Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Artificial intelligenceHow to

วิธีเอาตัวรอดในยุค AI ครองเมือง by Dr. Li Jiang

ถ้าในวันนี้ งานที่ใช้มนุษย์กำลังทำอยู่นั้น มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 30,000 บาท ในขณะที่หากใช้หุ่นยนต์ทำงานชิ้นดังกล่าวงานเดียวกัน กลับมีค่าใช้จ่ายแค่เพียง 6,000 บาท หรือมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าถึง 5 เท่า นั่นหมายถึงว่า AI จะทำให้งานจำนวนมากหายไปในอนาคตอันใกล้นี้

แต่ในขณะที่วิธีการรับข้อมูลของเด็กในยุคนี้นั้น ได้เปลี่ยนไปอย่างมากจากแต่ก่อน ที่พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลทั่วโลกได้เพียงแค่คลิกเดียว แต่พวกผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ กลับยังคงสอนเด็ก ๆ ด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ

โดยในเนื้อหานี้ทาง Dr. Li Jiang เป็นผู้อำนวยการของ Stanford AIRE (AI, Robotics และ Education) เป็นผู้ที่ศึกษา ค้นคว้า และทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของ AI, Robotics และ Education มาเป็นเวลาหลายปี และได้รับรางวัลต่าง ๆ มากอย่างมากมายเกี่ยวกับด้านนวัตกรรม

โดยงานวิจัยที่ทางดอกเตอร์เขาต้องการมุ่งเน้นในปัจจุบันนี้ก็คือ การวิจัยถึงการมาของปัญญาประดิษฐ์ ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาของเราอย่างไรบ้าง และเราจำเป็นที่จะต้องปรับระบบการศึกษาของเราเพื่อรองรับการมาของยุคหุ่นยนต์ ยุคปัญญาประดิษฐ์ แบบเต็มขั้น

โดยดอกเตอร์บอกว่า หลายต่อหลายคนอาจจะกำลังคิดว่า โลกของเรากำลังจะเข้าสู่ยุคของ AI ในเวลาอันใกล้นี้ แต่ดอกเตอร์บอกว่า อันที่จริงแล้วตอนนี้นี่แหละที่เรากำลังอยู่ในยุคของ AI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Chapter 1 – Know AI Thinking

ในโลกของเรานั้น หลายต่อหลายคน ยังคงมีความกลัวเกี่ยวกับการมาของ AI เป็นจำนวนมากอยู่ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาจะปฏิบัติต่อมาหลังจากที่เกิดความกลัวก็คือ

“ก็ในเมื่อสิ่งนี้มันน่ากลัว เราก็ควรจะอยู่ให้ห่างจากพวกนี้เอาไว้จะดีกว่า”

แต่ประเด็นก็คือ ดอกเตอร์บอกว่า เจ้าสิ่งนี้ มันอาจจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดนับตั้งแต่ที่มนุษย์เคยคิดค้นมาในประวัติศาสตร์ทั้งหมดทั้งมวลของมนุษย์โลกเลยก็เป็นได้

ดังนั้น หากคุณไม่ยอมใช้ AI เป็นเครื่องมือ คุณก็จะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่น ๆ ที่พวกเขาเลือกใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยเหลือได้เลย

ดังนั้น ทางดอกเตอร์เขาจึงคิดว่า เรื่องแรกสุดที่จำเป็นที่จะต้องสื่อสารให้กับผู้คนได้รับรู้ก่อนที่จะเนื้อหาไปไกลกว่านี้ก็คือ การสอนผู้คนให้รู้ก่อนเลยว่า เจ้าพวก AI นั้น พวกมันมีวิธีคิดอย่างไร

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเข้าใจว่า AI นั้นมีวิธีคิดอย่างไร คุณก็จะสามารถรับรู้ได้ถึงความแตกต่างระหว่าง AI กับมนุษย์ ได้

