Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

วิธีการสร้างธุรกิจแบบผูกขาด Monopoly| Peter Thiel สอนวิธีเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพพันล้าน ที่มหาวิทยาลัย Stanford EP.3

จากตอนเดิมที่แล้ว เรารู้แล้วว่า ธุรกิจแบบ Monopoly หรือธุรกิจแบบผูกขาดนั้นคืออะไร และในตลาดบริษัทที่ผูกขาดพยายามพูดหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแทรงกิจการได้อย่างไร และในบทนี้ Peter Thiel ก็จะมาสอนวิธีการสร้างธุรกิจแบบ Monopoly ที่เขาเชื่อว่า มันคือธุรกิจที่เหล่าบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

Peter Thiel ได้บอกคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพในช่วงแรกว่าจง “start small and monopolize” คุณควระเริ่มต้นจากตลาดที่เล็กแล้วทำการยึดครองตลาดนั้นให้ได้เสียก่อน โดยการที่จะเป็น Monopoly ในตลาดขนาดเล็กนั้นนั่นก็หมายถึง คุณสามารถกินส่วนแบ่งทางการตลาดของตลาดเล็กนั้นได้เป็นส่วนใหญ่ จนสามารถกินส่วนแบ่งการตลาดนั้นได้เกือบทั้งหมด จากนั้น ให้คุณหาวิธีทำให้การขยายตลาดโดยมีศูนย์กลางจากตลาดที่คุณได้ผูกขาดเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งข้อผิดพลาดส่วนใหญ่ของเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพที่พึ่งเริ่มต้นทำธุรกิจนั้น ก็คือ พวกเขามักเริ่มต้นจากตลาดที่ใหญ่ตั้งแต่วันแรก ๆ ในการเปิดกิจการ ซึ่งแม้ว่าเม็ดเงินมันมีอย่างมหาศาล แต่สิ่งที่มีอย่างมหาศาลด้วยเช่นกันนั่นก็คือ คู่แข่งนั่นเอง

ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างของบริษัท Monopoly ที่เริ่มต้นกิจการจากเล็ก ๆ และค่อยขยายตัวในภายหลังที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงกันบ้าง

เริ่มต้นกันที่ Amazon.com ที่ ณ ปัจจุบันมีสโลแกนว่า “The Everything Store” แปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ปัจจุบันคือเว็บไซต์ที่ขายของออนไลน์ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ซึ่งเมื่อฟังดูแล้ว แน่นอนว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ๆ แต่จุดเริ่มต้นของ Amazon ในวันแรกนั้น Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com เขาเริ่มต้นจากการมองเห็นโอกาสในการค้าขายบนโลกออนไลน์ โดยในปี 1994 เขาได้เห็นแนวโน้มว่า มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตพุ่งขึ้นสูงกว่า 2300% ภายในปีเดียว แถมในสมัยนั้น ยังมีร้านค้าออนไลน์น้อยมาก Jeff จึงตัดสินใจหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเขาได้เลือกตลาดหนังสือเป็นตัวเลือกแรก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ติดอันดับ Top 20 ที่มีคนสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์สูงที่สุด

และนอกจากนั้น Jeff ยังได้เห็นช่องว่างทางการค้าของวงการขายหนังสือของเจ้าใหญ่ ๆ นั่นก็คือ ข้อมูลหนังสือของเจ้าใหญ่ ๆ นั้น ไม่มีเจ้าใดเลยที่เปิดให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานทั่วไป เข้ามาค้นหาหนังสือว่ามีของอยู่ในสต็อคหรือไม่ และราคาหนังสือเท่าไหร่ เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะเก็บข้อมูลไว้กับตัวเองเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงข้อจำกัดของร้านหนังสือก็คือ สามารถบรรจุหนังสือได้จำกัด แต่ในขณะที่บนเว็บไซต์ จะใส่ข้อมูลหนังสือกี่เล่มก็ได้ ไม่มีจำกัด และสามารถอ่านหน้าตัวอย่างก่อนซื้อได้อีกด้วย

และเมื่อระบุตลาดขนาดเล็กที่ต้องการได้แล้ว Jeff Bezos ก็เริ่มทำการเข้าสู่ขั้นตอนการผูกขาดในตลาดขายหนังสือออนไลน์นี้ ซึ่งเขาได้เริ่มต้นทำการตลาดแบบบ้าน ๆ ด้วยการส่งอีเมล์หาเพื่อน ๆ ที่รู้จักกันประมาณ 300 คน เพื่อให้มาทดลองใช้งานระบบบนเว็บไซต์ ก่อนที่จะเปิดตัวจริง ๆ

