Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

6 เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจลาออก แม้ในภาวะวิกฤต | Blue O’Clock x Beyond Training

ในช่วงเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส คนทำงานหลายคนอาจจะกำลังตกอยู่ในสถานะที่เหมือน “หลังพิงฝา” ที่ต้องพยายามสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองเพื่อเลี้ยงชีพในช่วงเวลาหลังจากนี้ แต่หากว่ากันด้วยเรื่องของการทำงานในองค์กร บางคนก็มีความสุขดีกับชีวิตการทำงาน บางคนก็รู้สึกเฉย ๆ หรือแอบไม่สบายใจในบางเรื่องอยู่บ้างแต่พอทนไหว แต่เชื่อว่ายังมีหลายคนที่รู้สึกเหมือน “ฟางเส้นสุดท้ายได้ขาดลง” หรือไม่สามารถอดทนกับชีวิตการทำงานในตอนนี้ได้อีกต่อไปแล้ว 

โดยในคอนเท้นต์นี้ทางอาจารย์บี จาก Beyond Training ได้นำเสนอบทความที่น่าสนใจจาก ​​เว็บไซต์ bamboohr.com ในหัวข้อ Top 6 Reasons Why Employees Leave Their Jobs ที่ว่ากันด้วยเรื่องของ 6 เหตุผลที่ทำให้พนักงานไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้นำองค์กร และทีม HRD (Human Resource Development) ที่จะได้รู้ถึงปัญหาการทำงานในองค์กรปัจจุบัน และพร้อมแก้ไขเพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์กรทั้งในด้านโครงสร้างและบุคลากร 

เหตุผลที่ 1 Bad Manager : มีหัวหน้าห่วยแตก

การเป็นหัวหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่ส่งให้กับลูกทีมโดยตรง จากรายงานของ BambooHR Bad Boss Index ได้ทำการสำรวจพบว่าจำนวนกว่า 44 % ของผู้ที่ลาออก สาเหตุมาจากการได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากหัวหน้างาน

ซึ่งผู้นำองค์กรที่ดี ควรลงมาตรวจสอบและจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างประสิทธิภาพของบทบาทหัวหน้างานให้ดียิ่งขึ้น หากพบว่า เหตุผลส่วนใหญ่ในการลาออกของพนักงานมาจากหัวหน้างาน จะต้องรีบแก้ไขให้ไวที่สุด เพื่อรักษาบรรยากาศการทำงานที่ดีในองค์กรเอาไว้

เหตุผลที่ 2 Burnout  : ภาวะหมดไฟในการทำงาน

การปลูกฝังให้พนักงานทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อองค์กร ถือเป็นเรื่องที่ดีในแง่มุมของการมี Entrepreneurship mindset หรือทัศนคติของการเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่การที่จะทำแบบนั้นได้ดีก็จำเป็นที่จะต้องมีการดูแลพนักงานอย่างจริงใจด้วย เช่น จัดกิจกรรมคลายเครียด, กิจกรรมมอบรางวัลประจำปี หรือมีวันหยุดพิเศษ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้พนักงานเกิดภาวะที่เรียกว่า Burnout หรือ หมดไฟในการทำงาน ซึ่งจากผลการวิจัยของ Gallup ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์และที่ปรึกษาของอเมริกาพบว่า พนักงานจำนวนกว่า 23% รู้สึกหมดไฟในการทำงานบ่อยครั้งมาก และอีกจำนวนกว่า 44% รู้สึกหมดไฟเป็นบางครั้ง ซึ่งพนักงานที่เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) มีแนวโน้มจะหางานใหม่มากกว่าการอดทนอยู่ที่เดิม 

เหตุผลที่ 3 NO Recognition  : ไม่ได้รับการ “ยอมรับ”

หากคุณเป็นผู้นำองค์กรหรือหัวหน้างาน ลองสังเกตตัวเองดูว่า “ครั้งสุดท้ายที่คุณกล่าวขอบคุณพนักงาน” คือเมื่อไหร่? ถ้าคุณจำไม่ได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังละเลยพนักงานของคุณ จนเขารู้สึกว่า ตัวเขาไม่เป็นที่ยอมรับของหัวหน้า ซึ่งจากข้อมูลของ 15Five ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การจัดการของ Manager มีประสิทธิภาพสูงต่อการบริหารพนักงาน มีรายงานว่า การรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานลาออกอยู่ในเปอร์เซนต์ที่สูงมาก เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าตนนั้นไม่มีคุณค่า หรือผลงานของพวกเขาไม่ได้ส่งผลเชิงบวกต่อองค์กรมากเท่าที่ควร พวกเขาจึงตัดสินใจลาออก ฉะนั้นแล้ว ผู้นำองค์กรควรทำให้ให้ลูกทีมแน่ใจว่า พวกเขารับรู้ว่าตนมีคุณค่า และคอยชื่นชมในผลงานที่พวกเขาทำ 

