Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

6 วิธีการใช้เงินอย่างชาญฉลาด by Phil Town

Phil Town นักลงทุนชาวอเมริกัน นักพูด และนักเขียน New York Time Bestsellers เจ้าของผลงาน Rule #1: The Simple Strategy for Successful Investing in Only 15 Minutes a Week! โดยในปัจจุบันเขามีทรัพย์สินอยู่ที่ $5 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 150 ล้านบาท

หลายต่อหลายคนกำลังประสบปัญหาการมีเงินไม่พอใช้ แต่พอลองหาเงินได้เยอะขึ้นก็กลับพบว่าหาได้มากเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอใช้สักกะที นั่นก็เป็นเพราะ การจัดการกับเงินนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการหาเงินเพียงอย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับวิธีการใช้เงินด้วยต่างหาก และนี่ก็คือคำแนะนำ 6 วิธีการใช้เงินอย่างชาญฉลาด

วิธีที่ 1 – Track your finances ติดตามการใช้จ่ายเงินของตัวคุณเอง

ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด สิ่งแรกที่คุณจำเป็นต้องรู้ก่อนเลยก็คือ คุณต้องรู้ว่า เงินของคุณนั้น มันไหลไปที่ใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งงบประมาณ รายรับ รายจ่าย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ทำบัญชีครัวเรือนอย่างง่ายนี่แหละ เพราะถ้าหากคุณไม่จดบันทึก สิ่งที่คุณจะเจอก็คือ หาเงินได้ตั้งเยอะ แต่เงินฉันหายไปไหนหมดหว่า

ดังนั้นเมื่อคุณจดบันทึก คุณจะรับรู้ได้ว่า คุณใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง และเมื่อคุณรู้ว่าคุณใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง นั่นแหละคือโอกาสที่คุณจะใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดหรือใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้นั่นเอง

วิธีที่ 2 – Think about the long-term benefits คิดถึงผลประโยชน์ในระยะยาว

หลายคนซื้อของเพียงเพราะถูกการตลาดกระตุ้นและเร้าให้รีบซื้อโดยข้ามเหตุผลในการวิเคราะห์ว่ามันจำเป็นต้องซื้อหรือมันคุ้มค่าที่จะซื้อหรือไม่ หรือแม้กระทั่งซื้อมันเพราะต้องการที่จะอวดคนอื่นโดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบคุณเพื่อเพียงแค่อยากให้พวกเขาเหล่านั้นไม่ดูถูกดูแคลนตัวคุณเอง

ยกตัวอย่างเช่น คุณเห็นเพื่อนบ้านออกรถป้ายแดงคันใหม่ จู่ ๆ คุณก็นึกอยากจะออกไปซื้อรถคันใหม่บ้างเพื่อเอาอาอวดไม่ให้น้อยหน้ากับเพื่อนข้างบ้าน ซึ่งนั่นมันทำให้คุณเป็นหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ทั้ง ๆ ที่รถคันเก่าของคุณก็ยังคงใช้งานได้ดีอยู่ แถมผ่อนหมดแล้วด้วย

ดังนั้นจงอย่าคิดไปเองว่า เพื่อนบ้านของคุณจะอิจฉาหรือชื่นชมรถคันใหม่ของคุณ ซึ่งจริง ๆ แล้ว พวกเขาไม่สนใจหรอก หรือถ้าหากพวกเขาสนใจจริง ๆ พวกเขามันก็แค่เป็นเพื่อนบ้านตูดหมึกคนหนึ่งก็เท่านั้นเอง

วิธีที่ 3 – You can pay off on a credit card คุณสามารถจ่ายบัตรเครดิตได้ไหวในทุก ๆ เดือน

บัตรเครดิต ไม่ได้มีผลเสียซะทุกครั้งไปถ้าหากคุณรู้จักใช้มันให้เหมาะสมกับตัวคุณเอง เพราะนอกจากคุณไม่ต้องพกเงินสดมากมายแล้ว คุณยังได้รับเงินคืนและแต้มสะสมจากบัตรเครดิตเพื่อสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้ฟรี ๆ อีกด้วย ซึ่งถ้าหากคุณจ่ายบัตรเครดิตทุกสิ้นเดือนได้ มันก็ไม่ต่างกับการใช้เงินสดซื้อของ เพราะคุณจะไม่โดนดอกเบี้ยจากบัตรเครดิต แถมยังได้ส่วนลดหรือสิทธิพิเศษมากกว่าใช้เงินสดจ่ายซะอีก