โดยวิธีทำการตลาดของ Jeff ในช่วงแรกนั้น ไม่ได้ใช้เงินเลยสักกะบาทเดียว เพราะเขาใช้วิธีการบ้าน ๆ ด้วยการขอให้เพื่อน ๆ ที่เข้ามาใช้ระบบก่อนหน้านี้ ช่วยกันกระจายข่าวออกไป

รวมไปถึงการใช้กลยุทธ์เรื่องราคาของการค้าปลีกทั่วไปนั่นก็คือ เขาขายหนังสือต่ำกว่าราคาปก อยู่ประมาณ 10-30%

และนอกจากนั้นเว็บไซต์ Amazon.com ก็ดันไปเตะตาของ Jerry Yang ผู้ก่อตั้ง Yahoo! ที่ ณ ขณะนั้นเป็นเว็บไซต์ Search Engine ที่ให้บริการการค้นหาข้อมูลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีผู้คนเข้ามาใช้งานนับล้านคน โดย Jerry Yang นั้น ได้ติดต่อ Jeff Bezos เพื่อขอนำข้อมูลเว็บไซต์ไปแปะไว้ในหน้าแนะนำเว็บน้องใหม่ ทำให้ในสุดสัปดาห์นั้น Amazon.com มียอดจำหน่ายพุ่งขึ้นเป็น 12,000 เหรียญ หรือประมาณ 3.6 แสนบาท ในทันที

หลังจากนั้นเพียง 30 วัน Amazon.com ก็ได้ลูกค้าเข้ามาจากทั่วประเทศอเมริกา แถมยังมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศกว่าอีก 45 ประเทศอีกด้วย

และผ่านไปเพียง 2 เดือน ยอดขายหนังสือออนไลน์ของ Amazon.com ก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 80,000 เหรียญฯ ต่อเดือน หรือราว ๆ เดือนละ 2 ล้านกว่าบาท

และด้วยความที่มันเติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงผ่านไปแค่ 2 ปีนิด ๆ ในปี 1997 Jeff Bezos ก็ได้นำบริษัท Amazon จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น ซึ่งมูลค่าของหุ้น Amazon นั้นสูงกว่า ร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาในสมัยนั้น อย่าง Barnes and Nobles รวมกันกับ Borders รวมกันซะอีก

และจากการที่ Amazon นั้น เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ Jeff มองเห็นช่องทางในการขยายธุรกิจ ที่จะไม่หยุดอยู่ที่เพียงร้านขายหนังสือออนไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขาจึงค่อย ๆ เพิ่มสินค้าใหม่ ๆ เข้าไปในร้าน จนกลายเป็นเว็บไซต์ everything store ในที่สุดนั่นเอง

หรือมาดูอีกสักตัวอย่างหนึ่งจากกรณีของ eBay แพลตฟอร์มการประมูลสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่พวกเขาเองก็เริ่มต้นจากการประมูลของสะสมอย่างขนม Pez dispenser มีเป็นแท่งที่มีหัวเป็นการ์ตูนแล้วข้างในก็เป็นลูกอม แล้วจากนั้นก็ขยายเป็นตลาดของสะสมอย่าง Beanie babies ที่เป็นตลาดตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ น่ารักกุ๊บกิ๊บ ที่มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ต้องการสะสมเจ้าตุ๊กตาเหล่านี้ แล้วจากนั้น eBay ก็ค่อย ๆ ขยาย กลายเป็นเว็บไซต์ประมูลทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

ซึ่ง ณ วันแรก ๆ ของ eBay ที่เริ่มต้นประมูลแต่ของเล่น ของสะสมนั้น ผู้คนต่างก็ไม่คิดว่าบริษัท eBay จะมีมูลค่าและเติบโตอย่างมหาศาลอย่างเฉกเช่นทุกวันนี้ เพราะตลาดมันเล็กมาก ๆ ถึงมากที่สุด ที่เริ่มจากของสะสม แถมยังเป็นของสะสมในรูปแบบขนมและของเล่นกุ๊บกิ๊บอีกต่างหาก ดูไร้สาระสิ้นดี

ส่วน paypal ระบบชำระเงินออนไลน์ที่ Peter Thiel เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งนั้น เขาก็เริ่มต้นจากตลาดที่เล็กมาก ๆ โดยเริ่มต้นกับผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ของ eBay นี่แหละ ซึ่งเขาเลือกที่จะให้ Power Seller หรือผู้ขายที่มีเครดิต มีความน่าเชื่อถือ และเป็นนักขายมือทองที่มียอดขายสูงกว่าคนอื่น ๆ บน eBay โดยที่ ณ ตอนนั้นมีอยู่ประมาณ 20,000 คน แถมยังมีแต่ขายประมูลขายของที่ดูเหมือนไร้ค่า เป็นเพียงขยะในสายตาผู้อื่น แล้วทำไมผู้อื่นต้องให้คุณค่ากับ paypal กันด้วยล่ะ จริงไหม?

