Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

วิธีสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยในยุค Bitcoin by Raoul Pal EP.4 ตอน จะเริ่มต้นลงทุนใน Crypto ยังไงดี?

ใน Episode นี้จะพูดถึงมือใหม่ที่ต้องการที่จะเริ่มต้นลงทุนใน cryptocurrency ว่าจะต้องเริ่มยังไง จะต้องจัดการเงินอย่างไร เพราะในชีวิตประจำวันก็จะต้องใช้กินใช้จ่ายอยู่บางส่วน หรือแค่เข้าไปซื้อเลยแล้วก็ถือรอให้ราคามันขึ้น หรือจะรอให้ราคามันลงมาเยอะ ๆ ก่อนค่อยเข้าซื้อ หรือจะซื้อแบบ DCA แบบทยอยสะสมไปเรื่อย ๆ แบบรายสัปดาห์ รายเดือน Raoul Pal คุณช่วยสรุปให้กับมือใหม่หน่อยได้ไหมว่า ตกลงเริ่มลงทุนยังไงดี ที่เหมาะสมกับมือใหม่มากที่สุดในการเริ่มต้นลงทุนใน cryptocurrency

โดย Raoul Pal ตอบว่า ในช่วงเริ่มต้น หาก ณ ตอนนี้ราคาของ Bitcoin และ Ethereum มันพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดอยู่ ควรจะรอให้ราคามันลงมาปรับฐานก่อน แล้วเริ่มต้นใส่เงินเริ่มต้นสัก $1,000 – $2,000 สักก้อนดูก่อน(ก็ราว ๆ 30,000 – 60,000 บาท) แล้วหลังจากนั้นก็ให้ทำการ DCA : Dollar Cost Averaging คือทยอยซื้อสะสมในแต่ละเดือนในจำนวนเงินที่เท่า ๆ กัน ซึ่งไม่ต้องมากเท่ากับเงินก้อนแรก เอาเท่าที่เราต้องการออมในแต่ละเดือน

ซึ่งก็แน่แหละว่าคุณอาจจะไม่ได้ราคาที่ดีที่สุด เพราะเมื่อประมาณช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา ราคาของ bitcoin มันพึ่งลงมาปรับฐานครั้งใหญ่ ที่ราคาลงกว่า -50% ซึ่งกว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกก็ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน ถ้าคุณรอให้มันเกิดก็อาจจะต้องรออีกหลายเดือน ซึ่งหากราคามันลงมาปรับฐานราว ๆ -20% คุณก็สามารถทยอยเข้าซื้อได้ และในช่วงเวลาที่กราฟราคาของมันอยู่ในช่วง Sideway คือกราฟราคานิ่ง ๆ เป็นระยะเวลานาน ก็เป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การซื้อแบบ DCA ทยอยซื้อเก็บสะสม จะเหมาะกับมือใหม่มากที่สุด เพราะเอาเข้าจริงเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ราคาของมันจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งถ้าหากใช้การออมแบบ DCA ก็จะทำให้ไม่ต้องกังวลมากว่าราคามันจะเป็นเท่าไหร่ ตราบใดที่มันยังคงเติบโตในระยะยาว เราก็จะได้ราคาเฉลี่ยที่ดีได้

คำถามต่อมาคือ แล้วในส่วนของ DeFi : Decentralized Finance นั้น จะเริ่มต้นยังไงได้บ้าง เพราะสำหรับมือใหม่ในวงการ crypto นั้น มันเป็นอะไรที่ใหม่เอามาก ๆ

โดย Raoul Pal ได้เริ่มต้นพูดว่า หาก ณ วันนี้ คุณมีเงินฝากในบัญชีธนาคารอยู่ คุณจะพบว่าดอกเบี้ยที่ได้จากธนาคารนั้นเกือบจะเป็น 0% อยู่แล้ว

ซึ่ง DeFi นั้นเป็นการจำลองโมเดลจากธนาคาร โดยหากเรามีเหรียญ crypto อยู่ เราสามารถนำไปปล่อยกู้ในระบบ DeFi แล้วเมื่อมีคนอื่นเข้ามากู้ crypto ในระบบนั้น ๆ ก็จะเกิดดอกเบี้ย ที่สามารถนำมาแบ่งจ่ายให้เราในฐานะที่เราเป็นผู้ปล่อยกู้นั่นเอง

ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการ Staking มันคือ “วิธีการตรวจสอบธุรกรรมโดยการวางเงินค้ำประกัน” หรือจะให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ เราสามารถนำเหรียญ crypto ที่เรามีไปวางในระบบ Network นั้น ๆ เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัยให้กับ Network แล้ว Network ก็จะมีการให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปแบบคิดเป็นรายปี

