Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

วิธีลงทุน Bitcoin ให้รวย สไตล์ Anthony Pompliano EP.1 ตอน กฎข้อแรกของเกมการเงิน

Anthony Pompliano นักธุรกิจ นักลงทุน และยูทูปเบอร์สายเทคโนโลยีและการเงิน อดีตพนักงาน Facebook และ Snapchat ผันตัวสู่การเป็นนักลงทุน โดยในปัจจุบันพอร์ทของเขากว่า 80% เป็น Bitcoin ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเป็นในกลุ่มของบริษัท Tech Startup ในช่วงตั้งไข่และนอกนั้นก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ โดยในปัจจุบันคาดว่าเขาน่าจะมีทรัพย์สินรวมราว ๆ $200 ล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท

โดยในคอนเท้นต์นี้เขาจะแชร์หลักคิดว่า เพราะเหตุใดการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในปัจจุบัน และทำไมเขาจึงเลือกที่จะลงทุนใน bitcoin เป็นสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ 80 จากพอร์ทการลงทุนทั้งหมดของเขา

โดยการสัมภาษณ์ในครั้งนี้เป็นการสัมภาษณ์จากช่อง Tom Bilyeu นักธุรกิจ นักลงทุนและยูทูปเบอร์ชื่อดังที่มีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน โดย Tom Bilyeu เริ่มเกริ่นก่อนว่า เคยมีประโยคหนึ่งที่มักจะใช้แบ่งพฤติกรรมของกลุ่มคนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันก็คือ

  • กลุ่มแรกคือกลุ่มของคนจนที่พฤติกรรมของพวกเขาคือการจับจ่ายใช้สอย
  • กลุ่มที่สองคือกลุ่มของคนฐานะปานกลางทั่วไปพฤติกรรมที่ส่วนใหญ่มักทำกันคือการเก็บหอมรอมริบ
  • และกลุ่มที่สามคือกลุ่มของคนรวยที่พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้มักชอบการลงทุน

และก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่การมาของ bitcoin และ cryptocurrency นั้น ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มคนจน คนชนชั้นกลาง หรือไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนและเข้าสู่ตลาดนี้ได้ โดยสามารถใช้ crypto เป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตได้ทุกคน

ทีนี้ Pomp คุณช่วยพูดถึงกลุ่มคนในอเมริกาหน่อยได้ไหมว่า ระหว่างคนที่ไม่ได้ลงทุน กับคนที่ลงทุนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง

โดย Pomp เริ่มต้นด้วยการบอกว่า เขาขอเปรียบเทียบด้วยสถิติระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในโลกของการเงินก็แล้วกัน โดยชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 45 นั้น ไม่มีการลงทุนในทรัพย์สินอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ cryptocurrency หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของเงินสด แต่มันอยู่ในรูปของที่คุณลงทุนแล้ว มูลค่าของสิ่งที่ลงทุนนั้นมันจะเพิ่มมูลค่าในอนาคต ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่คิดที่จะลงทุนในสิ่งเหล่านี้เลย

เพราะคนกว่าร้อยละ 45 นั้น ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบเดือนต่อเดือน หาเช้ากินค่ำ ส่วนถ้าเหลือก็จะเก็บเงินสดเอาไว้ในธนาคารซะส่วนใหญ่

และส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงกับเงินเก็บ ดังนั้นทาง Anthony มองว่า ปัญหาจริง ๆ แล้วมันอยู่ตรงที่องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการเงิน ซึ่งเขามองว่ามันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องของการเงิน

โดย Tom ก็ได้เสริมว่า มันยากมากที่หากใครสักคนหนึ่งที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แล้วพยายามดิ้นรนที่หลุดออกจากกรอบของความจนนั้น แต่หากคนดังกล่าวได้ถูกย้ายไปที่ ๆ มีการให้การศึกษาให้ความรู้โดยเฉพาะเรื่องของการเงิน การลงทุนอย่างถูกต้อง แม้ว่าคน ๆ นั้นจะเกิดมาจน แต่หากได้องค์ความรู้ที่ดีก็สามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนนั้นได้ ดังนั้น เรื่องการได้รับการศึกษาเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างคนรวยกับคนจน

ซึ่งทาง Pomp ก็ได้พูดต่อ โดยสมมติว่าหากผมให้คุณลองเริ่มเล่นเกมสักเกม โดยที่คุณไม่เลยเล่นมันมาก่อน แล้วก็ไม่มีการบอกวิธีการเล่นใด ๆ รวมไปถึงกฎการเล่นของเกมเลย มันจะยากมากหากคุณพึ่งเริ่มต้นเล่นในเกมนี้

