Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

THE CEO STORY

ประวัติ Ma Huateng ผู้ก่อตั้ง Tencent ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในจีน

Ma Huateng ถูกจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีนในเดือนสิงหาคม ปี 2017 (แม้ว่าในปี 2018 Jack Ma จะได้ตำแหน่งนี้ไปครอง แต่ในปี 2019 นี้ Ma Huateng ก็สามารถกลับมาแซงได้อีกครั้ง แต่ก็ยังคงสลับอันดับกันไปมาในช่วงระหว่างปี) โดยธุรกิจที่ทำให้เขาได้ตำแหน่งนี้ก็คือ Tencent ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีและไอที โดยถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทไอที อันดับที่ 4 ของโลก รองจาก Google, Amazon และ Facebook โดย ณ ปัจจุบัน Pony Ma มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 37.5 พันล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 1.17 ล้านล้านบาท โดยนิตยสาร Forbs ได้จัดอันดับให้ Ma Huateng เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 17 ของโลกในปี 2018 ในวัย 47 ปี

ประวัติ Ma Huateng ก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ

Ma Huateng (หรือ Pony Ma โดยที่มาของคำว่า Pony มาจากคำว่า Huateng ในภาษาจีนที่แปลว่าม้า) เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ปี 1971 ที่เขตฉาวหยาง เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน แต่เนื่องจากพ่อของเขา Ma Chenshu ได้งานเป็นผู้จัดการที่ท่าเรือในเซินเจิ้น เขาจึงต้องย้ายที่อยู่ตามพ่อไป และในปี 1989 เขาก็ได้มีโอกาสเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น โดยสมัยเรียนเขาทำวีรกรรมไว้กับระบบคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยด้วยการแฮ็คคอมพิวเตอร์และล็อคฮาร์ดไดรฟ์เอาไว้ แม้กระทั่งแอดมินของมหาวิทยาลัยที่มีรหัสผ่านอยู่ในมือก็ไม่สามารถเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้

เขาได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 1993 ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Bachelor of Science in computer science) และเนื่องจากในเวลาต่อมา พ่อของเขาได้เข้าเป็นสมาชิกในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งส่งผลให้ในปี 2014 Ma Huateng กลายเป็นผู้แทนในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติในเซินเจิ้นในเวลาต่อมาอีกด้วย

ซึ่งหลังจากที่เขาเรียนจบแล้ว เขาได้มีโอกาสเข้าไปทำงานที่บริษัท China Motion Telecom Development ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการผลิตและจัดจำหน่ายระบบโทรคมนาคม โดยเขาทำในตำแหน่งผู้พัฒนาซอร์ฟแวร์สำหรับวิทยุติดตามตัว ซึ่งเงินเดือนเดือนแรกที่เขาได้รับคือ 1,100 หยวน หรือประมาณ 5,000 บาท และในเวลาต่อมาเขาก็ได้มีโอกาสไปทำงานที่บริษัท Shenzhen Runxun Communications ในแผนกวิจัยและพัฒนาระบบบริการโทรศัพท์ทางอินเตอร์เน็ตอีกด้วย

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ก่อนการเริ่มต้นเส้นทางบริษัท Tencent นั้น เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานของบริษัทใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยี ไอที, การสื่อสารและอินเตอร์เน็ต ทั้งสิ้น

Ma Huateng เริ่มก่อตั้งบริษัท Tencent

ซึ่งหลังจากที่ทำงานได้ 5 ปี จนกระทั่งในปี 1998 Ma Huateng ในวัย 27 ปี ร่วมกับเพื่อน ๆ ที่เรียนมาด้วยกันอีก 4 คน คือ Zhang Zhidong, Xu Chenye, Chen Yidan และ Zeng Liqing ได้ใช้เงินทุนราว ๆ 500,000 หยวน ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Tencent ขึ้นมา โดยในช่วงแรกของบริษัทนั้น ทำบริการเกี่ยวกับ System Integration หรือบริการวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสำหรับองค์กรเป็นหลัก ซึ่งเป็นช่วงตั้งไข่ของบริษัท เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่จะมาใช้จ่ายและหมุนเวียนให้เพียงพอต่อความอยู่รอดของ Ma Huateng กับเพื่อน ๆ ต้องทำทุกหน้าที่ในบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหาร,โปรแกรมเมอร์, พนักงานบัญชี, พนักงานขาย ยันภารโรง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

