอง เพื่อเสริมพลังให้กับทุก ๆ คน ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็น นักบัญชี ผู้จัดการร้าน ผู้จัดซื้อ หรือผู้ตรวจสอบคุณภาพ ก็สามารถสร้างระบบ AI ของตนเองได้

และ Dr. Andrew เขาก็หวังว่า เจ้าของร้านพิซซ่าและเจ้าของกิจการขนาดเล็กอื่น ๆ จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ เนื่องจาก AI กำลังสร้างความรุ่งเรืองและสร้างมูลค่าขึ้นมาในสังคมได้เป็นอย่างมากและ AI มันจะยังคงสร้างความรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง ขอเพียงแค่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง AI ได้ง่าย มันจะทำให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งไปทั่วทุกหย่อมหญ้าของคนในทุกชนชั้นของสังคม

ดังนั้น หากลองมองย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงพลังของการรู้หนังสือ ว่ามันมีพลังมากเพียงใด แต่ตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังของการรู้หนังสือแล้ว และทุกคนต่างก็เห็นแล้วว่าพลังของการรู้หนังสือนั้น มันสามารถสร้างผลกระทบได้มากเพียงใด

และเช่นกัน ณ ตอนนี้ ยังมีคนจำนวนที่น้อยมาก ๆ ที่เข้าถึงพลังของปัญญาประดิษฐ์ได้ แต่อีกไม่นานมันจะถึงยุคที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงพลังของ AI ได้ สามารถสร้างระบบ AI ของตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งวัน ๆ นั้นกำลังจะมาถึง และตัวของ Dr. Andrew Ng ก็คิดว่านี่คืออนาคตที่น่าตื่นเต้นซะจริง ๆ

Resources