เช่นเดียวกัน เรื่องของเงิน ก็เป็นเกมชนิดหนึ่งที่มันมีวิธีการเล่น และกฎการเล่นเกมเพื่อสร้างความได้เปรียบเปรียบมากกว่าผู้เล่นคนอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น กฎที่สำคัญข้อแรกที่ผู้เล่นเกมการเงินจำเป็นต้องรู้ก็คือ เงิน fiat หรือเงินกระดาษนั้น จะมีค่าน้อยลงในแง่ของกำลังซื้อในระยะยาว หรือที่เรารู้จักในชื่อของ inflation หรือค่าเงินเฟ้อ ซึ่งมันเกิดจากระบบเกมการเงินที่ถูกออกแบบมาให้เป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น วันนี้หากคุณจะซื้อขนมปังกินสักมื้อคุณใช้เงิน $2 แต่พอวันเวลาผ่านไปสัก 5-10 ปี คุณอาจจะต้องใช้เงินจำนวน $4 เพื่อซื้อขนมปังแบบเดียวกับที่คุณเคยกินเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ดังนั้นหากคุณตระหนักได้ว่า เงิน fiat กำลังมีค่าลดลง คุณก็จะเริ่มคิดแล้วว่า น่าจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้มันด้อยค่าลง หรือนำมันไปใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น

เพราะอย่าลืมว่า แม้คุณจะประหยัดมากแค่ไหน แต่การที่ทิ้งเงินออมไว้เฉย ๆ ในธนาคารที่ดอกเบี้ยเงินฝากแทบจะเป็นศูนย์อยู่แล้วนั้น นับวันมูลค่าของมันมีแต่จะลดลงโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวและก็ไม่เข้าใจด้วยว่า การออมเงินทำให้จนลงได้ยังไง ก็เพราะมันจากค่าเงินเฟ้อยังไงล่ะ

ซึ่งหากลองมองย้อนกลับไปดูคำแนะนำในการออมเงินจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ของเรานั้นส่วนใหญ่ก็มักจะพบกับคำแนะนำในทำนองที่ว่า จงใช้ให้น้อยกว่าที่หามาได้และจงเอาเงินที่เหลือไปออมแล้วชีวิตจะไม่เดือดร้อนในเรื่องของเงิน ซึ่งมันใช้ได้หากดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารยังคงให้ดอกเบี้ย 10% ปี และข้าวของไม่ได้แพงขึ้น อย่างเมื่อก่อนเงินเดือนไม่กี่พันก็สามารถซื้อทองเส้นละบาทได้ แต่ในปัจจุบัน เงินเดือน 1-2 หมื่น ซื้อทองได้ไม่ถึงบาท หรือสมัยก่อนข้าวจานนึงไม่ถึง 10 บาทซะด้วยซ้ำ ในขณะที่ปัจจุบันขั้นต่ำก็ต้องมี 40 บาทขึ้นไปนู่นล่ะ

โดยอีกเหตุผลสำคัญอีกอย่างที่ทำให้เงินดอลล่าร์ถูกด้อยค่าลงในทุก ๆ ปีนั้นก็เกิดมาจากตั้งแต่ในปี 1971 หรือเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ที่เงินดอลล่าร์มีการยกเลิกการผูกติดกับปริมาณทองคำสำรองในคงคลังภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปกติการที่จะปริ้นท์เงินดอลล่าร์เพิ่มได้นั้น จะต้องอ้างอิงกับจำนวนทองคำสำรองด้วย แต่พอยกเลิกระบบนี้ปุ๊บ มันก็ทำให้ทางรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถปริ้นท์เงินกระดาษออกมาเท่าไหร่ก็ได้ ปริ้นท์ออกมาได้อย่างไม่มีจำกัด