กำเนิดแอพฯ Messenger Chat : OICQ/QQ

และปีแรกของการทำธุรกิจในฐานะ SME พออยู่ได้ ทีนี้ก็ถึงเวลาคิดก้าวต่อไปเพื่อให้บริษัทเติบโตมากยิ่งขึ้น โดย Ma Huateng ได้แนวคิดบริษัท Startup มาจากแนวคิดของสหรัฐอเมริกา เพราะแนวคิดของ Startup นั้น จะทำให้ธุรกิจนั้น สามารถเติบโตได้อย่างไม่มีขีดจำกัด โดยเฉพาะในยุคของอินเตอร์เน็ต ซึ่งแนวคิดแรก Ma Huateng ได้เห็นโปรแกรมแชตแบบ instant messaging ตัวแรกของโลกก็คือ ICQ ซึ่งก่อตั้งในปี 1996 โดยบริษัทในประเทศอิสราเอล และเขาก็ได้หยิบไอเดียนี้ นำมาทำโปแกรมแชตของตัวเองในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1999 โดยใช้ชื่อว่า Open ICQ หรือ OICQ หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า ก้อปปี้แทบทุกอย่างที่ ICQ มี เพียงแต่เปลี่ยนเป็นภาษาจีนก็เท่านั้นเอง

แต่ OCIQ ก็ประสบปัญหาเนื่องจากในสมัยนั้น การเล่นแชทเป็นอะไรที่ดูจะไกลตัวจากคนในยุคนั้นสักหน่อย ทำให้มีแต่คนมาสมัครลงทะเบียนทิ้งเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอะไร Ma Huateng จึงใช้กลยุทธ์จำแลงกายขึ้นมาด้วยการสร้างแอคเค้าท์ปลอมขึ้นมาจำนวนหนึ่ง แล้วใช้โปรไฟล์เป็นรูปหญิงสาวหน้าตาดี รวมไปถึงยังพิมพ์แชทแบบผู้หญิงน่ารักกุ๊บกิ๊บ เพื่อดึงดูดให้มีคนมาเล่นแอพเยอะขึ้น ซึ่ง Pony Ma คืออวาตารของหญิงสาวเหล่านั้นนั่นเอง

ซึ่งหลังจากเปิดตัวจนถึงวันสิ้นปีในปี 1999 เดียวกันนี้นี่เอง OICQ ก็ได้รับความยิยมอย่างสูง จนมีผู้เข้ามาใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าจำนวนผู้ใช้งานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ OICQ ของ Pony Ma นั้น กลับไม่มีโมเดลรายได้ที่ชัดเจน ว่าจะทำเงินจากมันได้อย่างไร แนะนั่นมันก็คือปัญหาใหญ่ของพวกเขา ที่เงินกำลังจะขาดมือ เนื่องจากยิ่งมีผู้ใช้งานเยอะ ก็ทำให้รายจ่ายเรื่องของเซิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้นในทุก ๆ เดือน ๆ แต่ในขณะที่เงินที่อยู่ในกระเป๋าเริ่มหร่อยหรอลงทุกที ซึ่งแม้ว่าเขาจะพยายามระดมทุน และนำแผนไปเสนอนักลงทุนอย่างมากมาย แต่กลับไม่มีใครเอาด้วยเลย ซึ่งตั้งแต่เปิดบริษัทมาได้ 3 ปี Tencent เป็นบริษัทที่เคยไม่มีกำไรเลย

Ma Huateng ต้องตัดสินใจที่จะไปหรือไม่ไปต่อ

จนกระทั่งในปี 2001 Pony Ma ก็ตัดสินใจรับข้อเสนอการลงทุนที่ถือว่าเสียเปรียบอย่างมาก เนื่องจากต้องแลกความเป็นหุ้นส่วนให้กับบริษัทสัญชาติแอฟริกาใต้ที่ชื่อว่า Naspers เป็นจำนวน 33.2 เปอร์เซ็นต์ กับเงินลงทุนจำนวน 32 ล้านดอลล่าร์ฯ (หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท) ซึ่งในปี 2018 ที่ผ่านมา Naspers ได้ขายหุ้นของ Tencent ออกไป 2% หรือจากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 33.2% เหลือเพียง 31.2% แต่กลับได้เงินจากการขายกว่า 10,600 ล้านเหรียญฯ