โดยในส่วนของความคิดของมนุษย์นั้น ดอกเตอร์บอกว่า มนุษย์จะมีความสามารถในด้าน Innovation หรือในด้านนวัตกรรม ที่สามารถสร้างจาก 0 ให้กลายเป็น 1 ได้ ความหมายก็คือ มนุษย์มีความสามารถในการคิดหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้ ซึ่งนี่คือส่วนที่ AI ยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก และดอกเตอร์ก็บอกว่า เราจะเน้นเนื้อหาในส่วนนี้นี่แหละ ที่มนุษย์เรายังคงความได้เปรียบอยู่

3 important things about AI thinking

1. Know how AI works – คุณจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจก่อนว่า ปัญญาประดิษฐ์นั้น พวกมันทำงานอย่างไร

โดยในช่วงแรกสุดของการพัฒนา AI นั้น ส่วนใหญ่พวกมันเกือบทั้งหมด จะทำงานภายใต้คำสั่งที่มนุษย์เราป้อนอัลกอริทึมเข้าไปในคอมพิวเตอร์ โดยชุดคำสั่งส่วนใหญ่มักจะมีกฎการทำงานที่ตายตัว

และต่อมามนุษย์ก็ได้พัฒนาอัลกอริทึมที่แอดวานซ์มากยิ่งขึ้น อย่างเช่น เทคโนโลยี deep learning และ Reinforcement Learning ที่เป็นอัลกอริทึมสั่งให้ AI เรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูก เฉกเช่นเดียวกับวิธีการที่มนุษย์ใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพื่อค้นหาวิธีการที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยอาศัย ข้อมูล big data ขนาดใหญ่ ที่ในปัจจุบันโลกของเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังมากกว่ายุคใด ๆ ที่สามารถจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล

ดังนั้นมนุษย์เราจึงพยายามที่จะพัฒนา AI เพื่อค้นหา solution หรือวิธีการที่จะได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตามข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะได้คำตอบที่ดีขึ้นตามไปด้วย

2. Know the differnce between AI & Human – และเมื่อคุณรู้แล้วว่า AI นั้นทำงานอย่างไร แล้วนั้น ต่อมาคุณก็สามารถแยกแยะได้ว่า ระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับมนุษย์นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร

โดยทางดอกเตอร์เขาได้ยกตัวอย่างจากงานกลุ่มหนึ่งในด้านของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Structural biology ซึ่งโดยปกติแล้วนักวิทยาศาสตร์ในสาขานี้ จะทำการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของโปรตีน เพราะโปรตีนมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้

โดยโลกทั้งโลกจะมีประเภทของโปรตีนอยู่ประมาณ 100 – 200 ล้านชนิด โดยงานของนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปนั้นก็คือ การระบุโครงสร้างและจำนวนชนิดของโปรตีนต่าง ๆ เอาไว้ แต่ก็สามารถระบุได้จำนวนที่น้อยมาก ๆ เรียกได้ว่า ในปัจจุบันระบุได้น้อยกว่า 1% ของจำนวนโปรตีนทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกใบนี้ซะอีก

ในขณะที่การมาของ AI ที่ชื่อว่า AlphaFold ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากบริษัท DeepMind ที่เป็นผู้พัฒนาเดียวกันกับ AI ที่ชื่อ AlphaGo ที่สามารถเอาชนะเกมกระดานโกะแชมป์โลกไปได้อย่างขาดลอยมาแล้ว

โดยเจ้า AlphaFold นั้น มันใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี แต่กลับประมวลผลความเป็นไปได้ของจำนวนโครงสร้างของโปรตีนที่มีอยู่ทั้งหมดบนโลกใบนี้ได้เกือบหมด ซึ่งพวกเขาก็ได้นำข้อมูลเหล่านี้ที่ AI ทำขึ้นมาใส่ไว้ในฐานข้อมูลที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงทางออนไลน์ได้