ซึ่งทาง Tom ก็ได้เสริมขึ้นมาว่า เมื่อก่อนเขาก็ไม่รู้เรื่องนี้ เพราะเขาไม่ได้สนใจในเรื่องของการลงทุนเลย เพราะเขาเก่งในเรื่องของการหาเงินซะมากกว่า เขารู้ว่าจะต้องทำธุรกิจยังไงให้มีเงินเข้ามาเยอะ ๆ ต้องบริหารเวลายังไง ต้องใช้แรงแค่ไหน ต้องตรากตรำเพียงใด แต่พอเขารู้ความจริงในข้อนี้ว่าทางรัฐบาลสามารถหาเงินได้ด้วยการปริ้นท์เงิน โดยที่ไม่ต้องตรากตรำทำงานเลยเนี่ยนะ มันไม่แฟร์เอาซะเลย เพราะแน่นอนว่าคนทั่วไปหากมีเงินในบัญชีอยู่ 100 บาท แต่หากต้องการใช้เงินสัก 150 บาท ประชาชนคนทั่วไปก็ไม่สามารถเข้าไปในระบบบัญชีธนาคารแล้วก็แก้ไขตัวเลขในบัญชีของเราได้ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถทำได้อย่างง่ายดายซะงั้น ดังนั้นเมื่อเขารู้กฎการเงินข้อนี้ มันทำให้เขาต้องหันมาสนใจในเรื่องของการลงทุนอย่างจริง ๆ จัง ๆ นั่นเอง

ดังนั้นใครก็ตามที่ไม่เข้าใจว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถปริ้นท์เงินดอลล่าร์ออกมาเองได้ตามใจชอบนั้น มันมีผลเสียอย่างไร ก็จะเสียเปรียบในเกมการเงิน เพราะโดยธรรมชาติแล้วนั้น อะไรก็ตามที่มันมีจำนวนเยอะเกินไป สิ่งนั้นจะถูกด้อยค่าไปโดยธรรมชาติ

โดย Pomp ก็บอกว่า เรื่องที่เราพูดมาทั้งหมดนั้นจริง ๆ แล้วมันก็คือเรื่องของ Personal Finance หรือเรื่องการเงินส่วนบุคคลนั่นเอง ที่ความจริงแล้วทุกคนจำเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานในเรื่องนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีบรรจุเป็นวิชาหลักในโรงเรียนที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนซะด้วยซ้ำ นั่นมันจึงทำให้คนที่ต้องการจะศึกษาในเรื่องของการเงินส่วนบุคคลในปัจจุบันนั้น สามารถทำได้อยู่ 2 วิธีก็คือ

  • วิธีแรก คือการขวนขวายศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง แน่นอแหละว่าบ้างก็เข้าใจ บ้างก็ไม่เข้าใจ เพราะมันเป็นเรื่องอะไรที่ยากเอาการสำหรับคนที่ไม่เคยศึกษาในเรื่องของการเงิน เรื่องของเศรษฐศาสตร์มาก่อน
  • วิธีที่สอง หากคุณโชคดีหน่อย ที่คุณเกิดมาในครอบครัวที่มีความรู้เรื่องของการเงินเป็นอย่างดี หรือคุณมีเพื่อน มีที่ปรึกษา หรือมีใครสักคนที่สามารถมีเวลานั่งอธิบายความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการเงินให้คุณฟังตั้งแต่คุณยังเด็กอยู่

ต่อมา มีอีกสถิติหนึ่ง เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ จากกลุ่มคนที่เป็น Millionaire หรือเป็นเศรษฐีเงินล้าน หรือคนที่มีความมั่งคั่งประมาณ 30 ล้านบาท ในอเมริกานั้น กว่าร้อยละ 80 เป็นคนที่รวยได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ได้รวยมาจากมรดกตกทอดใด ๆ เลย และกว่าร้อยละ 33 ในบรรดา millionaire นั้น หลายคนมีรายได้ไม่เกิน $100,000 ต่อปีซะด้วยซ้ำ แล้วพวกเขากลายเป็น millionaire ได้อย่างไร นั่นคือคำถามที่เราควรตั้งในใจ ซึ่งคำตอบนั่นก็เป็นเพราะ พวก millionaire เหล่านี้ พวกเขารู้วิธีจัดการกับเงินให้มันงอกเงยขึ้นมาได้นั่นเอง มันเป็นเรื่องของความรู้ในเรื่อง personal finance ล้วน ๆ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ และทุกคนก็สามารถเรียนรู้ในเรื่องนี้กันได้แทบทั้งสิ้น

ดังนั้นนี่คือความสำคัญในเรื่องของการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องของการเงินส่วนบุคคล ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงแล้ว ตัวของ Pomp เองนั้นเขาก็เรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงินระดับปริญญามากับเขาเหมือนกัน แต่เขาก็พบว่า พอเรียนจบก็เหมือนไม่ค่อยได้ความรู้อะไรสักเท่าไหร่นัก เพราะไม่รู้จะนำมาปรับใช้ยังไงกับในโลกยุคปัจจุบัน