ซึ่งเจ้าเงินก้อนนี้ มันก็ทำให้ Pony Ma สามารถนำพา Tencent ผ่านพ้นวิกฤตทางการเงินมาได้อย่างฉิวเฉียด ก่อนที่เงินภายในบริษัทกำลังจะหมดลง

และหลังจากที่ Naspers ได้เข้ามาลงทุนใน Tencent ก็ได้ผลักดันสานต่อแอพแชทอย่าง OICQ โดยในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น QQ เนื่องจากโดยฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์จากบริษัท AOL ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ICQ ว่ามีชื่อที่คล้ายกัน ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และนั่นก็ไม่ได้หมายถึงเขาจะหยุดยั้ง เพราะหลังจากที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น QQ และภายในปี 2000 ก็สามารถดึงผู้ใช้งานได้มากกว่า 100 ล้านคน

แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังหาเงินจากแอพนี้ไม่เป็นหลักเป็นแหล่งสักกะที จนกระทั่งได้มาจับมือกับ China Mobile เพื่อเชื่อมโยงแอพ QQ เข้ากับโทรศัพท์มือถือ เพื่อพ่วงค่าบริการจากการส่งข้อความ, เล่นเกม หรือการหาคู่ผ่านมือถือ

Ma Hueateng ให้กำเนิดเว็บท่า สร้างรายได้จากค่าโฆษณาออนไลน์

ต่อมา Pony Ma มีแนวคิดที่จะทำเว็บท่า ซึ่งหากใครยังนึกไม่ออกให้เปรียบเว็บท่าเหมือนอย่าง Sanook.com หรือ Kapook.com ที่สมัยแรก ๆ ที่ Google, Youtube, Facebook หรือเว็บอื่น ๆ ยังไม่ดัง เวลาคนเล่นอินเตอร์เน็ตนึกอะไรไม่ออกว่าจะเข้าเว็บไหนดี ก็จะเข้ามาที่เว็บท่าก่อน และ Pony Ma ก็ได้สร้างเว็บไซต์ที่ชื่อ QQ.com ขึ้นมา โดยมีโมเดลรายได้จากค่าโฆษณาที่ลงบนเว็บไซต์ และนั่นก็ทำให้ในปี 2001 Tencent เริ่มมีกำไร โดยมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท

แต่หลังจากที่คำนวณตัวเลขของผู้ใช้งานที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับรายได้จากค่าโฆษณาที่ไม่ได้สูงขึ้นตามอย่างที่คิด และเอาแน่เอานอนไม่ค่อยจะได้ ทาง Pony Ma จึงตระหนักได้ว่า หากพึ่งรายได้จากค่าโฆษณา บริษัทอาจจะไปไม่รอด เพราะการที่ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล มันทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลเซิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

พลิกเกมจากลูกนกสู่พญาอินทรีย์ ด้วยโมเดลรายได้แบบ Visual Money

ดังนั้น จึงเกิดโมเดลรายได้อันใหม่ขึ้นมานั่นก็คือ การขายไอเทมตกแต่ง Avatar ในแอพ QQ ซึ่งโดยปกติแล้ว หากพูดถึงโปรแกรมแชทโด่งดังอย่าง MSN จากค่ายของ Microsoft (ที่ ณ ปัจจุบันได้ปิดตัวลงแล้ว) ที่ใช้รูป Avatar จากผู้ใช้งานแบบปกติ แต่ QQ กลับเปิดให้ผู้ใช้งาน สามารถตกแต่งรูปประจำตัวอย่าง Avatar ได้อย่างอิสระ โดยมีไอเทม ให้ตกแต่งรูปร่าง หน้าตา เครื่องประดับ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า แม้กระทั่งตกแต่งฉากพื้นหลัง เพื่อให้รูป Avatar ของตัวเองนั้นดูกิ๊ปเก๋กว่าคนอื่น ๆ

ซึ่งเจ้าไอเทมเหล่านี้ จะมีทั้งแบบที่ใช้งานได้ฟรีและแบบที่ต้องใช้เงินแลกซื้อมา โดยการเติมเงินลงในแอพ QQ จะสามารถแลกสกุลเงินในแอพโดยมีสกุลเงินที่เรียกว่า Qbi เพื่อซื้อไอเทมตกแต่ง Avatar ได้ และ Tencent เองก็ถือว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ใช้โมเดลรายได้จาก Virtual Money หรือเงินเสมือนจริงในโลกออนไลน์ ที่เมื่อผลิตไอเทมออกมาครั้งเดียว แต่สามารถทำซ้ำแบบไม่มีต้นทุนเพิ่ม และทำรายได้แบบไม่รู้จบ