ดังนั้นดอกเตอร์จึงบอกว่า งานอะไรที่สามารถมอบหมายให้หุ่นยนต์กับปัญญาประดิษฐ์ทำได้ ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพวกมันไป ส่วนงานที่เหลือนั่นคืองานของมนุษย์ที่เราจะโฟกัสทำมัน

3. Know how to work with AI – และเมื่อคุณผ่านสองข้อแรกมาแล้ว ทีนี้ คุณจะมีความสามารถที่จะทำงานร่วมกับ AI ได้ เพื่อให้ AI ช่วยให้คุณทำงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง

โดยสิ่งมนุษย์สามารถทำได้ดีกว่าเครื่องจักรนั้น ก็คือการคิดจาก 0 ให้เป็น 1 คือการสร้างในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้ เพราะ AI นั้น โดยพื้นฐานแล้ว มันจะต้องมีข้อมูลป้อนเข้าไปก่อนจึงจะสามารถประมวลผลได้

ดังนั้น สิ่งที่เราควรปลูกฝังกับเด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ก็คือ การสร้างไอเดียและนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยใช้ AI ช่วยในการทำงานต่าง ๆ ที่พวกมันสามารถช่วยมนุษย์เราประหยัดเวลาได้เป็นอย่างมาก

Chapter 2 – How Do We Invent New Thing?

วิธีการสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่

โดยดอกเตอร์บอกว่า การสอนให้คนมีความคิดสร้างสรรค์นั้น มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสอนกันได้ยาก ถึงขนาดที่บางคนบอกว่า เรื่องของ creativity นั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสอนกันได้

จนกระทั่งความคิดนี้ก็เปลี่ยนไป โดยเมื่อทางมหาวิทยาลัย Standford ได้คิดค้นกระบวนการที่เรียกว่า Design Thinking ที่สามารถใช้วิธีการนี้ในการสอนวิธีการสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อย่างเป็นระบบ

โดยในปัจจุบันทาง Stanford ก็ได้ใช้วิธีการสอนแบบ Design Thinking เป็นหลักให้แก่ผู้ศึกษา แต่ต้องบอกก่อนว่า ทาง Standford ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องสอนให้คุณมีไอเดียหรือความคิดในการสร้างนวัตกรรมในระดับสูงเฉกเช่นเดียวกับพวก Steve Jobs ไม่ก็ Elon Musk

แต่อย่างน้อยดอกเตอร์บอกว่า ด้วยวิธีการคิดแบบ Design Thinking นั้น จะช่วยให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าตัวคุณคนเดิมอย่างแน่นอน และใคร ๆ ก็สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ได้

โดย Design Thinking จะประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้ก็คือ

Step 1 – Empathize คือการเอาใจใส่

โดยขั้นแรกสุดคุณจะต้องเข้าใจก่อนว่า คุณจะประดิษฐ์นวัตกรรมเหล่านี้ไปเพื่อใคร เพื่อพ่อแม่ หรือเพื่อนักเรียนนักศึกษา

เพราะคุณจะต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ที่จะกลายมาเป็นผู้ใช้งานของนวัตกรรมดังกล่าว และให้ทำความเข้าใจ เอาใจใส่ในรายละเอียดทุก ๆ ส่วนของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในส่วนของ Emotion หรือในด้านอารมณ์ของพวกเขาเหล่านั้น

Step 2 – Define ระบุปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยคนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วยคำถามที่ผิด ซึ่งมันจะพาไปในเส้นทางที่ผิด ดังนั้น คุณจึงจำเป็นที่จะต้องระบุปัญหาที่ถูกต้อง ให้ชัดเจน แจ่มแจ้งเสียก่อน ก่อนที่จะไปขั้นต่อไป

Step 3 – Ideation กระบวนการความคิด

ในขั้นตอนนี้ จะเป็นการ brainstorm เพื่อระดมสมองหาไอเดียต่าง ๆ ที่หลากหลายออกมา เพื่อจะนำไปสู่กระบวนการที่ได้รับ feedback หรือคำติชมจากผู้ใช้งานจริง จากไอเดียที่คิดขึ้นมาได้

