Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

2 เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง | Blue O’Clock x Beyond Training

เมื่อโลกธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว หลังจากที่โลกของเราต้องเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่กลับมีบางสิ่งถูกกลืนหายไป ผู้นำองค์กรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) เพื่อจะปรับเปลี่ยนให้องค์กรอยู่รอด และสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ธุรกิจยุคใหม่ได้ แน่นอนว่าจะต้องมีการแข่งขันที่สูงขึ้นกว่าเดิมกับคู่แข่งทางธุรกิจอื่น ๆ

โดยในคอนเท้นต์นี้ทาง อาจารย์บี ภก.คงเกียรติ ฉัตรหิรัญทรัพย์ จาก Beyond Training จะพาเรามาทำความรู้จักกับ 2 เครื่องมือที่จะช่วยให้ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

เครื่องมือที่ 1 – Five Forces Analysis การวิเคราะห์แรงกดดันจากปัจจัยภายนอก

เครื่องมือที่ 2 – SWOT การวิเคราะห์องค์กรของตนเองเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาด

ซึ่งเครื่องมือ 2 ชนิดนี้มีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยเหลือผู้นำองค์กรในการวิเคราะห์ตลาด สร้างจุดแข็งให้ธุรกิจตนเอง เพื่อต่อยอดความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง

เครื่องมือที่ 1 รู้เขา : Five Forces Analysis การวิเคราะห์แรงกดดันจากปัจจัยภายนอก (External Environment Analysis)

เครื่องมือวิเคราะห์การตลาด Five Forces Framework ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย Michael E.Porter ซึ่งได้เผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1979 ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Harvard Business Publishing เป็นเครื่องมือที่จะช่วยสำรวจวิเคราะห์แรงกดดันจากภายนอก (External Environment Analysis) มีส่วนประกอบทั้งหมดอยู่ด้วยกัน 5 ส่วนดังนี้

  1. Threat of New Entrants การคุกคามที่มาจากคู่แข่งใหม่

การวิเคราะห์ว่าใครที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ ตามกลไกทางธุรกิจ ถ้าธุรกิจใดที่สามารถเริ่มต้นทำได้ง่าย และเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้สูงย่อมมีคู่แข่งที่จะมาเปิดธุรกิจแบบเดียวกันเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่าหากตลาดดังกล่าวมีลูกค้าเท่าเดิม แต่มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นอัตราส่วนแบ่งทางการตลาดที่จะได้รับจะลดลง ดังนั้นเราอาจจะต้องวางกลยุทธ์ให้ดีว่าจะทำวิธีการใดให้ลูกค้ายังคงสนใจในสินค้าและบริการเราอยู่เหมือนเดิม ซึ่งถ้าหากเราเลือกธุรกิจที่จะทำตั้งแต่แรก เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นได้ยาก มีอุปสรรคเยอะ ก็จะเป็นเสมือนกำแพงป้องกันในการกันคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาในตลาดไปโดยปริยาย

  1. Threat of Substitutes Products Or Services การคุกคามที่มาจากสินค้าหรือบริการทดแทน

การคุกคามประเภทนี้อาจจะไม่ได้มาจากธุรกิจที่ผลิตสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกับเรา แต่มาในรูปแบบวัตถุประสงค์การใช้งานที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า ที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ยกตัวอย่างเช่น เบียร์กับไวน์ กาแฟกับชา เป็นต้น

  1. Bargaining Power Of Buyers อำนาจของลูกค้าในการต่อรอง

เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น แน่นอนว่าอำนาจการต่อรองอาจจะตกไปอยู่กับลูกค้า ที่พวกเขาจะขอส่วนลดราคาของสินค้า หรือต้องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แทน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ที่ต้องหาสมดุลย์ให้เจอระหว่างกำไรกับความต้องการลูกค้า เพื่อรักษาความมั่นคงให้กับธุรกิจของตนเอง

  1. Bargaining Power Of Suppliers อำนาจของคู่ค้าในการต่อรอง

การเจรจากับคู่ค้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพราะการขึ้นหรือลดราคาของวัตถุดิบ ก็อยู่ที่การต่อรองกับคู่ค้า เพราะหากการนำเข้าวัตถุดิบในราคาสูง นั่นย่อมส่งผลต่อราคาขายที่อาจจะต้องปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องหาวิธีที่จะต่อรองเพื่อนำเข้าวัตถุดิบให้ราคาต่ำที่สุด เพื่อจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการตั้งราคาขาย

  1. Rivalry Among Existing Competitors การแข่งขันของคู่แข่งรอบตัว

การวิเคราะห์ความเข้มเข้นของการแข่งขัน จากส่วนประกอบทั้ง 4 ส่วนอย่าง การคุกคามที่มาจากคู่แข่งใหม่, การคุกคามที่มาจากสินค้าบริการทดแทน, อำนาจของลูกค้าในการต่อรอง และอำนาจของคู่ค้าในการต่อรอง เพื่อวางแผนกลยุทธ์อย่างรัดกุม เพราะหากการแข่งขันมีความเข้มข้นสูง จำนวนคู่แข่งเยอะ คู่แข่งในตลาดมีการทำโปรโมชั่นอย่างดุเดือด ก็มักจะลงเอยด้วยการตัดราคากันจนแทบไม่เหลือกำไรหรือตัดราคากันจนขาดทุน ทำให้เราต้องพิจารณาความเสี่ยงอย่างถี่ถ้วน ว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่จะนำสินค้าหรือบริการไปลงทุนในการแข่งขันที่สูงเช่นนี้

เครื่องมือที่ 2 รู้เรา : SWOT การวิเคราะห์ทางการตลาดของธุรกิจตัวเอง (Internal Environment Analysis)

เครื่องมือวิเคราะห์ SWOT Analysis เป็นเทคนิควิเคราะห์ทางการตลาดของธุรกิจตัวเองเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาดโดยมีส่วนประกอบ 4 ตัว ดังนี้

S = Strengths (จุดแข็ง)
การวิเคราะห์จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบของธุรกิจตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในด้านของสินค้าหรือบริการ ที่ทำให้ธุรกิจของเรามีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง

W = Weaknesses (จุดอ่อน)
การวิเคราะห์จุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบของธุรกิจตนเอง ที่เป็นรองคู่แข่ง

O = Opportunities (โอกาส)
การวิเคราะห์โอกาสต่าง ๆ ที่จะสามารถช่วยพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพฤติกรรมลูกค้า แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือหนทางการต่อยอดธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น

T = Threats (อุปสรรค)
ภัยคุกคามจากภายนอก ที่มองว่าจะเข้ามาสร้างอุปสรรคให้กับการดำเนินธุรกิจของเราได้ อย่างเช่น ในสถานการณ์ไวรัส Covid -19 ปัจจุบัน ที่อาจเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลในด้านลบกับการพัฒนาธุรกิจ

ทีนี้เมื่อเราใช้เครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์แล้ว ก็จะทำให้ธุรกิจนั้น มีความตระหนักในการรู้เขารู้เรา เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมและปรับตัว ปรับกลยุทธ์เพื่อใช้ในการดำเนินการกิจการให้เติบโตต่อไป

Resources