และนั่นก็ทำให้ภายในปี 2002 QQ สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วได้กว่า 14 เท่า โดยในปีนี้สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้งานได้สูงถึง 160 ล้านคน และในปี 2004 Pony Ma ก็ได้ตัดสินใจนำ Tencent เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกง โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 149 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 4,500 ล้านบาท

ซึ่งในมือของ Tencent นั้น มีแพลตฟอร์มของตนเองอยู่ในหลากหลายหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็น

  • Gaming – Tencent Games
  • Music – QQ Music
  • News – Tencent News
  • Video – Tencent Video
  • Online Publishing – Tencent Literature
  • Cloud – Tencent Cloud

ขยายโมเดลรายได้แบบ Vitual Money สู่อุตสาหกรรมเกมมิ่ง

และหลังจากที่ Pony Ma พิสูจน์มาแล้วว่า โมเดลรายได้แบบ Vitual Money หรือเงินเสมือนจริงที่ใช้ในการซื้อไอเทมต่าง ๆ มันเวิร์ค โมเดลรายได้แบบนี้จึงไปปลั๊กเข้ากับธุรกิจในวงการเกมออนไลน์ ที่ผู้คนมักคุ้นเคยกับการซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกมกันอยู่แล้ว ทำให้ในปี 2004 หลังจากที่เข้าตลาดหุ้น Tencent ก็ได้รุกหนักในตลาดเกม โดยได้กว้านซื้อบริษัทเกมและเข้าถือหุ้นบริษัทจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • Riot Games บริษัทเกมจากสหรัฐฯ เจ้าของเกมชื่อดังอย่าง League of Legends ซึ่งเกมนี้เพียงเกมเดียว ก็สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี โดย Tencent ถือหุ้นทั้งหมดของ Riot Games เอาไว้เรียบร้อยแล้ว
  • Garena (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น SEA)บริษัทเกมที่มีผู้ก่อตั้งเป็นชาวจีน แต่ไปก่อตั้งที่สิงคโปร์ โดย Tencent ถือหุ้นอยู่กว่า 39.7% มีเกมมือถือชื่อดังอย่าง ROV ที่ฮิตทั่วไทย ณ ขณะนี้
  • Epic Games ผู้ผลิตเกม PC ชื่อดังของอเมริกา อย่าง Fortnite โดย Tencent ถือหุ้นอยู่ใน Epic Games ประมาณ 40% ซึ่งในปี 2018 ที่ผ่านมา เฉพาะเกม Fortnite ก็สามารถทำรายได้มากกว่า 2 พันล้านเหรียญฯ เข้าไปแล้ว
  • PUBG Corporation ถือหุ้นอยู่ประมาณ 5%
  • Supercell ผู้ผลิตเกมมือถือสัญชาติฟินแลนด์ เจ้าของเกม Clash of Clans และ Clash Royale ที่ตอนนี้ Tencent ถือหุ้นอยู่ประมาณ 84%
  • CJ Games บริษัทเกมจากเกาหลีใต้ โดยในปี 2014 Tencent ซื้อหุ้นมาประมาณ 28%
  • Ubisoft ที่มีเกมชื่อดังอย่าง Assassin’s Creed ที่เฉพาะเกมซีรี่ย์นี้ก็สามารถทำเงินได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญฯ ซึ่ง Tencent ถือหุ้นไว้อยู่ประมาณ 5% ซึ่ง Tencent ได้นำค่ายเกมสัญญาติฝรั่งเศสเข้ามาทำการตลาดที่จีน

2005 – Paipai.com เน้นด้าน E-commerce คู่แข่งกับ Taobao ของ Alibaba

2006 – ลงทุน 500 ล้านบาท สร้างสถาบันวิจัยของตนเอง ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านอินเทอร์เน็ตแห่งแรกของจีน

2008  – Soso.com เสิร์ชเอ็นจิ้น

กำเนิดแอพฯ WeChat แอพฯ อันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่ WhatsApp และ Messenger