อย่าง bitcoin ถ้าคุณนำไปปล่อยให้คนอื่นกู้ยืมคุณก็จะได้ผลตอบแทนราว ๆ 3% ต่อปี หรือถ้าเป็นเหรียญอื่นที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ก็อาจจะให้ผลตอบแทนเป็น 5%, 10%, 15% หรือ 20% ต่อปีก็มี ซึ่งพอเห็นตัวเลขเหล่านี้ แน่นอนว่ามันน่าดึงดูดกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารเป็นไหน ๆ แต่ก็อย่าลืมว่า ราคาของ cryptocurrency นั้นมันมีค่า volatility หรือค่าความผันผวนที่สูงมาก

แต่ในโลกของ crypto ก็จะมีเหรียญที่เรียกว่า stablecoin คือเหรียญที่มีมูลค่าเท่ากับเงินดอลล่าร์ ราคาของมันจะไม่แกว่งขึ้นแรงลงแรงเฉกเช่นอย่างเหรียญอื่น ๆ โดยมันจะมีค่าเท่ากับเงินดอลล่าร์เสมอ (ซึ่งถ้าตีเป็นเงินบาทก็แล้วแต่ว่าอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้นอยู่ที่เท่าไหร่) อย่างเหรียญ stablecoin ที่มีค่าเท่ากับเงินดอลล่าร์ที่ดัง ๆ อย่างเช่น USDT, BUSD, USDC หรือ DAI เป็นต้น โดยเมื่อคุณนำเหรียญ stablecoin เหล่านี้ไปปล่อยกู้ ไป staking อัตราผลตอบแทนจะอยู่ที่ราว ๆ 8%-10% ต่อปี โดยที่ไม่ต้องสนใจว่า crypto ตัวอื่น ๆ จะขึ้นหรือจะลง เพราะ stablecoin ยังคงมีค่าเท่ากับเงินดอลล่าร์อยู่เสมอ ดังนั้นคุณก็สามารถสร้าง Passive Income จากมันได้เฉลี่ยราว ๆ 8% ต่อปี

ซึ่ง Raoul Pal ก็ได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนของเขาคนหนึ่งที่เริ่มต้นเข้าสู่วงการ crypto โดยเริ่มต้นจากลงทุนใน bitcoin แล้วปรากฎว่าเขาก็ค่อนข้างโชคดีที่สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากการขาย bitcoin แล้วจากนั้น เขาก็นำมันไปแปลงไว้ในรูปแบบของ stablecoin ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเพื่อนของเขาคนนี้ เขามีรายได้เข้ามาอยู่ตลอด มีเงินเก็บที่เป็นเงินเย็นส่วนหนึ่งและที่สำคัญมีบ้านที่ปลอดหนี้แล้ว เขาจึงค่อยมาลงทุนในโลก crypto แล้วหลังจากนั้นเพื่อนของเขาก็รู้จักกับโลกของ DeFi ที่สามารถนำ stablecoin ไปฝากกินดอกเบี้ยได้ราว ๆ 8% ต่อปี แถมยังสามารถโอนเหรียญไปเมื่อไหร่และที่ใดบนโลกใบนี้ก็ได้ในทันที ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเขาจะฝากเงินไว้ในธนาคารหรือในโลกคริปโต และนั่นก็เป็นอีกเคสหนึ่งที่เมื่อเขาเข้ามายังโลก crypto แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลับไปยังโลกของธนาคารแบบดั้งเดิมเลย

แต่ต้องเตือนเอาไว้ก่อนว่า ในโลกของ DeFi มีความซับซ้อนและความยาก รวมไปถึงความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน เพราะมันเป็นอะไรที่ใหม่เอามาก ๆ และจะต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการเลือกแพลตฟอร์มที่ดีและมีความปลอดภัยสูง เพราะในโลกของ DeFi มันก็มีอยู่หลายเจ้าด้วยกัน ซึ่งการเริ่มต้นใช้งาน คุณอาจจะลองเริ่มต้นจาก CeFi : Centralized Finance หรือ “ระบบการเงินที่มีตัวกลาง” ดูก่อนอย่างเช่น binance, coinbase หรืออย่างในไทยก็มี zipmex ที่สามารถฝากกินดอกได้