Step 4 – Prototype ตัวต้นแบบ

จากนั้นก็ให้นำไอเดียที่คิดว่าใช่ นำไปทำเป็นตัวต้นแบบ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง

Step 5 – Test ทดสอบ

จากนั้นให้นำตัว prototype หรือตัวต้นแบบนำไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริง ๆ เพื่อรับ feedback ซึ่งมันอาจจะเป็นคำชมไปในทางที่ดีหรือในทางที่แย่ก็ได้เช่นกัน

ซึ่งถ้าได้รับผลตอบรับที่แย่ เราก็แค่ทำการ Redesign หรือทำการนำไปออกแบบใหม่ แล้วนำมาทดสอบใหม่ซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งมันจะทำให้คุณ ได้สิ่งที่ประดิษฐ์ที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนำ feedback ไปปรับปรุงในกระบวนการ

มันก็คล้ายกับตอนที่คุณกำลังอ่านหนังสืออยู่ โดยการอ่านในครั้งแรก ๆ นั้น คุณจะไม่สามารถจำหรือประมวลเนื้อหาทั้งหมดได้อย่างถ่องแท้ แต่ถ้าคุณทำการอ่านซ้ำ ๆ และเข้าอกเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ได้

โดยทางดอกเตอร์ เขาก็ได้ทำการยกตัวอย่างจากคลาสเรียนในชั้นหนึ่งที่ Stanford

โดยโปรเจคนี้มีจุดประสงค์ในการหา Incubator ที่ดี หรือที่เราเรียกว่าตู้อบสำหรับเด็กทารกแรกเกิด และเพิ่มปริมาณตู้อบในประเทศเนปาลให้เยอะขึ้น

ซึ่งหลายคนในตอนเริ่มต้นโครงการนี้ ก็มักจะบอกว่า งั้นเราก็มาเริ่มออกแบบกันในสหรัฐฯ นี้เลย แต่ทางดอกเตอร์ก็เสนอว่า ถ้าเราจะออกแบบอะไรสักอย่าง เราควรมี Empathize มีความเอาใจใส่ในการออกแบบ ดังนั้น ถ้าให้ดี เราควรมุ่งสู่ประเทศเนปาล ลงพื้นที่จริง ไปเลย เพราะถ้าคุณจะออกแบบนวัตกรรมเหล่านี้ให้กับเนปาล แต่ไม่เคยไปเนปาลเลย มันก็จะดูแปลก ๆ อยู่เหมือนกัน

และในทันใดนั้น ดอกเตอร์กับเหล่าบรรดานักเรียนในคลาส ก็พากันบินตรงไปยังประเทศเนปาล มุ่งสู่หุบเขา และทันทีที่ได้เข้าไปสำรวจยังศูนย์การแพทย์ของที่นั่น พวกเขากลับพบว่า มีเครื่อง Incubator ราคาแพง อยู่เป็นจำนวนมาก

นั่นแสดงว่า จุดประสงค์แรกที่พวกเขาต้องการที่เพิ่มจำนวนตู้อบเข้ามาในประเทศนี้นั้น เป็นการระบุปัญหาที่ผิด เพราะพวกเขาไม่ได้ขาดแคลนตู้อบ แต่พวกเขาไม่รู้วิธีการใช้งานตู้พวกนี้ต่างหาก

ดังนั้น เหล่าบรรดานักเรียนในคลาสจึงจำเป็นที่จะต้องทำการ Redefine เพื่อระบุปัญหาใหม่ขึ้นมา โดยพวกเขาก็ได้ทำการเข้าไปสอบถาม พูดคุยกับผู้คน ภายในหมู่บ้านนั้น จึงได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริง ๆ ก็คือ การมีตู้อบเอาไว้ใช้ภายในบ้านเรือน ไม่ใช่ที่ศูนย์การแพทย์ และต้องการในราคาที่ถูก ในราคาที่เอื้อมถึงด้วย