และเมื่อ Pony Ma ทราบข่าวของการมาของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง Facebook พยายามที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดจีน แต่ด้วยข้อกฏหมายที่ยุ่งยากของประเทศจีนที่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ระหว่าง Facebook กับประเทศจีน ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะโพสต์ทุกโพสต์ก่อนที่จะขึ้นสู่ออนไลน์ จะต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งทางรัฐบาลจีนมองในแง่ของความมั่นคง ส่วนทาง Facebook เองก็มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของผู้ใช้งาน จึงทำให้ Facebook ถูกจีนแบนในปี 2009

Pony Ma เห็นช่องโหว่ว่า ในเมื่อ Facebook ไม่สามารถเจาะเข้าตลาดจีนได้สำเร็จ ถ้าเช่นนั้นจีนจะเจาะสหรัฐฯ กลับแทนเลยก็แล้วกัน โดยในปี 2010 ทาง Tencent ได้แอบไปลงทุนในบริษัทที่ชื่อว่า Digital Sky Technologies ของประเทศรัสเซีย ซึ่งเจ้าบริษัทนี้นี่เอง ที่ถือครองหุ้นของ Facebook อยู่เป็นจำนวนหนึ่ง โดยว่ากันว่า ตัวเลขการลงทุนในครั้งนี้สูงถึง 10,000 ล้านบาท กันเลยทีเดียว

และในปี 2010 นี้นี่เอง ที่ทาง Pony Ma ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ในไม่ช้า ยุคของสมาร์ทโฟนครองโลกจะต้องมาถึงเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน ซึ่งทำให้ Pony Ma ฉุกคิดขึ้นได้ว่า เจ้าโปรแกรมแชท QQ ที่เขาถือครองอยู่นั้น ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ใช้งานจากคอมพิวเตอร์เป็นหลัก จึงจัดแจงให้ทีมงานภายในบริษัท ได้แข่งกันพัฒนาแอพสำหรับแชทที่สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้ โดยแอพที่ชนะเลิศในการแข่งครั้งนี้ได้แก่ เหวยซิ่น (Weixin) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Wechat (ที่เป็นแอพแชทรูปแบบเดียวกับ Line ที่เราคุ้นเคยกันในประเทศไทยนั่นเอง)

โดยเจ้า Wechat นี้ ได้เปิดตัวในปี 2011 ซึ่งคีย์สำคัญที่ทำให้ WeChat โด่งดังเป็นพลุแตกก็คือ ‘Timing’ โดยแบ่งเป็นความเร็วในการพัฒนา ซึ่งใช้เวลาพัฒนาเพียง 2 เดือนเท่านั้น และจังหวะเวลาในการเปิดตัว ซึ่งเวลาที่ Weixin ทำการเปิดตัวแอพก็คือ วันที่ Smartphone ถูกวางขายในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในแอพพื้นฐานที่มือถือทุกเครื่องต้องมี ทำให้ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนรู้จักแอพและทดลองเข้าใช้งานในทันที

และหากคิดว่า Weixin เป็นเพียงแค่แอพเอาไว้สำหรับแชทแล้ว คุณคิดผิดถนัด เพราะแอพนี้มันทำให้เกิดปรากฏการณ์ในจีนที่เรียกว่า Cashless หรือสังคมไร้เงินสด เพราะเพียงแค่ผูกบัญชีธนาคารกับแอพ Weixin ก็สามารถใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้แทบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น สั่งอาหาร, จ่ายค่าแท๊กซี่, จองตั๋วเครื่องบิน, ชำระค่าสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งในทุก ๆ เรื่องที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถสั่งจ่ายผ่านแอพได้แทบทั้งสิ้น

และก็เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญในปี 2014 ที่ทำให้ฐานผู้ใช้ Weixin เติบโตแบบก้าวกระโดด นั่นก็คือ ในช่วงวันตรุษจีนทาง Weixin ได้ทำแคมเปญดึงดูดให้ผู้คนหันมาส่งอั่งเปาในรูปแบบเงินดิจิตอล โดยสามารถส่งอั่งเปาแบบดิจิตอล(โดยเอาเงินจริงแลกเป็นอั่งเปาดิจิตอล) แล้วส่งให้กับครอบครัว, ลูกหลาน ญาติ พี่น้อง ที่ทำให้แม้แต่อากง อาม่า ที่ดูจะไม่ค่อยสันทัดในเรื่องเทคโนโลยี ก็ยังสามารถใช้งานได้เป็น และเหตุการณ์ครั้งนี้ ยังสั่นสะเทือนไปทั้งวงการของธนาคารและสถาบันทางการเงินของจีน ที่ปกติแล้ว จะได้รับค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของประชาชน แต่ประชาชนกลับหันไปใช้ Weixin ที่สามารถโอนเงินได้สะดวกและไม่มีค่าธรรมเนียม