ซึ่งถ้าวิชายังไม่แก่กล้าพอไปโลก DeFi ก็ให้เริ่มจากเจ้าที่มี License จาก กลต. ที่มีการคุ้มครองเงินจากนักลงทุนดูก่อน เพราะในโลกของ DeFi มันคือการดูแลเงินของตัวคุณเองแบบ 100% หากคุณเงินหายจากการทำผิดพลาด, จำหรัสผ่านไม่ได้, โดนแฮ็ค หรือโดนโกง คุณไม่สามารถไปตามจากใครได้เลย ในขณะที่การเริ่มต้นกับ CeFi คุณยังพอมีช่องทางติดต่อซับพอร์ทของเจ้าของแพลตฟอร์มได้อยู่และก็สามารถให้ กลต. ช่วยตามได้ แต่คุณก็ต้องมั่นใจว่า แพลตฟอร์มที่คุณใช้อยู่นั้น สามารถเก็บรักษาเงินของคุณได้อย่างปลอดภัย

หรือคุณอาจจะลงทุนในเหรียญของแพลตฟอร์ม DeFi นั้น ๆ ได้เช่นกัน อย่างเหรียญ AAVE, Compound ที่เป็นแพลตฟอร์มปล่อยกู้แบบ Decentralized Finance ที่เมื่อแพลตฟอร์มมีการเติบโตขึ้น ก็ส่งผลให้มูลค่าของเหรียญของแพลตฟอร์มดังกล่าวมีโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้นเนื่องจากมีผู้คนเข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะมีบริษัทประกันภัย หรืออย่างอุตสาหกรรมเงินบำนาญ ก็กำลังทยอยย้ายเข้ามาสู่วงการนี้ เพราะมันให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าโลกดั้งเดิม

ดังนั้นนี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการลงทุนถ้าหากคุณเชื่อมั่นว่าวงการ DeFi มันจะเติบโต แพลตฟอร์มนั้น ๆ มันจะเติบโต ราคาเหรียญของแพลตฟอร์มนั้นมันจะเติบโต ซึ่งก็แล้วแต่ว่า คุณจะตัดสินใจเลือกเล่นเกมการเงินบนโลก crypto ด้วยวิธีใด

คำถามเพิ่มเติมที่น่าสนใจคือ โอเคแหละว่าในฝั่งผู้ให้กู้นั้นได้อัตราผลตอบแทนสูงถึง 8% ต่อปี เป็นตัวเลขที่สวยงาม แต่ถ้ามองในฝั่งของผู้กู้ยืมบ้างล่ะ พวกเขาต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมากด้วยเช่นกัน อย่างบน Binance หากกู้ stablecoin อย่าง BUSD จะเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 1.2% หรือปีละ 14.4% สูงกว่ากู้จากแบงค์ซะอีก เพราะดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารอยู่ที่ราว ๆ 3.5%-4% ต่อปีเอง แล้วทำไมพวกเขาไม่เลือกที่จะกู้ที่ธนาคารมากกว่ากันล่ะ

โดย Raoul Pal ตอบว่า อย่างแรกสุดเลยก็คือ บนโลก crypto คิดดอกเบี้ยเป็นรายชั่วโมง หากคุณกู้ยืมแปบเดียวแล้วรีบคืนก็จะเสียดอกเบี้ยรายชั่วโมง หรือหากอย่างครอบครัวของ Raoul Pal นั้นอยู่ที่ประเทศอินเดีย การที่เขาจะส่งเงินไปหาญาติ ๆ ของเขานั้น เขาก็จะต้องแปลงเงินสดสกุลดอลล่าร์ผ่านตัวกลางไปที่อินเดียเพื่อเปลี่ยนเป็นสกุลเงินรูปี ที่จะโดนหักค่าธรรมเนียมราว ๆ 10% และมีความผันผวนจากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา

แถมต้องผ่านการตรวจสอบจาก regulator ว่าเงินนี้ได้มายังไง เผลอ ๆ โดนล็อคบัญชีธนาคารเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเงินก่อน กว่าจะได้เงินก็อาจจะเสียเวลา เสียค่าดำเนินการเยอะเข้าไปอีก และอย่าลืมว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงเงินดอลล่าร์กันได้ง่าย ๆ ในขณะที่การส่ง stablecoin นั้น สามารถส่งได้ในทันทีที่ดีดนิ้ว ไม่ต้องขออนุญาตใคร ไม่ต้องรอใครตรวจสอบ และปลายทางก็สามารถหาแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นนั้นได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

และเหตุผลส่วนตัวของ Raoul Pal อีกข้อหนึ่งนั้น เขาแฮปปี้ในการซื้อและถือ Crypto มากกว่า Gold สาเหตุนั้นก็เป็นเพราะ Crypto นั้นเราสามารถเอาไปฝากกินดอกได้มากกว่าธนาคาร แต่ในขณะที่ Gold นั้น ทำไม่ได้ ได้แค่ถือมันไว้เฉย ๆ