เหตุผลที่ 4 Workplace Loneliness : รู้สึกโดดเดี่ยว ในที่ทำงาน 

คนเรานั้นปกติแล้วจะใช้เวลามากถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กับชีวิตในการทำงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก หากเทียบกับช่วงเวลาอื่นของชีวิต ฉะนั้นแล้ว การสร้างมิตรภาพที่ดีกับเพื่อร่วมงาน จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้มีชีวิตการทำงานที่มีความสุขมากยิ่งขึ้นได้ แต่แน่นอนว่า เรื่องการสร้างความสัมพันธ์ไม่ใช่ทุกคนที่จะถนัด ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรหรือทีม HR ที่จะหากิจกรรมเพื่อสร้างให้พนักงานเกิดความรักหรือความกลมเกลียวกันในองค์กร 

เหตุผลที่ 5 Wrong Culture Fit : ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้

วัฒนธรรมองค์กร เป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านโครงสร้างและบุคลากร บางองค์กรเกิดสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาการของพนักงาน หรือทำให้พนักงานรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องอยู่ในองค์กรนั้น ๆ ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างทีม HRD : Human Resource Development ที่จะต้องจัดประชุมกันเพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งถ้าหากประเมินแล้วว่าวัฒนธรรรมองค์กรกำลังส่งผลกระทบเชิงลบต่อพนักงานส่วนใหญ่ ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องรีบแก้ไข 

หรือบางครั้งปัญหาก็อาจไม่ได้อยู่ที่วัฒนธรรมองค์กร แต่อาจมีพนักงานส่วนน้อยที่รู้สึกว่า ไม่สบายใจกับการทำงานในองค์กร ซึ่งวิธีแก้ไขจะไปอยู่ในช่วงของกระบวนการสัมภาษณ์ ที่ผู้สัมภาษณ์ต้องมีกระบวนคัดเลือกพนักงานที่ดี หาคนที่เหมาะสมกับองค์กรตนเอง เพื่อลดปัญหาการลาออกของพนักงาน 

เหตุผลที่ 6 Growth Opportunities : โอกาสในการเติบโต

ข้อสุดท้าย เป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนควรต้องเดินออกมาหากรู้ว่า ตนนั้นจะไม่มีโอกาสเติบโตในองค์กร ซึ่งเรื่องของการเติบโตนั้นเป็นหน้าที่ของทั้งทางพนักงานและผู้นำองค์กร จะต้องสื่อสารกันอยู่เป็นประจำ เพื่อวางแผนการเติบโตในการทำงานของพนักงาน รวมถึงทีม HRD :Human Resource Development ที่ต้องวางแผนฝึกอบรม และพัฒนาศักยภาพของพนักงานเป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า และความภาคภูมิใจ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ จนสามารถเลื่อนไปยังตำแหน่งที่สูงกว่าได้

ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้น หากมองในมุมขององค์กร การที่จะหาพนักงานใหม่ที่กว่าจะปรับตัวให้สามารถทำงานเป็นอย่างดีได้นั้น มันต้องใช้เวลาเยอะและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้น หากมีพนักงานลาออก ทางบริษัทจึงควรเสียสละเวลาสักนิดเพื่อสัมภาษณ์และหาสาเหตุว่า พวกเขาลาออกเป็นเพราะเหตุใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงในองค์กร ก่อนที่คนจะพากันลาออกหมด ดังนั้น ในมุมขององค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่และดึงดูดเหล่าบรรดาคนทำงานฝีมือดีให้พวกเขาอยากเข้ามาร่วมทำงานด้วยอยู่เสมอ

และในส่วนมุมมองของคนทำงาน หากเชื่อว่าตนเองนั้นมีฝีมือดี ทำงานเก่ง พวกเขาก็อยากที่จะอยู่กับองค์กรที่ดี ที่คอยสนับสนุนผลงานของพวกเขาให้เป็นที่ประจักษ์ และมีพื้นที่ให้พวกเขาแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ ก็จะแฮปปี้ทั้งคนทำงานและองค์กรเติบโตไปพร้อมกัน

 และนี่ก็คือข้อมูลดี ๆ จากอาจารย์บี แห่ง Beyond Training ที่มาแชร์ความรู้ในการบริหารผู้คนในองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

Resources