มีแต่คนจีนเท่านั้นที่เข้าใจในการทำธุรกิจในประเทศจีน

แต่การที่ Tencent สามารถเข้าถึงข้อมูลประชากรจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ที่มีกฏที่เคร่งครัด เรื่องข้อมูลของประชาชน ซึ่งด้วยเหตุผลนี้ ทำให้บริษัทต่างชาติเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าทำตลาดในประเทศจีนได้อย่างอิสระ

แต่ถึงแม้ Tencent จะเป็นบริษัทสัญชาติจีนแท้ แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของรัฐบาลจีน มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่รัฐบาล ต้องการควบคุมประชากรในอุตสาหกรรมเกม ที่บังคับให้ทุกคนต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนก่อนเล่นทุกครั้ง และหากผู้เล่นคนใดที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี จะถูกกำหนดให้เล่นเกมได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

ซึ่งนั่น มันส่งผลกระทบพอดีในวันที่ Tencent กำลังปล่อยเกมใหม่สู่ตลาดกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ทำให้หุ้นของ Tencent ร่วงกว่า 44% ในทันที แต่ Ma Huateng ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลจีนอย่างเคร่งครัด เพราะหากตั้งตนอยู่คนละฝั่งกับรัฐบาลจีนแล้วล่ะก็ จบไม่สวยอย่างแน่นอน เพราะมีตัวอย่างบริษัทต่างชาติที่พยายามจะเจาะตลาดจีนแต่ไม่ปฏิบัติตามกฏของรัฐบาลจีน ทำให้ถูกแบน และต้องล่าถอยกลับประเทศตนเองไป ก็มีให้เห็นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Google(จีนใช้ Baidu), Facebook(Weibo, QQ, WeChat),  Uber(Didi) หรือ Youtube(Youku) เป็นต้น

และการที่ Pony Ma เล่นตามกติกาของรัฐบาลจีนอย่างเคร่งครัด ทำให้ในเดือนมกราคมปี 2019 ที่ผ่านมา แอพนี้มีผู้ใช้งานต่อเดือนสูงถึง 1,083 ล้านคน โดยเป็นรองเพียงแค่ Facebook Messenger และ WhatsApp เท่านั้น (ซึ่งอันที่จริงแล้วเจ้า WhatsApp ก็ถูก Facebook ซื้อกิจการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว)

เข้าลงทุนและซื้อกิจการไอทีทั่วโลก ทางตรงไม่ได้ก็เอามันทางอ้อมจนได้

ต่อมาทาง Pony Ma ได้เริ่มลงทุนและพัฒนาในกิจการอื่น ๆ อย่างมากมายทั้งในและนอกประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น