และ paypal จากจุดเริ่มต้นจากผู้ใช้แค่เพียง 20,000 คนที่เป็น Power Seller บน eBay แต่มันขยายขอบเขตผู้ใช้งานไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีผู้ใช้งานนับล้านคน ซึ่ง eBay ก็อดใจมองเห็นการเติบโตของ paypal ไม่ได้ เลยขอเข้ากิจการซะเลย โดยเข้าซื้อไปในราคากว่า 1,500 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 45,000 ล้านบาท ไปในที่สุด

ดังนั้น หากในช่วงแรกเริ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวอร์ชั่นแรก ๆ ได้รับการตอบรับที่ดี และผู้คนในตลาดนั้น ๆ เลือกใช้ผลติภัณฑ์ของคุณสัก 25%-30% ของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ก็ให้คุณเริ่มต้นพัฒนาจากจุดนั้นจนสามารถ Monopoly หรือผูกขาดตลาดนั้นได้

และตัวอย่างที่ทำได้ดีในเรื่องนี้อย่างเช่น Facebook ที่ในเวอร์ชั่นแรกเริ่มใช้ชื่อว่า Facemash ที่เป็นเว็บโหวตรูปสาว ๆ ในมหาวิทยาลัย เปิดตัวในกลุ่มของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย Harvard ที่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ประมาณ 1 หมื่นคน แต่สามารถครองตลาดนี้ได้โดยเริ่มต้นจากศูนย์ไปสู่การมีส่วนแบ่งสูงถึง 60% ภายในระยะเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น! มัน Amazing มาก ๆ และต่อมาก็ได้ขยายฐานไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และได้ปลี่ยนชื่อเป็น Thefacebook.com และตัดเหลือแค่ facebook.com ในภายหลัง จนกระทั่ง Peter Thiel เองก็อดใจไม่ไหว หลังจากที่ Mark Zuckerberg เข้าไปเสนอดีล จน Peter Thiel ก็ได้กลายเป็นนักลงทุนรายแรกของ Facebook ที่เริ่มแรกลงเงินไปเพียง 500,000 ดอลล่าร์ฯ หรือประมาณ 16 ล้านบาท แต่ในปี 2017 Peter Theil ก็ได้ขายหุ้นของ Facebook จำนวน 73% ซึ่งสามารถขายเป็นเงินได้กว่า 29 ล้านเหรียญฯ หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ การลงทุนครั้งนี้ของ Peter Thiel ได้กลับคืนมาไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทนั่นเอง

ซึ่งจากตัวอย่างที่ผ่านมา Peter Thiel ได้บอกว่า มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสถาบันที่สอนการทำธุรกิจส่วนใหญ่ ที่มักไม่ให้ค่ากับบริษัทเหล่านี้ในช่วงเริ่มต้น พวกเขามักดูแคลนบริษัทอย่าง Amazon, eBay, Paypal หรือ Facebook ในช่วงแรกเริ่ม เพราะพวกเขาเริ่มต้นในตลาดที่มีขนาดเล็กมากจนนับได้ว่าแทบไม่มีค่าใด ๆ ในทางการตลาด ซึ่งการดูแคลนนั้นจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อ บริษัทเหล่านี้ ไม่สามารถหาวิธีการทำให้มันเติบโตจากตลาดเล็กไปสู่ตลาดที่ใหญ่ได้ แต่พอดีว่าบริษัทเหล่านี้ สามารถทำให้มันเติบโตแบบก้าวกระโดดได้

ซึ่งสิ่งหนึงที่สามารถสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดที่เหมือน ๆ กันทุกตัวอย่างเลยก็คือ แม้ว่าพวกเขาจะเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ตลาดเล็ก ๆ แต่ก่อนเริ่มต้นนั้น พวกเขามีภาพใหญ่ในใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Amazon.com ที่ได้แรงบันดาลใจจากชื่อแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างลุ่มแม่น้ำอะเมซอน ที่รวมสิ่งมีชีวิตนับสรรพสิ่ง ก็เหมือนกับเว็บไซต์ในปัจจุบันของเขาที่รวมสินค้าไว้นับสรรพสิ่งเช่นกัน