แต่พอเขาได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับตัวของ bitcoin แล้วก็เริ่มค้นพบว่า เขากลับได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของ economic, personal finance, social psychology ซึ่งพอดูโดยภาพรวมแล้วมันก็จะเกี่ยวโยงในเรื่องของการลงทุนนั่นเอง

Image credit : https://fred.stlouisfed.org/series/M1

ดังนั้นการที่ประชาชนคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะคนอเมริกาที่มีสกุลเงินดอลล่าร์ใช้เป็นหลักนั้น มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่ใครสักคนจะรวยจากการเก็บออม เพราะเงินดอลล่าร์ที่พึ่งถูกปริ้นท์โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วง 18 เดือนล่าสุดที่ผ่านมานั้น เทียบเท่ากับร้อยละ 38 ของเงินดอลล่าร์ทั้งหมดที่เคยปริ้นท์ขึ้นมาบนโลกใบนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานี้นั้น ดอลล่าร์ถูกด้อยค่าลงอย่างรวดเร็ว

โดย Tom ก็ได้เสริมว่า เมื่อก่อนเขาไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย เพราะเขาก็มั่นใจกับการหาเงินกับการทำธุรกิจ เขารู้ว่าจะต้องหาเงินมาได้ยังไง แต่ไม่รู้วิธีเกี่ยวกับการนำเงินไปลงทุนต่อเลย แม้ว่าพนักงานในบริษัทคนหนึ่งของเขาจะแนะนำให้เขาลองศึกษาเรื่องของ bitcoin เรื่องของ cryptocurrency แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ

จนกระทั่งการมาของ NFT : Non Fungible Token ที่มันเกี่ยวข้องกับงานในบริษัทของเขา มันทำให้เขาได้เริ่มเข้าสู่โลกของ crypto และก็เริ่มศึกษาเรื่องของ blockchain และเมื่อพอเขาเข้าใจในเรื่องของ blockchain แล้วก็พบว่า ระหว่าง fiat currency กับ cryptocurrency นี่มันเหมือนเป็นโลกที่อยู่ตรงกันข้ามกับที่ทางรัฐบาลทำอยู่อย่างสิ้นเชิง

โดย Tom ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ด้านการเงินที่เขารู้สึกเมื่อตอนสมัยเด็ก ๆ ตอนนั้นเขามีเงินเหลืออยู่ในบัญชีประมาณ 90 บาท แต่เขาไม่สามารถถอนเงินจากตู้ ATM ได้ แม้ว่าเงินนั้นมันจะเป็นเงินของเขาก็ตามที เพราะอย่างที่รู้ ๆ กันว่าขั้นต่ำในการถอนเงินสดจากตู้ ATM นั้นคือ 100 บาท ทั้ง ๆ ที่เขาก็แค่ต้องการเงินแค่ 50 บาท ในการซือข้าวกินสักจาน ณ เดี๋ยวนั้น (แต่ในปัจจุบันก็ดีขึ้นมาหน่อยตรงที่หลายร้านรับโอนเงิน ซึ่งในปัจจุบันก็สามารถโอนฟรีกันเกือบหมดแล้วโดยไม่มีขั้นต่ำในการโอน แต่ตู้ ATM ยังคงมีเงื่อนไขจุกจิกเหล่านี้อยู่ราวกับว่ามันเป็นเงินของพวกเขา ทั้ง ๆ ที่เงินนั้นเป็นของเรา) แต่ถ้าคุณได้เข้าไปสู่โลกของ crypto แล้วคุณก็จะพบว่า หากคุณต้องการโอนเงิน รับเงินในรูปแบบของ cryptocurrency แล้วนั้น คุณสามารถทำได้ด้วยตนเองในทันที โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตใคร ไม่ต้องมีขั้นต่ำ ซึ่งโอเคแหละว่าในช่วงแรกของการตั้งค่ากระเป๋าเงิน digital นั้นดูจะยุ่งยากอยู่บ้าง แต่ถ้าผ่านจุดนั้นมาแล้ว มันก็เหมือนกับคุณหลุดมาอีกโลกนึงเลยทีเดียว

แล้วมาติดตามกันต่อใน Episode ถัดไปนะครับ


กระดานซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin & Cryptocurrency

อันดับ 1 ของไทย คนส่วนใหญ่นึงถึง Bitkub

อันดับ 1 ของโลก คนส่วนใหญ่นึกถึง Binance


*หมายเหตุ : คอนเท้นต์นี้ไม่ใช่การแนะนำในการลงทุน เป็นการจัดทำเพื่อเป็นกรณีศึกษาจาก Raoul Pal เท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาและตัดสินใจลงทุนด้วยตัวท่านเอง

Resources