  • ปี 2010 เข้าซื้อหุ้นของ Sanook.com ที่ถือได้ว่าเป็นเว็บไซต์ท่าอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ณ ตอนนั้น โดยในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด และ Sanook เป็นหนึ่งในบริการของเทนเซ็นต์โดยทำหน้าที่เป็นเว็บท่า ให้ข้อมูลด้านข่าวสารและข่าวบันเทิงต่าง ๆ พร้อมกับสร้างแอพ Noozup ที่ะทำหน้าที่ฟีดข่าวต่าง ๆ ในกลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นหลัก
  • ในปี 2015 ได้เปิดตัวแอพสตรีมมิ่งที่ชื่อว่า JOOX โดยเปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ และในปี 2016 ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ประเทศไทย โดย ณ ปัจจุบัน กลายเป็นแอพสตรีมมิ่งเพลงอันดับหนึ่งในประเทศ ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, แอฟริกาใต้และประเทศไทย โดยมี Active User มากกว่า 10 ล้าน ซึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้ แม้ว่าจะมีสมาชิกเพียง 3% ที่จ่ายค่าบริการ แต่กลับเป็นรายได้กว่า 50% ของรายได้ทั้งหมดของ JOOX และอีก 50% เป็นรายได้จากค่าโฆษณา และในธุรกิจเพลงยังมี QQ Music, Kugou และ Kuwo ที่มีผู้ใช้งานรวม ๆ แล้วมากกว่า 600 ล้านคนอีกด้วย
  • เข้าลงทุนใน JD.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอันดับที่ 2 ของจีน เป็นรองแค่ Alibaba.com ของ Jack Ma เท่านั้น โดย Tencent ถือหุ้นของ JD อยู่ประมาณ 21.25% และ JD เองก็ได้ไปลงทุนต่อใน Xiaomi นอกจากนั้น ในปัจจุบันนี้ JD.com ยังได้เข้ามาลงทุนใน Central ของประเทศไทยอีกด้วย โดยร่วมกันก่อตั้ง JD.co.th เพื่อรุกตลาดอีคอมเมิร์ซ
  • ลงทุนใน Didi Dache ที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Didi Chuxing ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นที่ใช้เรียกรถแท็กซี่ ที่สามารถเอาชนะ Uber ในจีนได้อย่างราบคาบ ถึงขนาดที่ว่า Uber ในจีน ต้องยอมถอยและขายกิจการทั้งหมดในจีนให้กับ Didi เพราะหลังจากที่ Tencent ร่วมกับ Didi แล้ว ทาง Tencent ที่เป็นเจ้าของแอพแชทอย่าง Wechat ที่ทำการบล็อก Uber ไม่ให้เข้าถึงผู้คนในจีนได้ ซึ่งเป็นคนในจีนกลุ่มใหญ่มาก ทำให้ Uber สูญเสียช่องทางการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหญ่
  • ในส่วนของสื่อความบันเทิง ทาง Tencent ยังได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ HBO, NBA, Warner Bros เพื่อจัดจำหน่ายและถ่ายทอดสดแต่เพียงผู้เดียวในประเทศจีน
  • และนอกจากนั้น ยังได้ลงทุนในบริษัทระดับโลกชื่อดังอย่าง Snapchat ของ Evan Spiegel และ Tesla Motors ของ Elon Musk อีกด้วย

และหากเจาะลึกแบบจริง ๆ จัง ๆ ไปกว่านั้น เหล่าบรรดาบริษัทระดับโลก โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น Tencent มีส่วนเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทโดยตรง แต่หากซื้อโดยตรงไม่ได้ ก็จะไปลงทุนในธุรกิจที่ถือหุ้นบริษัทเหล่านั้นอยู่จนได้

สรูปโมเดลรายได้หลักของ Tencent

ซึ่งโมเดลรายได้หลัก ๆ ของ Tencent จะมีด้วยกันอยู่ 3 ช่องทาง คือ

ช่องทางที่ 1 – Value Added Services (เก็บเงินตามการซื้อ)

  • Social Networks: monthly subsciption + item purchases
  • Online Games: monthly subsciption + item purchases

ช่องทางที่ 2 – Online Advertising (รายได้ขึ้นอยู่กับปริมาณ Traffic)

  • Media Ad includes news, video and music propoties
  • Social & Others Ad includes social propoties, app store, browser and ad network

ช่องทางที่ 3 – Others (รายได้ต่อการทำธุรกรรม)

  • Online payment: charge rate
  • Cloud

ปัจจัยความสำเร็จของ Ma Huateng ที่นำพา Tencent ให้ประสบความสำเร็จ

โดย Key Success ของ Tencent ก็คือ การอาศัยฐานผู้ใช้งานในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน ผ่านแอพอย่าง QQ และ Weixin(WeChat) เพราะยิ่งมีฐานผู้ใช้งานมากเท่าไหร่ ช่องทางการสร้างรายได้ ก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

และนอกจากนั้น Pony Ma ยังได้สร้าง Ecosystems ไว้ให้กับ Tencent แบบรอบด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่หลังจากสามารถทำเงินจาก Tencent ได้อย่างมากมาย Pony Ma ก็ได้นำเงินไปลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ แบบเป็นลูกโซ่ ทำให้ไม่ว่าผู้คนจะไปทางไหนก็สามารถดักไว้ได้เกือบทั้งหมด และนอกจากนั้นยังเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เป็นผู้ผลิต Content โดยที่ Tencent ได้เป็นตัวแทนติดต่อเพื่อขอเป็นผู้เผยแพร่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศจีนอีกด้วย