หรืออย่าง eBay ที่แม้ว่าจะเริ่มจากการประมูลเพียงของเล่น ของสะสม แต่ ณ ปัจจุบันกลายเป็น ประมูลทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้

ส่วน paypal ที่แม้ว่าจะเริ่มต้นจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่จ่ายเงินออนไลน์บนเว็บไซต์ eBay ก็กลับกลายเป็นระบบชำระเงินออนไลน์ของคนทั้งโลก

Facebook ที่เริ่มต้นเพียงจากกลุ่มนักศึกษาก็กลับกลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คของคนทั้งโลก

ในขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพหลายเจ้าที่เริ่มต้นจากตลาดที่ใหญ่มาก ๆ มีเม็ดเงินในตลาดอย่างมหาศาล แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ก็มีตัวอย่างให้เห็นถมเถไป แม้ว่าพวกเขาจะมีเงินทุนมากมายมหาศาลก็ตามที

Peter Thiel ได้ยกตัวอย่างบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน โดยขนาดตลาดของพลังงานนั้น มีขนาดใหญ่โตมหาศาลนับล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ซึ่งหากคุณลองจินตนาการดูว่า ในท้องทะเลที่กว้างใหญ่ มีปลาให้จับนับไม่ถ้วน แต่สิ่งที่มีนับไม่ถ้วนเช่นกันนั่นก็คือคู่แข่งที่ลงมาแย่งปลาในทะเลเดียวกันกับคุณ แถมคุณยังไม่รู้อีกด้วยว่า ใครเป็นใคร ใครคือคู่แข่งตัวฉกาจในท้องทะเลที่กว้างใหญ่นั้น

ซึ่งสิ่งที่คุณควรจะทำก็คือ หาบึงเล็ก ๆ ที่มีคุณเพียงคนเดียวที่นั่งจับปลาอยู่ในพื้นที่นั้นโดยไม่มีใครรบกวน

ซึ่งในการทำธุรกิจ คุณจะสังเกตได้ว่า สุดท้ายจะเหลือเจ้าใหญ่ ๆ ที่แข่งขันกันอยู่ แค่ 2-3 เจ้าเท่านั้น ดังนั้น คุณก็คงไม่อยากเป็นบริษัทที่ 4 ในการให้บริการการสื่อสาร, หรือเป็นบริษัทอันดับที่ 10 ในวงการขายเครื่องดื่มน้ำอัดลม หรือคุณก็ไม่อยากจะเป็นร้านขายอาหารอันดับที่ 100 ในพื้นที่ของคุณ ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขขนาดของตลาดร้านอาหารแล้วล่ะก็ มันมีมูลค่านับล้านล้านดอลล่าร์ฯ อยู่แล้ว คุณแค่อาจคิดแค่เพียงว่า ขอให้ฉันมีส่วนแบ่งในตลาดที่ใหญ่ขนาดนี้เพียง 0.0001% ก็รวยเละแล้ว ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นธุรกิจคุณจะอยู่รอดถึงการแบ่งเค้กชิ้นนั้นอย่างยั่งยืนหรือเปล่าล่ะ?

สรุปกันอีกครั้ง เคล็ดลับและวิธีการสร้างบริษัท Monopoly สไตล์ Peter Thiel ก็คือ

  • Step 1 : start small
  • Step 2 : monopolize
  • Step : 3 expand

จากนั้น คุณก็จะสามารถกลายเป็นบริษัท Monopoly ขนาดใหญ่ได้ในที่สุด

ในบทถัดไป Peter Thiel ก็จะมาพูดถึงปัจจัยที่จะทำให้การสร้างบริษัทสตาร์ทอัพแบบ Monopoly ว่ามีปัจจัยที่สำคัญข้อใดอีกบ้าง ที่ส่งผลต่อความสำเร็จ


และหากคุณเริ่มซีเรียสและจริงจังกับการเรียนรู้จากคนที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จอย่างสูง วันนี้คุณสามารถเข้าถึงพรีเมี่ยมคอนเท้นต์ได้แล้วบน Blue O’Clock Academy ใน ซีรี่ย์ Top 10 Mentors : 10 สุดยอดบทเรียนจากมหาเศรษฐีรุ่นพี่สอนว่าที่มหาเศรษฐีรุ่นน้องคนต่อไป โดยคุณสามารถลงทะเบียนได้ในราคาพิเศษตามรายละเอียดที่ลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ – http://bit.ly/top10mentors

Resoruces