และเมื่อพวกเขา สามารถระบุปัญหาใหม่ที่ชัดเจน แจ่มแจ้งได้แล้วนั้น พวกเขาก็เริ่มดำเนินการสร้างเจ้าเครื่อง Incubator ในราคาที่แสนถูกออกมา ในราคาเพียง $25 หรือประมาณ 8 ร้อยกว่าบาทเท่านั้น

ซึ่งโปรเจคดังกล่าว ก็สามารถลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี

และนี่คือสิ่งที่ทางดอกเตอร์พยายามจะสื่อจากตัวอย่างนี้ว่า ถ้าเราระบุปัญหาที่ผิดในตอนแรก และเราใช้กระบวนการ Design Thinking ในการช่วยออกแบบกระบวนการคิด เพื่อช่วยระบุปัญหาใหม่ที่ถูกต้อง ทำให้พวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องได้ในที่สุด

Chapter 3 – Let Students Use ChatGPT

ดอกเตอร์บอกว่า ถ้าให้พูดถึง AI ที่น่าสนใจในตอนนี้ก็คงจะเป็นเจ้า ChatGPT ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่น่าทึ่งมากสำหรับคนทั่วไป ที่ตัวมันสามารถคุยกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก ซึ่งสิ่งที่มันสามารถทำได้นั้น ไม่ใช่แค่เพียงการพูดคุยผ่านตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว เพราะมันยังสามารถเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ โค้ดโปรแกรมต่าง ๆ ได้ดีมากอีกด้วย

ซึ่งถ้าจะให้พูดก็คือ เจ้า ChatGPT ดูเหมือนมันจะฉลาดกว่ามนุษย์เราอีกหลายต่อหลายคนในโลกนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และการมาของเจ้า ChatGPT นั้น มันจะมาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของมนุษย์เราอย่างแน่นอน

ซึ่งในตอนนี้ก็เริ่มมีเด็ก ๆ หลายคนใช้เจ้า ChatGPT ในการช่วยเขียนเรียงความและทำการบ้านให้กับพวกเขา

ดังนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนแล้วว่า จะเอายังไงต่อดี

แต่ส่วนตัวของดอกเตอร์นั้น เขาไม่ปิดกั้น ตรงกันข้ามซะด้วยซ้ำ ที่ทางดอกเตอร์กลับให้โจทย์การบ้านแก่นักเรียนว่า ให้ทุกคนกลับไปเขียนเรียงความ โดยใช้เจ้า ChatGPT ในการช่วยเขียนด้วยซะเลย ใครไม่ใช้ถือว่าผิดวัตถุประสงค์

ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากส่งการบ้านชิ้นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนก็คือ การถามไถ่นักเรียนแต่ละคนว่า พวกเขามีวิธีการใช้งานมันอย่างไร และพวกเขารู้สึกอย่างไรบ้างในการใช้งานเจ้า ChatGPT เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ AI ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนที่เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

โดยทางดอกเตอร์ก็บอกว่า เจ้าเทคโนโลยี AI นี้ คุณไม่สามารถทำเมินเฉยหรือเพิกเฉยมันได้ คุณจะไม่สามารถหลบและหลีกเลี่ยงมันไปได้ มันมาแน่

มันก็เหมือนกับสายน้ำ คุณไม่สามารถปิดกั้นมันได้ แต่คุณสามารถลื่นไหลไปกับมันได้

เพราะการศึกษาสำหรับดอกเตอร์นั้น เขาบอกว่ามันคือสิ่งสำคัญที่มนุษย์เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้อยู่เสมอ และเขาก็จะพยายามค้นหาคำตอบว่า การศึกษาในอุดมคติที่ดีนั้น มันคืออะไร ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่เขาทำไปนั้นก็เพื่ออนาคตของลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเรา ในยุคของ AI

Resources