Ma Huateng มหาเศรษฐีผู้รักสันโดษและใจบุญ

สำหรับนิสัยส่วนตัวของ Ma Huateng นั้น เป็นคนที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายและเป็นคนเก็บตัวมาก แทบจะไม่ออกสื่อใด ๆ ซึ่งสวนทางกับการเติบโตของ Tencent โดยสิ้นเชิง โดยเขาได้เคยให้สัมภาษณ์โดยได้พูดประโยคแสนจะธรรมดาว่า “การที่จะมองเห็นอนาคตข้างหน้าได้ไกลได้นั้น คุณจะต้องขึ้นไปยืนบนไหล่ของยักษ์” ซึ่งเขาได้ศึกษาเหล่าบรรดายักษ์ใหญ่จากทั่วโลกว่ามีประเทศใดที่ทำอะไร ทำยังไงถึงได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง แล้วก็นำมาปรับใช้กับธุรกิจในประเทศจีน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ว่า มีแต่คนจีนเท่านั้น ที่สามารถทำธุรกิจในจีนได้ ซึ่งคำพูดนี้ก็ดูเหมือนจะไม่เกินจริง เพราะขนาดยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook หรือ Uber ก็ยังเจาะตลาดในจีนไม่เข้า ไปไม่รอด

ซึ่งข้อดีของการที่ Ma Huateng ไม่ค่อยได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อใด ๆ แต่กลับกลายเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากคู่แข่งจะจับทางได้ยาก และในระหว่างนั้น Tencent เองก็แอบแทรกซึมไปลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั่วโลก และนำมาพัฒนา ซึ่งกว่าคู่แข่งจะรู้ตัวอีกที ก็โดนทิ้งห่างไปหลายขุมแล้ว

นอกจากนั้น เขายังเป็นมหาเศรษฐีใจบุญ ที่ได้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อดูแลสุขภาพแก่เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, เด็กกำพร้าที่เป็นโรคเอดส์, เด็กพิการ และยังได้ก่อตั้งมูลนิธิการกุศล เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา เช่น ในปี 2007 เขาได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 140,000 เหรียญฯ (ราว ๆ 4.2 ล้านบาท) ที่โรงเรียนมัธยมเซินเจิ้น และภายในปีนี้ปีเดียว เขาก็ดำเนินการสร้างโรงเรียนทั่วประเทศจีนกว่า 31 แห่ง โดยบริจาครวมแล้วมากกว่า 1.5 ล้านเหรียญฯ (ราว ๆ 45 ล้านบาท)

และนอกจากจะบริจาคในนามบริษัท Tencent แล้ว เขายังได้บริจาคหุ้นส่วนตัวกว่า 100 ล้านหุ้น ซึ่งมีมูลค่ารวมแล้วกว่า 2,000 ล้านเหรียญฯ (ราว ๆ 60,000 ล้านบาท) เพื่อเข้ามูลนิธิส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือผู้คนทั่วโลก และประกาศเอาไว้ว่า จะนำกำไรจำนวน 2% ที่ Tencent Holding ในแต่ละปีบริจาคการกุศลอีกด้วย

Ma Huateng เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“In America, when you bring an idea to market, you usually have several months before competition pops up, allowing you to capture significant market share. In China, you can have hundreds of competitors within the first hours of going live. Ideas are not important in China – execution is.”

หมายถึง ในอเมริกา เมื่อคุณนำไอเดียเปิดตัวเข้าสู่ตลาด คุณจะพบว่ากว่าจะมีคู่แข่งผุดขึ้นตามมาก็อาจใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งยังคงมีเวลาที่จะกอบโกยส่วนแบ่งจากตลาดนั้น แต่ในขณะที่ประเทศจีน ทันทีที่ไอเดียของคุณถูกป้อนเข้าสู่ตลาด จะมีคู่แข่งนับร้อยเกิดขึ้นในชั่วโมงแรกทันที ดังนั้นแล้วสำหรับประเทศจีน ไอเดียเป็นสิ่งที่ไม่สลักสำคัญอะไรสักเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการวัดกันว่า ใครสามารถทำให้ไอเดียนั้นมันปังได้ก่อนกันต่างหาก

– Ma Huateng ผู้ก่อตั้ง Tencent –

Resources