แต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตนั้น พวกเขามักจะใช้มันเกินตัวที่พวกเขาจ่ายไหวในแต่ละเดือน และเลือกที่จะจ่ายแค่ขั้นต่ำ ทำให้เกิดดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตที่สูงมาก โดยเฉลี่ยทั่วไปก็โดนดอกเบี้ยราว ๆ 15% – 25% ต่อปี ซึ่งเป็นเรทที่สูงเอามาก ๆ

ซึ่งวิธีการที่จะรู้ได้ว่า เราสามารถใช้เงินในบัตรเครดิตได้มากแค่ไหนที่เราจ่ายไหวนั่นก็คือ ให้คุณถอนเงินสดออกมาให้เท่ากับที่คุณต้องการจะใช้บัตรเครดิต และทุกครั้งที่คุณรูดบัตร ก็ให้คุณนำเงินสดของคุณเอาไปซองจดหมายที่คุณตั้งงบประมาณเอาไว้ในแต่ละหมวด

ยกตัวอย่างเช่น สมมติคุณตั้งงบทานข้าวนอกบ้านเอาไว้เดือนละ 5,000 บาท ทุกครั้งที่คุณไปทานข้าวนอกบ้านแล้วรูดบัตรเครดิต ก็ให้คุณนำเงินใส่ซองที่บ้านด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน และพองบทานข้าวนอกบ้านหมด คุณก็จะตั้งสติได้ว่า งบทานข้าวนอกบ้านสำหรับเดือนนี้หมดไปแล้ว ช่วงนี้งดไปก่อน แล้วทำกับข้าวกินเองที่บ้านแทน ส่วนเงินในซองที่ใส่ไว้ ก็จะได้เก็บเอาไว้จ่ายบัตรเครดิตตอนสิ้นเดือน

วิธีที่ 4 – Stop trying to impress other people หยุดการใช้จ่ายเพื่อทำให้ตัวเองดูดีและเป็นที่ประทับใจของคนอื่น

หลายคนเลือกที่จะซื้อของแบรนด์เนมเพื่อให้คนอื่นประทับใจเพียงเพื่อจะรักษาภาพลักษณ์ให้ดูดีมีกะตังค์อยู่เสมอ ดังนั้นจงอย่าซื้อมันเพียงเพราะอยากให้คนอื่นประทับใจ แต่จงซื้อเพราะคุณชอบคุณรู้สึกดีกับมัน โดย Phil เล่าว่า เขาเคยทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานสาวคนหนึ่งที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่เธอเล่าว่าเธอเลือกที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่เพียงเพราะเธอไม่อยากให้ลูกอายเวลาที่เธอขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน นั่นเป็นเหตุผลที่บ้าบอที่สุด

วิธีที่ 5 – Bad money habits นิสัยการเงินที่แย่ที่มักจะทำให้กระเป๋าตังค์คุณแห้งเหือด

หลังจากที่คุณจดบันทึกรายจ่ายแล้ว ให้คุณลองดูว่า คุณมักจะหมดเงินไปกับเรื่องอะไรซะเป็นส่วนใหญ่

  • เอาไปซื้อของสะสม
  • กินข้าวนอกบ้านร้านหรู ๆ ตลอด
  • ซื้อเสื้อผ้าใหม่อยู่บ่อย ๆ

ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นเรื่องที่เกินจำเป็น แต่คุณสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้โดยใช้การกำหนดงบประมาณ แล้วใช้เทคนิคการนำเงินสดใส่ซองเอาไว้ เงินหมดซองเมื่อไหร่ก็หยุดใช้จ่ายในเรื่องนั้น

วิธีที่ 6 – Start investing early จงเริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุด

การเลือกใช้จ่ายหรือไม่จ่ายเงินนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ และการเลือกที่จะใช้เงินในเรื่องของการลงทุนก็สำคัญเช่นกัน

ซึ่งทุกคนต่างรู้ดีว่า การออมเงินในธนาคารนั้นมันได้ดอกเบี้ยแค่เพียงน้อยนิด และมันไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ดังนั้นการลงทุนจึงกลายมาเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุก ๆ คน และถ้าถามว่าเวลาใดคือเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะเริ่มต้นลงทุน เวลานั้นก็คือเดี๋ยวนี้เลย ยิ่งเริ่มต้นเร็วยิ่งดี และถ้าคุณมีบุตรหลาน ก็สอนให้พวกเขาหัดลงทุนเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ

ไม่ว่าตอนนี้คุณจะอายุเท่าไหร่ เพศอะไร มีเงินมากหรือน้อย ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ในทันที เพราะเดี๋ยวนี้เงินเริ่มต้นแค่หลักร้อยหลักพันก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้แล้ว

Resources