โดย Raoul Pal ได้ยกตัวอย่างอีกเคสจากคุณพ่อของเขา โดยคุณพ่อของเขาเกษียณอายุไปเมื่อประมาณปี 2000 โดยเขาแนะนำให้คุณพ่อใส่เงินเพื่อการเกษียณทั้งหมดเอาไว้ในพันธบัตรรัฐบาล โดย ณ ตอนนั้นมีผลตอบแทนอยู่ที่ราว ๆ 5% ต่อปี พอผ่านไป 10 ปี มันก็ลดลงเหลือแค่ 2% ต่อปี ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้น เพราะผลตอบแทนลดลงแต่ข้าวของกลับแพงขึ้น และเมื่อดูจากแนวโน้มในอนาคตก็จะพบว่า อีกสักหน่อยมันก็จะเป็น 0% และหนักสุดคือ กำลังจะติดลบซะด้วยซ้ำ

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคุณพ่อก็คือ สุดท้ายท่านก็จะต้องเอาเงินต้นมาใช้จนหมด จากเดิมที่ใช้เงินที่ได้จากผลตอบก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องแตะเงินต้นเลย แต่พออัตราผลตอบแทนมันลดลง ข้าวของแพงขึ้น จึงทำให้จำเป็นที่จะต้องดึงเงินต้นออกมาใช้จ่ายในช่วงชีวิตที่เหลือ ในวัยที่ไม่มีแรงจะทำงานหาเงินแล้วอีกด้วย

ดังนั้นหากคุณยึดติดกับภาพเดิม ๆ ที่สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ที่แค่มีเงินฝากธนาคารเคยได้ดอกเบี้ย 10% ต่อปีก็มีเงินพอกินพอใช้แล้ว แต่ก็ต้องดูภาพในปัจจุบันด้วยว่า ดอกเบี้ยธนาคารแทบจะติดลบซะด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งที่โลกการเงินแบบดั้งเดิมกำลังเป็น

และความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับธนาคารในยุโรป ที่แบงค์มีการล้มละลาย และในสัญญาของแบงค์เขียนเอาไว้ว่า เงินฝากออมทรัพย์บัญชีที่มีเงินเกินกว่า 100,000 ยูโร ในส่วนที่เกินนั้นจะไม่ได้คืน หรืออย่างในประเทศไทยที่ธนาคารพึ่งออกกฎใหม่ว่า ทางธนาคารจะประกันเงินบัญชีละไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทนั้น หากแบงค์ล้มละลายก็จะไม่รับประกันว่าจะได้คืนในส่วนที่เกิน นั่นคือความเสี่ยงที่คนที่กำลังไว้เนื้อเชื่อใจและเชื่อมั่นในตัวของธนาคารนั้นกำลังเป็นอยู่

แต่ก็อย่างที่บอกในโลกของ crypto มันก็มีความเสี่ยงของมันอยู่ ซึ่งเราก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการในการบริหารความเสี่ยง แต่ความแตกต่างระหว่างโลก crypto กับโลกของธนาคารก็คือ ในโลก crypto คุณสามารถเก็บเงินเอาไว้บนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่คุณมีอำนาจในการควบคุมเงินนั้นได้ด้วยตัวคุณเองแบบ 100% ในขณะที่เงินที่อยู่ในธนาคารนั้น ธนาคารเป็นคนคอยควบคุม

คำถามต่อมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ NFT : Non Fungible Token มันคืออะไร ยังไง และเราจะสามารถทำเงินจากมันอย่างไรได้บ้าง

โดย Raoul Pal ก็ตอบว่าย้อนกลับไปที่คำว่า Smart Contract ที่สามารถสร้างขึ้นบน blockchain อย่าง Ethereum ได้ โดยมันสามารถระบุความเป็นเจ้าของใน Digital Asset ชิ้นนั้น ๆ ได้ ซึ่งมันก็สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายวงการ เช่นวงการศิลปะก็สามารถระบุได้ว่า ใครถือสิทธิ์ของศิลปะนั้นอยู่

โดยหากให้นึกภาพง่าย ๆ ว่า ในโลกดั้งเดิม อย่างเวลาที่เราเล่นเกมใดเกมหนึ่ง แล้วซื้อไอเทมในเกมนั้น มันก็ไม่สามารถนำไปใช้กับเกมอื่น ๆ ได้เลย และถ้าหากเกมนั้นปิดตัวลงก็จบกันกับเงินที่เคยใช้ไปในเกม เพราะเกมนั้นมันไม่ได้อยู่บน blockchain

แต่ในขณะที่โลกของ NFT นั้น มันสามารถเขียนบน Smart Contract โดยระบุว่าใครเป็นเจ้าของไอเทมชิ้นไหนอยู่บ้าง นั่นมันจะทำให้สามารถระบุตัวตนได้ว่า ใครถือสิทธิ์ของแท้ชิ้นนั้นอยู่ ยกตัวอย่างเช่น อย่าง Nike ก็เริ่มจดสิทธิบัตรเพื่อเตรียมนำแบรนด์ของตนเองเข้าไปใช้ในโลกของ blockchain เข้าไปใช้ในโลกของ metaverse ลองนึกภาพตามว่า สมมติว่า Nike มีการออก NFT รองเท้าราคาแพงอย่างรุ่น Air Jordan Limited Edition ราคาหลักล้านขึ้นมา แล้วคุณซื้อมันไป จากนั้นไม่ว่าคุณจะเล่นเกมไหนก็สามารถสวมใส่เจ้ารองเท้าที่สามารถระบุได้ว่า คุณเป็นเจ้าของสิทธิ์ของแท้ หรือแม้แต่ในโลก metaverse คุณก็สามารถนำมันไปสวมใส่ใน Avatar ของคุณได้

หรืออย่างตลาดงาน Art ที่มีคนซื้องานศิลปะจาก Cryptopunk ที่ภาพหนึ่งมีมูลค่าหลายล้าน ซึ่งมันกำลังบูมมาก โดยตลาดก็กำลังเกิดกรณีศึกษาอีกเยอะแยะมากมายที่สามารถเข้ามาสร้างเม็ดเงินในโลกนี้ได้ แต่ถ้าให้ถามจริง ๆ ว่าจะหาเงินจาก NFT ยังไง Raoul Pal ก็ตอบตามตรงว่า เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้” เพราะมันเป็นอะไรที่ยากและซับซ้อนมาก เพราะบางอย่างราคาก็แพงอย่างบ้าคลั่ง มันเป็นตลาดที่เล่นด้วยยากมาก เพราะต้องยอมรับว่า NFT กว่าร้อยละ 95 นั้นเป็นโปรเจคที่ล้มเหลว โดยสิ่งที่เล่นง่ายกว่าก็คือการถือ Ethereum เพราะ NFT ส่วนใหญ่อยู่บนเครือข่าย Ethereum ดังนั้นหากตลาด NFT โต มันก็มีโอกาสที่จะส่งผลให้ Ethereum โตขึ้นไปอีก

Image credit : https://cryptoquant.com/overview/eth-exchange-flows

ลองนึกภาพตามว่า การถือ Ethereum ราคาของมันจะขึ้นได้อย่างไร มันจะเป็นไปตามหลัก Demand&Supply เมื่อมีความต้องการซื้อมากแต่ของกลับมีจำนวนที่น้อย ดังนั้นคนก็จะเข้ารุมแย่งกันซื้อ เพราะมันเริ่มหายากขึ้น เพราะเดี๋ยวบ้างก็เอา Ethereum ไป Stake ล็อคกินดอกเบี้ยบ้างล่ะ, เดี๋ยวก็เอา Ethereum ไปลงโลก DeFi บ้างล่ะ, เดี๋ยวก็เอา Ethereum ไปใช้ในโลก NFT บ้างล่ะ และเดี๋ยวก็มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาซื้อเก็บเพิ่มบ้างล่ะ ซึ่งหากปริมาณความต้องการใน Ethereum มันเติบโตแบบ Exponential แล้วล่ะก็ ปริมาณ Supply จะลดลงอย่างรวดเร็ว มันจึงส่งผลให้ราคาของ Ethereum นั้นมีโอกาส to the MOON หรือระเบิดเป็นพลุแตกได้ แต่อย่างที่บอกนี่ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุนนะครับ เป็นเพียงมุมมองจาก Raoul Pal

แล้วก็จบกันไปกับซีรี่ย์นี้จาก Raoul Pal ซึ่งในซีรี่ย์ต่อ ๆ ไป เราก็จะพาไปเจาะเนื้อหาอื่น ๆ ที่แอดวานซ์มากขึ้น เพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันในโลกของ crypto อย่างแข็งแรง


กระดานซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin & Cryptocurrency

อันดับ 1 ของไทย คนส่วนใหญ่นึงถึง Bitkub

อันดับ 1 ของโลก คนส่วนใหญ่นึกถึง Binance


*หมายเหตุ : คอนเท้นต์นี้ไม่ใช่การแนะนำในการลงทุน เป็นการจัดทำเพื่อเป็นกรณีศึกษาจาก Raoul Pal เท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาและตัดสินใจลงทุนด้วยตัวท่านเอง

Resources